ลุ้น 'ผู้นำปชป.' คนใหม่ พลิกโฉมพรรคเดินหน้าหรือถอยหลัง

ลุ้น 'ผู้นำปชป.' คนใหม่ พลิกโฉมพรรคเดินหน้าหรือถอยหลัง

ถึงตรงนี้ ก็เป็น “วันสุดท้าย” ก่อนการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่แล้ว แนวโน้มล่าสุดตอนนี้ คนที่ถูกจับตาว่ามีโอกาสได้นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่มากที่สุด คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์

แต่ระยะเวลาวันสองวันที่ผ่านมา เรียกว่าเข้าทางตรง 100 เมตร ก็ยังอาจมีพลิกได้ เพราะมีกระแสแรงขึ้นมาจาก พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ผู้ท้าชิงที่เปิดตัวหลังสุด แต่ได้รับความสนใจและสร้างกระแสได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
โดยเฉพาะการเป็นคนแรกที่ประกาศว่า ถ้าประชาธิปัตย์ได้เข้าร่วมรัฐบาล เจ้าตัวจะไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่จะทุ่มเททำงานกอบกู้พรรคอย่างเต็มที่ ซึ่งต่อมา “หล่อเล็ก” อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ท้าชิงอีกคนก็ประกาศเช่นเดียวกัน

1_12

ข้อเสนอแบบนี้ใครๆ ก็ชอบ โดยเฉพาะกลุ่ม ส.ส.ที่มีโอกาสเป็นรัฐมนตรี หรือได้โควตาเสนาบดีจากการจับกลุ่มกัน และน่าจะส่งผลแคนนอนถึงการโหวตเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

ทำไมถึงเชื่อว่าการได้ใจ ส.ส. ย่อมมีโอกาสสูงที่จะได้เป็นหัวหน้าพรรค คำตอบก็คือ “จำนวนเสียง” ที่จะโหวตเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้นมาจาก 19 กลุ่ม จำนวน 307 คน แต่ประเด็นคือ “ทุกเสียงไม่ได้มีน้ำหนักเท่ากัน” เสียงจาก ส.ส.มีน้ำหนักมากที่สุดในฐานะตัวแทนประชาชน

แม้ครั้งนี้ ส.ส.จะมีเพียง 52 คน จากความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง แต่เสียง ส.ส.มีค่าน้ำหนักมากถึง 70%ในการคิดคะะแนนเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ส่วนอีก 255 คน จาก 18 กลุ่มที่เหลือ เช่น กรรมการบริหารพรรคชุดเก่า, อดีตหัวหน้าพรรค, อดีตเลขาธิการพรรค, อดีต ส.ส., อดีตรัฐมนตรี, กลุ่มผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสายของพรรค และกลุ่มหัวหน้าสาขาพรรคและตัวแทนจังหวัด, กลุ่มผู้แทนผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งล่าสุด ฯลฯ เหล่านี้มีค่าน้ำหนักเพียง 30%

หมายความว่า คะแนนของ ส.ส. 1 คน จะมีค่าเท่ากับ 1.35 คะแนน ขณะที่คะแนนจาก 18 กลุ่มที่เหลือ 1 คน มีค่าคะแนนเพียง 0.12 คะแนน พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ 1 เสียง ส.ส. เท่ากับ 11-13 เสียงของโหวตเตอร์จาก 18 กลุ่ม

จุดนี้เองที่ทำให้การ “ซื้อใจ ส.ส.” เป็นกลยุทธ์หนึ่งของบรรดาผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 4 คน

ทีนี้มาดูกันบ้างว่า ส.ส. 52 คนของพรรคประชาธิปัตย์มาจากไหน และใกล้ชิดใครบ้าง

ส.ส. 52 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 33 คน บัญชีรายชื่อ 19 คน ในส่วนของ ส.ส.เขตเป็น ส.ส.ใต้ 22 คน ภาคกลาง 8 คน ภาคอีสาน 2 คน และภาคเหนือ 1 คน ส่วนที่เหลือเป็นปาร์ตี้ลิสต์

วัดกันเฉพาะกลุ่ม ส.ส. ต้องบอกว่า จุรินทร์ ได้เปรียบผู้ท้าชิงคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพีระพันธุ์, กรณ์ และอภิรักษ์ เพราะนอกจากตัวเองจะเป็น ส.ส.ใต้ ซึ่งมีสัดส่วน ส.ส.มากที่สุดแล้ว ยังได้รับแรงหนุนจาก 2 ผู้ยิ่งใหญ่ของพรรค คือ นายหัวชวน หลีกภัย และ บัญญัติ บรรทัดฐาน ด้วย

ที่สำคัญมีข่าว จุรินทร์อาจวางตัว เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นเลขาธิการพรรคคู่ใจ โดยเฉลิมชัยเคยทำงานใกล้ชิดกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และได้รับการยอมรับอย่างมากจากคนในพรรค ยิ่งได้เฉลิมชัยมาเป็นขุนพลข้างกาย ยิ่งทำให้จุรินทร์ดูมีออร่าเปล่งปลั่งมากที่สุด

ส่วนพีระพันธุ์ที่กำลังมาแรง ก็เพราะมีความชัดเจนว่า กลุ่ม ส.ส.ที่นำโดย ถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ซึ่งกลุ่มถาวรรวมเสียง ส.ส.ทั้ง 2 ระบบไว้เกินกว่าครึ่ง ราวๆ 28 คน และยังมี ส.ส.เหนือบางส่วนร่วมเฮด้วย

ส.ส.อีกกลุ่มที่แม้ไม่ใหญ่ แต่ก็ไม่เล็ก อยู่ใต้ร่มเงาของอภิสิทธิ์ มีอยู่ราวๆ 10 เสียง แต่ปัญหาคืออภิสิทธิ์จะเทเสียงให้ใคร เพราะกับกรณ์ ก็เป็นนักเรียนอังกฤษด้วยกันมา แถมยังเป็นรัฐมนตรีคลังคู่บุญตอนอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ส่วนอภิรักษ์ ก็มีความสนิทสนมอยู่ไม่น้อย

สำหรับคะแนนจากโหวตเตอร์กลุ่มอื่นๆ อีก 18 กลุ่ม ก็กระจายไปยังผู้ท้าชิงทั้ง 4 คน ไม่ได้เทให้คนใดคนหนึ่ง ฉะนั้นคะแนนในส่วนนี้อาจไม่ใช่คะแนนชี้ขาด

แนวโน้ม ณ เวลานี้ จุรินทร์ยังมีลุ้นมากที่สุด จากพรรษาการเมืองที่มากกว่าคู่ชิงทุกคน เป็น ส.ส.มาแล้ว 11 สมัย ผ่านการเป็นรัฐมนตรีมาหลายกระทรวง โดยเฉพาะศึกษาธิการกับสาธารณสุข อยู่ระดับ “รัฐมนตรีว่าการ” แถมยังเคยเป็นประธานวิปรัฐบาล คุมเสียงในสภาในช่วงที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เสียงปริ่มน้ำมาแล้ว

ส่วนพีระพันธุ์ ต้องบอกว่าประมาทไม่ได้ เพราะมีกลุ่ม ส.ส.อยู่ในมือมากกว่าจุรินทร์เสียอีก จากแรงหนุนของกลุ่มถาวร เสนเนียม

ขณะที่ กรณ์ ก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนของพรรค เพียงแต่ระยะหลัง มีท่าทีโน้มเอียงไปในทางสนับสนุนให้พรรคเข้าร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ทำให้โดนเทจากผู้ใหญ่ในพรรคและสายอภิสิทธิ์ สำหรับอภิรักษ์ก็ยังพอมีความหวัง เพราะมี สาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นขุนพล และยังต่อสายถึง “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ยังมีบารมีในพรรคอยู่ไม่น้อย แต่เจ้าตัวต้องเร่งหาจุดเปลี่ยนเพื่อพลิกเกม

หากหัวหน้าปชป.คนใหม่ชื่อ จุรินทร์-กรณ์-อภิรักษ์ ทิศทางของพรรคอาจจะเปลี่ยนไปไม่มาก เนื่องจากเป็นกลุ่มก้อนเดียวกับ อภิสิทธิ์-ชวน แถมอาจจะสานฝัน อภิสิทธิ์ จับขั้วเพื่อไทย นั่งเก้าอี้นายกฯ ตามเสียงยั่วยุ แม้จะถูกห้ามปรามว่า นายใหญ่ จะเปลี่ยนเกมถีบหัวส่งแต่ อภิสิทธิ์ มั่นใจว่า หากได้นั่งเก้าอี้นายกฯจะคุมเกมทั้งหมดเอาไว้ได้

ส่วน พีระพันธุ์ หากได้นั่งเก้าอี้หัวหน้าปชป. พรรคสีฟ้าจะพลิกโฉมไปทันที แถมจะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพปชร. หนุน พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเก้าอี้นายกฯอีกครั้ง

ที่สำคัญหากผู้ท้าชิงคนใดเร่งไม่ขึ้น หรือมีการตัดคะแนนกันเองมากๆ อาจได้เห็นใครบางคนเลือกถอนตัว!