หมอเตือน! 'ไข้หวัดใหญ่' ระบาดหนักแน่ หลังป่วยสูงตั้งแต่ต้นปีรวมกว่า 1.52 แสนราย

หมอเตือน! 'ไข้หวัดใหญ่' ระบาดหนักแน่ หลังป่วยสูงตั้งแต่ต้นปีรวมกว่า 1.52 แสนราย

หมอเตือน! "ไข้หวัดใหญ่" ระบาดหนักแน่ หลังป่วยสูงตั้งแต่ต้นปีรวมกว่า 1.52 แสนราย ตาย 10 ราย คาดป่วย 2 แสนรายเป็นอย่างต่ำ แต่ตัวเลขจริงอาจถึงล้านคน ห่วงฤดูฝน-เปิดเทอม ยิ่งเพิ่มการระบาด

เมื่อวันที่ 14 พ.ค.62 ที่โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ ในงานแถลงข่าวสถานการณืโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยและแนวทางการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า คนมักเข้าใจว่า โรคไข้หวัดใหญ่ไม่ร้ายแรง สามารถหายได้เอง แต่จริงๆ แล้ว หากวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องรีบทำการรักษาโรค เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะคนในครอบครัว และป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงต้องหมั่นสังเกตอาการตนเองและคนรอบข้าง หากมีไข้สูงเกิน 24 ชั่วโมง ให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูก ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเจ็บป่วยลงและการแพร่ระบาดไปพร้อมกัน

รศ.(พิศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่เปรียบเสมือนลูกเงาะ ซึ่งจะมีขน 2 สี โดยสีหนึ่งจะจับกับเซลล์ทางเดินหายใจ และผลิตลูกหลานออกมาทำให้เราป่วย ซึ่งแต่ละปีไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงของขนนี้เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ ส่งผลให้เกิดการระบาดทุกปี และมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่นั้นเดาความรุนแรงได้ยาก เพราะแม้จะเป็นเชื้อตัวเดียวกัน แต่แต่ละคนมีอาการรุนแรงมากน้อยต่างกัน บางคนเป็นมาก บางคนก็เป็นน้อย ซึ่งทำให้คนเข้าใจว่า โรคไข้หวัดใหญ่สามารถหายได้ด้วยตัวเองและไม่รุนแรงมาก ซึ่งข้อเท็จจริง คือ ยิ่งรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ได้เร็ว จะยิ่งลดอาการรุนแรง อาการแทรกซ้อน และลดการเสียชีวิต จึงต้องรีบมาพบแพทย์ ดังนั้น ข้อแตกต่างระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้หวัดธรรมดา คือ หากมีอาการไข้สูงนาน 24-48 ชั่วโมง ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

"แต่ละคนจะมีเซนส์ของการเจ็บป่วยไม่เท่ากัน บางคนรู้สึกว่ารุนแรง บางคนก็รู้สึกว่าไม่รุนแรง ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ขณะที่การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัวอวัยวะต่างๆ ก็ใช้วัดความรุนแรงไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีความอดทน่อความเจ็บป่วยไม่เท่ากัน บางคนรู้สึกว่าสามารถทนได้ก็ไม่รุนแรง แต่บางคนก็ทนไม่ได้ ดังนั้น ในทางการแพทย์จึงต้องวัดแบบจับต้องได้ คือ มีอาการไข้สูงนาน 48 ชั่วโมง ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย รวมถึงอาจสังเกตคนรอบตัวด้วยว่า มีการป่วยหรือหยุดลาป่วยหรือไม่ หากมีจำนวนมากก็ให้สงสัยไว้ก่อนและไปพบแพทย์" รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้พบว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 7 พ.ค. 2562 พบผู้ป่วยจำนวน 152,185 ราย และเสียชีวิต 10 ราย ซึ่งจำนวนการระบาดถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560-2561 ประมาณ 3-5 เท่า ทั้งนี้ ช่วงหน้าแล้งที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในปีนั้นจะมีโรคไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออกระบาดเยอะมากขึ้น ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ตลอดทั้งปีสูงถึง 2 แสนราย แต่ตัวเลขน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะเมื่อคำนวณจากทั่วโลกจะพบว่า ผู้ใหญ่จะป่วยอยู่ที่ประมาณ 10 ใน 100 คน หรือประมาณ 10% ส่วนเด็กจะป่วยอยู่ที่ 40% ซึ่งภาพรวมจะป่วยเฉลั่ยอยู่ที่ 20% ซึ่งประเทศไทยมีประชากรราว 70 ล้านคน ตัวเลขคนป่วยจริงๆ อาจจะถึง 1 ล้านคน

"ยิ่งขณะนี้ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะเข้าสู่ช่วงของหน้าฝน และมีการเปิดเทอมอีก ซึ่งการที่เด็กมาอยู่รวมกันและไม่ได้มีการรักษาอนามัยความสะอาด จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังคนในครอบครัวได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง ซึ่งรวมถึงกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน - 3 ปีด้วย อย่างไรก็ตาม มีแนวคิดที่จะเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเด็กนักเรียนทั้งหมดด้วย เพราะมีการศึกษาว่า หากสามารถฉีดวัคซีนให้นักเรียนทั้งหมด จะช่วยลดการระบาดไปยังคนใสครอบครัว โดยไม่ต้องฉีดวัคซีนได้ถึง 60% ซึ่งขณะนี้การผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เองของประเทศไทย อยู่ในการทดสอบขั้นสุดท้ายแล้ว คาดว่าภายใน 2-3 ปีจะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ผลิตและใช้เอง ซึ่งสามารถนำมาตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้" รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า สำหรับการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ จะมียาโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งยารักษาโรคจากไวรัสนั้น จะเป็นยาที่ช่วยยับยั้งไม่ให้ไวรัสเจิรญเติบโต แต่ไม่ใช่ยาที่เข้าไปฆ่าเชื้อไวรัส ดังนั้น หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้เร็ว และรับประทานยาได้เร็ว ก็จะยิ่งช่วยลดอาการรุนแรงและลดการแพร่เชื้อได้นั่นเอง ซึ่งปัจุบันการรักษาให้ครบโดสจะอยู่ที่ 10 เม็ด โดยรับประทานวันละ 2 มื้อ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการพัฒนายาใหม่ๆ และได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว โดยเป็นยารักษาที่รับประทานเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังคงมีราคาแพงมากและเริ่มมีการใช้แค่ใน รพ.เอกชน