กพร.ลดเวลาขอใบอนุญาต50%

กพร.ลดเวลาขอใบอนุญาต50%

ตั้งเป้าอันดับ Ease of Doing Business ปี 2563 ให้สูงกว่าอันดับ 27 ลดเวลาขอใบอนุญาต 30-50% เร่งแก้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจรวมภายใต้หน่วยงานเดียว เล็งชง ครม.เลิกเก็บค่ำธรรมเนียมที่ต่ำกว่า 100 บาท

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับทีมวิจัยจากธนาคารโลกเพื่อประกอบการจัดเก็บข้อมูลในการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ว่า รายงาน Ease of Doing Business ประจำปี 2562 เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2561 ไทยอยู่อันดับ 27 จาก 190 ประเทศทั่วโลก ด้วยคะแนน 78.45 เพิ่มขึ้น 1.06 คะแนน แต่อันดับลดลง 1 อันดับ แต่รายงาน Ease of Doing Business ปี 2563 ได้ตั้งเป้าจะรักษาอันดับไม่ให้ต่ำกว่าอันดับ 27 และอยู่ในกรอบไม่เกินอันดับที่ 30 แต่คะแนนที่ได้จะต้องดีขึ้น

“ที่ผ่านมาประเทศต่างๆ พยายามปรับปรุงระเบียบให้อันดับดีขึ้น ซึ่งแม้ว่าไทยจะพยายามปรับปรุงทุกด้าน แต่มีบางประเทศที่ทำคะแนนได้ดีกว่า แต่จะพยายามให้อันดับสูงขึ้นกว่าอันดับ 27 ซึ่งการปรับปรุงทุกด้านจะช่วยให้ระบบการดำเนินงานภาครัฐเข้มแข็งขึ้น ส่งผลให้ต่างชาติสนใจเข้ามาทำธุรกิจในไทยมากขึ้น”

กพร.ลดเวลาขอใบอนุญาต50%

นอกจากนี้ จะพยายามลดระยะเวลาการดำเนินงานในการออกใบอนุญาตลง 30-50% โดยปัจจุบันใช้เวลาเริ่มต้นธุรกิจที่ 15 วัน ซึ่งการลดเวลาและขั้นตอนขออนุญาตจะทำให้ภาคเอกชนตั้งกิจการได้ง่ายขึ้น และมีค่าใช้จ่ายลดลง โดยในอาเซียนประเทศที่ได้อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ และอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ส่วนมาเลเซียอยู่อันดับ15 ของโลก และไทยอันดับ 27 ของโลก

เร่งกฎหมายหลักประกันธุรกิจ

นายปกรณ์ กล่าวว่า สิ่งที่ยากลำบากในการปรับเปลี่ยนของไทยเป็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่ต้องนำทรัพย์สินต่างๆ เช่น การจำนำ การจำนองที่ดิน การค้ำประกัน การจำนองเครื่องจักร การจำนองเรือ

ทั้งนี้ ต้องปรับให้อยู่ใต้ระบบและหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันกระจายหลายหน่วยงาน เช่น การจำนองที่ดิน อยู่ภายใต้กฎหมายที่ดิน การจำนองเครื่องจักรอยู่ภายใต้กฎหมายโรงงาน โดยจะทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานที่ต้องข้ามหลายกระทรวง รวมทั้งทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบ เพราะกว่าที่จะดำเนินคดีสิ้นสุด ใช้เวลา 7-10 ปี ทำให้ราคาทรัพย์สินด้อยค่าลง ลูกหนี้ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น

ชงลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

นอกจากนี้ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลหน้าให้ยกเว้นการจักเก็บค่าอออกใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมที่มีมูลค่าต่ำกว่า 100 บาท เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน รวมทั้งในอนาคตจะช่วยลดการออกใบอนุญาตลงได้ ซึ่งถือว่าคุ้มค่าเพราะภารกิจหลักภาครัฐจะต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชน แม้ว่าต้องสูญเสียรายได้ไปบ้างแต่อยู่หลักพันล้านบาท

สำหรับ สิ่งที่ไทยได้ปฏิรูปเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ 10 ด้าน ได้แก่ 1.การเริ่มต้นธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้นักธุรกิจและประชาชนทั่วไปสามารถใช้ระบบ e-Registration โดยสามารถจดทะเบียนนิติบุคคล ขึ้นทะเบียนนายจ้าง ลูกจ้าง และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในขั้นตอนเดียว

2.การขออนุญาตก่อสร้าง มีการพัฒนาระบบการบริการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างและขอใบรับรองการก่อสร้างทางอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมแบ่งประเภทความเสี่ยงอาคารให้มีความชัดเจน

เล็ดลดค่าใช้จ่ายขอใช้ไฟฟ้า

3.การขอใช้ไฟฟ้า มีการพัฒนาปรับปรุงอัตราค่าบริการต่างๆ ให้ลดลง พัฒนาระบบให้สะดวกมากขึ้น โดยใช้การค้ำประกันจากธนาคาร โดยปีถัดไปจะปรับปรุงระเบียบการขอใช้ไฟฟ้า จากเดิม 77,050 บาท เป็น 2,500 บาท โดยยกเลิกขั้นตอนการตรวจสอบภายใน

4.การจดทะเบียนทรัพย์สิน จาก LandsMaps Application ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแปลงที่ดิน ได้มีการขยาย การเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้กับสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ และขยายการทับซ้อนข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินและผังเมืองทั่วประเทศ จัดทำระแบบ Service Zoning ในการตรวจสอบว่าที่ดินใดมีรายชื่อเจ้าของ ข้อมูลการติดต่ออย่างไรบ้าง ตามความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน
5.การได้รับสินเชื่อ มีการทบทวนความเหมาะสมของหลักเกณฑ์การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี และพัฒนาเชื่อมโยงข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจรวมทั้งพัฒนาฐานข้อมูลลูกหนี้ และแพลตฟอร์มเพื่อใช้ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินร่วมกัน

เพิ่มคุ้มครองผู้ถือหุ้นข้างน้อย

6.การคุ้มครองนักลงทุนเสียงข้างน้อย จะแก้ไขประมวลแพ่งและพาณิชย์ เพื่อลดสัดส่วนผู้ถือหุ้น ที่ให้สิทธิเรียกประชุมวิสามัญจาก 20% เหลือ 10% และใช้สิทธิเสนอวาระในการประชุมผู้ถือหุ้นเหลือ 5% เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งแก้ไข พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 โดยมีการส่งเอกสารผ่าน e-Delivery และเพิ่มช่องทางให้ผู้ถือหุ้นมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

7.การชำระภาษี ได้มีการปรับปรุงแบบ ภ.ง.ด. 50 ลดระยะเวลาในการกรอกภาษี และพัฒนาระบบ e-Payment หรือ e-Services ให้สำนักบัญชีสามารถชำระเงินสมทบได้หลายสถานประกอบการ โดยใช้บัญชีเดียว และพัฒนาระบบ e-Service ให้สามารถชำระเงินสมทบผ่าน e-Payment ได้ทั้งกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน

ใช้บล็อกเชน-เอไอบังคับคดี

8. การค้าระหว่างประเทศ กรมศุลกากรได้พัฒนาระบบ National Single Window เพื่อลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเตรียมเอกสาร ด้วยวิธีการ Risk-based Management ทั้งยังพิมพ์ใบเสร็จรับเงินด้วยตนเองครบถ้วน 100% ในส่วนของ e-payment พบว่า ระยะเวลาลดลง 3 ชั่วโมงต่อ 1 ธุรกรรม และลดค่าใช้จ่าย 433 บาทต่อ 1 ธุรกรรม

9.การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง ได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงานเพื่อลดระยะเวลาขั้นต่างๆ และมีระบบ Paperless ในการนำมาใช้ยึดทรัพย์สิน การซื้อขายทรัพย์สิน การจัดทำเอกสารและสัญญาผ่านบล็อกเชนและ AI เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ซื้อ

10.การแก้ปัญหาการล้มละลาย ได้มีการแก้ไขกฎหมาย และการนำระบบ e-Insolvency Case Management System มาใช้กับการทำงานในสำนวนกลางไม่มีทรัพย์