ขยายผลแก้มลิงรับน้ำหลาก-แก้อุทกภัย

ขยายผลแก้มลิงรับน้ำหลาก-แก้อุทกภัย

"อธิบดีกรมชลฯ" ขยายผลแก้มลิงรับน้ำหลากแก้อุทกภัยครอบคลุม ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำปราจีน-บางปะกง รับมือฤดูฝนนี้

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าช่วงฤดูแล้งนี้ พื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้ใช้น้ำไป 9 พันล้านลบ.ม.จากแผนจัดสรรน้ำ 8 พันล้านลบ.ม. ถือว่าเกินกว่าแผนที่วางไว้ไม่มากนักซึ่งต้องขอขอบคุณเกษตรกรที่ให้ความร่วมมืองดทำนาปรังต่อเนื่อง(นารอบที่ 3) ยังมีน้ำคงเหลือที่จะใช้ได้ในช่วงต้นฤดูฝนอีกกว่า 5 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งสำรองไว้ใช้หากภาวะฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

ทั้งนี้ ได้ปรับเกณฑ์ปฏิบัติการ-อ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ของอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 437 แห่งทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเกณฑ์ Rule Curve ที่ปรับใหม่จะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันทำให้รับน้ำในช่วงฤดูฝนรวมกันได้มากกว่า 3.5 หมื่นล้านลบ.ม.จึงสามารถรองรับปริมาณน้ำหลากในช่วงฤดูฝนได้อย่างเต็มที่

พร้อมกับได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ในเรื่องแก้มลิงมาใช้พื้นที่ลุ่มต่ำบริหารจัดการน้ำหลาก ลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น ได้ปล่อยน้ำให้เกษตรกร ทำนาปีเร็วขึ้น สามารถเก็บผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลาก คือ ทุ่งบางระกำโมเดล พื้นที่ 2 จังหวัด รวม 3.8 แสนไร่ จ.สุโขทัย พิษณุโลก ตัดยอดน้ำจากแม่น้ำยมกว่า550 ล้าน ลบ.ม. ลดปัญหาอุทกภัยเกิดเป็นประจำในพื้นที่เศรษฐกิจแนวแม่น้ำยมและพื้นที่แก้มลิงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างรวม 12 ทุ่ง

ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก จ.สิงห์บุรี ,ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ,ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก จ.อ่างทอง ,ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และทุ่งรังสิตใต้ จ.ปทุมธานี รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.15 ล้านไร่ สามารถรองรับน้ำหลากได้รวมกันกว่า 1,500 ล้าน ลบ.ม.โดยจะให้เกษตรกรเริ่มการเพาะปลูกได้ในเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน ก่อนที่จะใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากเช่นเดียวกับทุ่งบางระกำ

ทั้งนี้ จะนำน้ำเข้าทุ่งในช่วงปลายเดือนกันยายน และเริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งประมาณวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป เมื่อรวมปริมาณน้ำที่ทุ่งบางระกำ และ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างแล้ว จะทำให้สามารถรองรับน้ำหลากได้มากกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. หรือเท่าๆ กับปริมาณความจุของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์รวมกัน

ล่าสุด ได้วางแนวทางขยายผลจากโครงการบางระกำโมเดลไปใช้ในทุ่งบางพลวง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำปราจีนบุรีต่อเนื่องถึงแม่น้ำบางปะกง เนื้อที่ประมาณ 499,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทราบางส่วน ด้วยการวางแนวทางดำเนิน"โครงการบริหารจัดการน้ำทุ่งบางพลวง เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย" หรือ "บางพลวงโมเดล" ซึ่งจะมีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืชใหม่จากเดิมเพาะปลูกประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ปรับเป็นเริ่มเตรียมแปลงภายในเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวให้เสร็จสิ้นภายในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ก่อนฤดูน้ำหลากจะมา จากนั้นก็จะใช้เป็นทุ่งรับน้ำ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมจังหวัดปราจีนบุรีแล้ว ยังทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้โดยไม่ได้รับความเสียหาย และลดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชมรอบๆทุ่งบางพลวงได้อีกด้วย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงฤดูฝนปีหน้า(2563)

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้จัดทำฐานข้อมูลและมาตรการในการบริหารจัดการน้ำของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก พร้อมกำหนดสถานีหลัก (Key Station) เพื่อการบริหารจัดการน้ำและเฝ้าระวัง รวมทั้งได้ทำการขุดลอกคูคลอง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยเฉพาะผักตบชวาและวัชพืช ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรกลต่างๆ ที่สามารถออกปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนทุกพื้นที่ได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตามขณะนี้มีเขื่อนที่มีน้ำน้อย ต่ำกว่าร้อยละ 30 เป็นเขื่อนใหญ่ 12 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ-ขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำลำพระ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำลำปาว อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง และขนาดกลางอีก 149 แห่ง ซึ่งจะรองรับปริมาณฝนได้มากรวมทั้งบริหารน้ำอย่างมีประสิทธิภาพทั้งท่วมและแล้ง