ผุดศูนย์จีโนมิกส์อีอีซี หนุนอุตฯแพทย์สมัยใหม่

ผุดศูนย์จีโนมิกส์อีอีซี หนุนอุตฯแพทย์สมัยใหม่

ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในอีอีซี จะส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

อุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่และการแพทย์ครบวงจร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการส่งเสริมให้เกิดขึ้นและมีการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยหนึ่งในสาขาการแพทย์สมัยใหม่ที่จะมีการผลักดันให้มีการเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี คือ โครงการการลงทุนด้านจีโนมิกส์ (Genomics) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความพยายามจะค้นหาลำดับดีเอ็นเอ (DNA sequence) ทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตและการทำแผนที่พันธุศาสตร์ (Genetic mapping)

“จีโนมิกส์” จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับวงการการแพทย์ในอนาคต โดยคาดการณ์กันว่าการพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทยจะสามารถลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลในไทยได้ปีละกว่า 70,000 ล้านบาท

ผุดศูนย์จีโนมิกส์อีอีซี หนุนอุตฯแพทย์สมัยใหม่

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้เห็นชอบ แนวทางการดำเนินงานของโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ (Thailand Genome Sequencing Center) ในพื้นที่อีอีซี เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา

โครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาโครงการมีมูลค่าการลงทุน 1,500 ล้านบาท โดยใช้งบประจำปีของแต่ละหน่วยงาน ที่มีการบรรจุในแผนงานของกระทรวงแล้ว

สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความรู้ทางการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) ที่จำเป็นให้ประเทศที่มีความต้องการบริการการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) ให้สามารถนำไปสู่การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ และในอนาคตอันใกล้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงในระบบประกันสุขภาพ

การผลักดันโครงการนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านการแพทย์และสาธารณสุขจะทำให้ดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนดีขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการป่วย ป้องกันการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร และลดค่าใช้จ่ายของการรักษาที่ไม่แม่นยำ 2.ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำให้มีเทคโนโลยีระดับสูงไว้บริการในศูนย์กลางทางการแพทย์ 3.ด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรภายในประเทศ

“โครงการในระยะเริ่มแรกใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท หรือปีละประมาณ 300 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปีลดลงจากงบประมาณที่มีการขอไว้ประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยโครงการที่จะมีการดำเนินการร่วมกับสถานพยาบาลในพื้นที่คือการเก็บข้อมูลพันธุวิศวกรรมไว้ใน Data Bank เพื่อเป็นข้อมูลในการรักษาพยาบาลซึ่งข้อมูลทางการแพทย์ที่มีจะช่วยให้การรักษาสามารถทำได้ถึงระดับยีน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสในการรักษาอาการป่วยต่างๆ ได้หายมากขึ้น” สุเทพ กล่าว

ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งครอบคลุมแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทยตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยโครงการนี้จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ในอีอีซี ซึ่งมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์สมัยใหม่

ครม.มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปทำงานร่วมกันและรวบรวมความต้องการพัฒนาจีโนมิกส์ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในสาขานี้อย่างเหมาะสมในไทย โดยอาจมีการตั้งศูนย์จีโนมิกส์ไทยแลนด์ในพื้นที่อีอีซีเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนที่เหมาะสม ช่วยสนับสนุนให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ เกิดการบริการและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในไทย โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูง และมีการเพิ่มตำแหน่งงานสำหรับคนไทยในอนาคต

สำหรับแผนบูรณาการและพัฒนาจีโนมิกส์ในประเทศไทยที่ ครม.อนุมัติในครั้งนี้ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2567 วงเงิน 4,570 ล้านบาท โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอคำของบประมาณตามแผนงานเป็นระยะ ซึ่งเป็นแผนที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์มาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข

นอกจากนี้ กว่า 30% ของโรคในมนุษย์เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งปัจจุบันการถอดรหัสพันธุกรรมมีต้นทุนลดลงอย่างมากประมาณ 18,000 บาทต่อคน และมีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น การตรวจเพื่อคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในระหว่างที่อยู่ในครรภ์ การตรวจพันธุกรรมเพื่อป้องกันมะเร็ง โรคไม่ติดต่อ โรคติดเชื้อ หรือการป้องกันการแพ้ยา

รวมทั้งแผนปฏิบัติการมีเป้าหมายที่จะบูรณาการการใช้ข้อมูลพันธุกรรมในด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน

ในอนาคตการแพทย์จีโนมิกส์จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างสุขภาพที่ดีของประชากรตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนกระทั่งเสียชีวิต โดยคาดว่าจะเกิดผลต่อเศรษฐกิจทั้งในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องสาธารณสุขได้ประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี โดยประเมินจากการลดอัตราการเกิด 5 โรคหลัก ได้แก่ 1.โรคหัวใจขาดเลือด 2.โรคเบาหวาน 3.โรคมะเร็ง 4.การติดเชื้อเอชไอวี 5.โรคหลอดเลือดสมอง

แผนการพัฒนาจีโนมิกส์ประเทศไทยยังเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศ และด้านการผลิต พัฒนาบุคลากรในสาขาจีโนมิกส์ให้ได้ 794 คน ภายระยะเวลา 5 ปี ใน 4 สาขา ได้แก่ 1.แพทย์ด้านเวชพันธุ์ศาสตร์ 34 คน และผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ 110 คน 2.สหสาขาวิชาชีพด้านพันธุศาสตร์ ชีววิทยาระดับโมเลกุล 3.พยาธิวิทยาระดับโมเลกุล 150 คน และ 4.นักชีวสารสนเทศ-นักระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ 500 คน