พาณิชย์หวั่นสงครามการค้าทุบส่งออก 2 แสนล้าน

พาณิชย์หวั่นสงครามการค้าทุบส่งออก 2 แสนล้าน

พาณิชย์ประเมินสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ระลอกใหม่ ส่งออกไทยอ่วมลดลงกว่า 2 แสนล้านบาท ชี้ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์-รถยนต์กระทบหนักสุด

กรณีที่สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีน 10% เป็น 25% มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯและ จีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯตอบโต้มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกเป็นภาคหลัก

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ประเมินผลกระทบเบื้องต้นในส่วนของการขึ้นภาษีของสหรัฐฯที่ครอบคลุมสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พบว่าอาจทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงประมาณ 5,600-6,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 1.76-2.11 แสนล้านบาท คิดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 31.50 บาทดอลลาร์) เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ครอบคลุมรายการที่ไทยส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ประมาณ 46% โดยตัวเลขดังกล่าว คำนวณจากทั้งการส่งออกไปสหรัฐฯทดแทนจีน การส่งออกไปจีน และการส่งออกสินค้าที่เป็นห่วงโซ่การผลิตจีนไปยังตลาดอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม

สำหรับกลุ่มสินค้ายานยนต์ อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการ safeguard ภายใต้มาตรา 232 (ความมั่นคง) ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะประกาศวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ รวมทั้งจากความตกลง USMCA ที่มาแทน NAFTA จะมีผลใช้บังคับในต้นปี 2563 โดยกำหนดเงื่อนไข local content เข้มงวดขึ้น จาก 60.62.5% เป็น 75% อาจจะต้องมีการสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยหาทางทำ Joint Venture หรือลงทุนร่วมกับบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในสหรัฐฯ หรือเม็กซิโก อยู่แล้ว เพื่อรักษาสัดส่วนในตลาดไว้

สำหรับรายการสินค้าที่สหรัฐฯ ประกาศเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 13 พ.ค. และรายการสินค้าที่จีนได้ประกาศตอบโต้สหรัฐฯแล้วนั้น สนค. กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาว่า มีรายการใดที่ไทยสามารถแสวงหาโอกาสในการส่งออกเพิ่มได้ โดยเฉพาะมีสินค้าเกษตรอยู่หลายรายการเพื่อรับมือกับการส่งออกที่อาจจะลดลง

ทั้งนี้สนค.ได้วิเคราะห์รายการสินค้าในรายละเอียด พบว่า ไทยมีสินค้าหลายตัวที่การส่งออกขยายตัวได้น่าพอใจ เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ผลไม้หลายชนิด เครื่องดื่มหลายประเภท ไก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ซึ่งกลุ่มสินค้านี้แม้จะมีมูลค่าน้อย ไม่อาจชดเชยการหดตัวในสินค้าอุตสาหกรรมได้ทั้งหมด แต่การส่งออกสินค้าเหล่านี้ จะมีผลในทางจิตวิทยาต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เนื่องจากมีผลต่อรายได้ของภาคเกษตรและเอสเอ็มอี จึงควรเร่งผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น

สำหรับสินค้ากลุ่มที่การส่งออกอาจลดลงมาก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกโดยนักลงทุนต่างชาติและไทยขนาดใหญ่ อาจจะต้องใช้มาตรการลงทุนเป็นเครื่องมือสนับสนุนโดยดึงดูดให้นักลงทุนจากทุกประเทศรวมทั้งจีนมาลงทุนใน EEC มากขึ้น แต่ต้องเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ผลิตสินค้ารุ่นเก่า รวมทั้งอาจขอให้เร่งขยายการลงทุนและ production capacity ในไทยมากขึ้นกว่าปัจจุบัน และให้หาทางส่งออกไปสหรัฐฯ และประเทศอื่นทดแทนการพึ่งตลาดจีน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการกระจายตลาดดังกล่าวอย่างเต็มที่