ฆ่าเหาก่อนเปิดเทอม ด้วยวิธีภูมิปัญญาท้องถิ่น ใบน้อยหน่า ใบยาสูบ ช่วยได้

ฆ่าเหาก่อนเปิดเทอม ด้วยวิธีภูมิปัญญาท้องถิ่น ใบน้อยหน่า ใบยาสูบ ช่วยได้

หมอแนะนำผู้ปกครองกำจัดเหาของบุตรหลานช่วงปิดเทอมด้วยวิธีภูมิปัญญาท้องถิ่น เตรียมตัว บุตรหลานให้พร้อมก่อนเปิดเทอม

นายแพทย์ปราโมทย์  เสถียรรัตน์ โฆษกกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า จากกรณีโรงเรียนบ้านเอราวัณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 2 อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย มีการเป็นเหาของเด็กนักเรียนหญิงค่อนข้างสูง โดยคุณครูได้นำวิธีการทำยาฆ่าเหาด้วยสมุนไพร ใบน้อยหน่า ใบยาสูบ และมะกรูด มาใช้ดูแลเด็กนักเรียน เหาก่อให้เกิดอาการคันหรือเกิดตุ่มคันบนหนังศีรษะ บางรายเป็นมากและมีอาการคันรุนแรงอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำได้ ซึ่งภาวะการเกิดเหาพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในบุคคลที่มีสุขอนามัยไม่ดี สามารถติดต่อระหว่างบุคคลได้ง่าย อาทิ ใช้อุปกรณ์เกี่ยวกับผมร่วมกัน เช่น หวี หมวก การสัมผัสใกล้ชิดกัน การทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น การเป็นเหาในเด็กนักเรียนนับว่าเป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากนักเรียนจะขาดสมาธิในการเรียนและเสียบุคลิกภาพที่ดี

จึงขอแนะนำผู้ปกครองดูแลสุขภาพของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บุตรหลานปราศจากเหามีสมาธิในการเรียน และมีบุคลิกภาพที่ดี ด้วยวิธีทางภูมิปัญญาท้องถิ่นในการกำจัดเหา ซึ่งจะใช้สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน คือ น้อยหน่า สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้ วิธีที่ 1 นำใบน้อยหน่า 15 - 20 ใบ ตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์ล้างแผลพอแฉะ คั้นเอาแต่น้ำมาทาให้ทั่วศรีษะ และใช้ผ้าโพกไว้ 10 นาที และใช้หวีเสนียดสางออก วิธีที่ 2 บดเมล็ดน้อยหน่ากับน้ำมะพร้าว ในอัตราส่วน 1 : 2 กรองเอาน้ำ ทาให้ทั่วศรีษะ ใช้ผ้าโพกไว้ 1 - 2 ชั่วโมง ข้อควรระวัง คือ อย่าให้น้ำยาเข้าตา เพราะจะทำให้เยื่อบุตาอักเสบ

นายแพทย์ปราโมทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า การป้องกันการแพร่กระจายของเหา สามารถทำได้โดย รักษาความสะอาดของทุกคนในบ้าน ทำความสะอาดเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน หมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ให้สะอาด แยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกับผู้ที่เป็นเหา และควรตัดเล็บให้สั้น ไม่แคะ แกะ เกา บริเวณที่เป็นเหา เพราะอาจทำให้ติดเชื้อซ้ำได้ ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมมีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ผ่านการวิจัยโดยใช้สมุนไพรเพื่อกำจัดเหา สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรกำจัดเหาตามร้านค้าชั้นนำทั่วไปได้