“เทเลนอร์"ชี้ดิจิทัลอัดฉีดเงินเข้าศก.ไทยทะลุ 7 แสนล้านดอลลาร์

“เทเลนอร์"ชี้ดิจิทัลอัดฉีดเงินเข้าศก.ไทยทะลุ 7 แสนล้านดอลลาร์

ชี้บริการด้านโทรคมช่วยผลักดันเศรษฐกิจเอเชียโต 75% ปักธงลงทุนเอเชียต่อเนื่อง

“เทเลนอร์” เผยดิจิทัลอัดฉีดเม็ดเงินในเศรษฐกิจไทยทะลุ 7 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษ ชี้บริการด้านโทรคมช่วยผลักดันเศรษฐกิจเอเชียโต 75% ปักธงลงทุนเอเชียต่อเนื่อง ด้านซีอีโอดีแทค ระบุไลเซ่นส์คลื่น 700 กสทช.ควรออกโรดแมพคลื่นก่อนจัดสรรให้เอกชน ชี้ยังไม่ได้สรุปรับหรือไม่ ยันหากราคาที่ประกาศวันนี้ (14 พ.ค.) สูงหรือต่ำกว่าที่คาดอาจต้องเรียกประชุมบอร์ดพิจารณา

ประเด็นการรับไลเซ่นส์คลื่น 700 เมกะเฮิรตช์ ยังอยู่ในความสนใจหลังค่ายมือถือยื่นใช้สิทธิ์ยืดหนี้คลื่น 900 และทั้ง 3 รายไม่มีใครระบุแน่ชัดว่าจะรับไลเซ่นส์คลื่น700หรือไม่ โดยเฉพาะดีแทคที่ล่าสุดซีอีโอออกมาย้ำว่า ไม่ว่าราคาไลเซ่นส์ที่ กสทช คาดว่าจะประกาศในวันนี้ จะสูงหรือต่ำกว่าที่คาด เรื่องต้องถึงบอร์ดก่อนตัดสินใจ ขณะที่ เทเลนอร์ บริษัทแม่เผยผลวิจัยบริการด้านโทรคมในยุคดิจิิทัลอัดฉีดเม็ดเงินในเศรษฐกิจเอเชียไม่น้อย เฉพาะในไทยรอบทศวรรษที่ผ่านมาสูงถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ 

นายเจมส์ แอลลัน ผู้อำนวยการบริษัทวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ฟรอนเทียร์ อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า จากผลการศึกษาซึ่งครอบคลุม 5 ประเทศที่ เทเลนอร์ กรุ๊ป ดำเนินกิจการในเอเชีย ได้แก่ บังคลาเทศ ปากีสถาน เมียนมา มาเลเชีย และไทย พบว่า บริการด้านโทรคมนาคมถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางธุรกิจ สร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างตลาดใหม่ ซึ่งผลักดันให้เศรษฐกิจมวลรวมของเอเชียเติบโตถึงปีละ 6-12%

ดิจิทัลหนุนศก.เอเชียโต 75%

โดยสะท้อนถึงผลจากการลงทุนของ เทเลนอร์ กรุ๊ป ในภูมิภาคเอเชีย และบริการด้านโทรคมนาคมที่ช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมเอเชียขยายตัวถึง 75% นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า ภาคการเงิน ธุรกิจค้าปลีก การศึกษา สาธารณสุข และการขนส่ง เป็นธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอย่างเข้มข้น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตกว่าอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม

ทั้งนี้ มูลค่าเศรษฐกิจไทย ที่เกี่ยวเนื่องจากบริการสื่อสารได้เติบโตจาก 4 แสนล้านดอลลาร์เป็น 7 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือระหว่างปี 2548-2558 และในตลาดไทยภาคการเงินมีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารเป็นพื้นฐานในการให้บริการผลิตภัณฑ์ และบริการอื่นๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชำระผ่านช่องทางดิจิทัลหรือ ดิจิทัล เพยเม้นท์ หรือบริการพร้อมเพย์ที่เติบโตเกือบ 100% จาก 33% ในปี 2557 เป็น 62% ในปี 2560 ขณะที่อัตราการเติบโตของผู้ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลโตขึ้นจาก 1% เป็น 8% ในเวลาเดียวกัน

ส่วนภาคการเกษตร เริ่มใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมประสิทธิภาพในการเพาะปลูก เนื่องจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพทางการเกษตรที่ดี สะท้อนได้จากจีดีพีภาคการเกษตรที่เหลือเพียง 10% จากอดีตที่มีสัดส่วนสูงถึง 32% ซึ่งดีแทค หนึ่งในผู้ให้บริการสื่อสารรายใหญ่ของไทยได้ริเริ่มโครงการ “ดีแทคสมาร์ทฟาร์มเมอร์” เพื่อให้บริการข้อมูลทางการเกษตรแก่เกษตรกร ซึ่งมุ่งหวังในการเพิ่มประสิทธิภาพในการกษตรผ่านการบริการทางด้านข้อมูล

ไอโอที-5จี-เอไอปัจจัยบวก

นายฮากุน บรัวเซ็ท เชิร์ล ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานพันธมิตรและสัมพันธ์องค์กร เทเลนอร์กรุ๊ป เอเชีย กล่าวว่า ปัจจุบัน เทเลนอร์กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียมาแล้วกว่า 20 ปี มีผู้ใช้บริการรวมกันกว่า 166 ล้านคนใน 5 ประเทศดังกล่าว ซึ่งระหว่างปี 2557-2560 เทเลนอร์กรุ๊ปลงทุนในภูมิภาคเอเชียทั้ง 5 ประเทศเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,200 ล้านดอลลาร์ หรือ 2 แสนล้านบาท แม้กว่า 20 ปีที่ผ่านมา เทเลนอร์กรุ๊ปได้นำมาซึ่งความก้าวหน้าต่างๆ มายังภูมิภาคเอเชีย แต่การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจยังไม่เต็มศัยภาพ ดังนั้น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มประสิทธิภาพ ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐบาล ภาคธุรกิจและประชาสังคมจึงความสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโลกดิจิทัลในอนาคต โดยมี3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจสำคัญคือ ไอโอที 5จี และ เอไอ

ซีอีโอดีแทคชี้ยังไม่สรุปรับไลเซ่นส์

ขณะที่ นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า นวัตกรรม และการลงทุนของผู้ให้บริการมือถือได้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย ซึ่งดีแทคยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ ในสังคมให้เข้าถึงบริการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเข้ามาของยุค 5จี ในอนาคต ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอนาคตอันใกล้

สำหรับกรณีที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะแถลงข่าวเกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์เงื่อนไขและการอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะประกอบไปด้วย ราคาการจัดสรร ระยะเวลาการชำระเงิน และรายละเอียดเกี่ยวกับการขยายโครงข่ายในเวลา 13.00 น.

ซีอีโอดีแทค ระบุว่า เรื่องราคาเป็นปัจจัยสำคัญที่ดีแทคจำเป็นต้องนำมาพิจารณา ซึ่งจากกระแสข่าวลือที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าราคาต่อใบอนุญาตจะขึ้นไปอยู่ที่ 25,000-27,000 ล้านบาท ดีแทคยังขอไม่ระบุว่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทเข้ารับการจัดสรรหรือไม่ เพราะสิ่งที่ดีแทคให้ความสำคัญมากที่สุดคือการทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (สเปคตรัม โรดแมป) ซึ่งหากยังไม่มีสำนักงานกสทช.ก็ยังไม่ควรเปิดให้มีการจัดสรรความถี่เพราะทำให้เอกชนมีการวางแผนการลงทุนที่ลำบาก และอีกประการคือ กว่าที่ผู้รับการจัดสรรคลื่น 700 จะได้ใช้งานก็ปลายปี 2563 ดังนั้น จึงไม่เห็นเหตุผลที่จะเร่งรัดในขณะนี้แต่อย่างไร