'อภิรักษ์' ชิงหัวหน้า ปชป.ตอบโจทย์สังคมยุคใหม่

'อภิรักษ์' ชิงหัวหน้า ปชป.ตอบโจทย์สังคมยุคใหม่

"อภิรักษ์" ลงชิงหัวหน้าพรรคปชป. ชี้ถึงเวลาพร้อมเดินหน้าเปลี่ยนแปลงพรรค เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมยุคใหม่

เมื่อวันที่ 9 พ.ค.62 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 พ.ค.นี้ว่าเหตุผลที่ลงสมัครหัวหน้าพรรค เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง พร้อมเดินหน้าในฐานะผู้นำในการบริหารเปลี่ยนแปลงพรรค เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมยุคใหม่ และอยากช่วยสมาชิกทุกๆ ภูมิภาคในการทำหน้าที่เพื่อประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมทั้งสร้างศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ ปชป. ในพื้นที่ใหม่ๆ ทั่วประเทศ เพราะวันนี้มองว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบโจทย์สังคมและสมาชิกส่วนใหญ่ โดยร่วมสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธา รวมทั้งอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่อยู่คู่สังคมมากว่าเจ็ดสิบปีให้ตอบโจทย์ประชาชน และก้าวต่อไปในสังคมไทยยุคใหม่ได้อย่างสง่างาม

“ผมคิดว่าสถานการณ์การเมืองในห้าปีที่ผ่านมา ทำให้สังคมคาดหวังว่าการเมืองจะมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และเข้ามาเลือกตั้งและอยากให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย การแข่งขันทางการเมืองนั้น พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับเปลี่ยน ทั้งนโยบายและวางกลยุทธ์ให้ผู้สมัครใหม่ในมิติที่สัมพันธ์และก้าวต่อไปโดยเครือข่ายสังคมใหม่ที่เข้มแข็งสนับสนุน เงื่อนไขของภารกิจหัวหน้าพรรค ปชป. ในวันนี้ ตรงนี้ คือ ความเปลี่ยนแปลงของสังคม กระแสมันเปลี่ยนไปแบบนี้ ย้ำว่าพรรคเข้าใจและยอมรับกระแสและความนิยมของสังคมรวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่มีต่อพรรค เราจึงต้องการคนที่พร้อมรอบด้านมาทำงานเป็นทีมบริหาร ซึ่งผมอยากขอโอกาสในการทำงานร่วมกับทุกคนเพื่อสร้างประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงพรรคในครั้งนี้” นายอภิรักษ์กล่าว

นายอภิรักษ์กล่าวว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นของโหวตเตอร์ที่ส่งมา ทำให้มั่นใจว่า หากตนได้รับเลือกเป็นหัวหน้าตนจะได้ทุ่มเทเวลาในการปฏิรูปพรรค และลงพื้นที่ร่วมกับสมาชิกพรรคอย่างทั่วถึง เพราะผู้สมัครส.ส.หลายคนไม่ได้เข้ารัฐสภา ตนจะดึงคนกลุ่มนี้มาทำงานและสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยในพรรค เพื่อดึงคะแนนและพื้นที่เหล่านั้นกลับคืนมา วันนี้หลายคนมีเวลาทบทวนบทเรียนการเลือกตั้งเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนและจะได้มีกำลังใจในการทำงานครั้งต่อไป

“คำว่าเปลี่ยนแปลงนั้นมีหลายแบบตั้งแต่วิสัยทัศน์ การทำงานด้านนโยบาย รวมถึงการบริหารจัดการพรรค การรับฟังเสียงของประชาชน วันนี้ ผมจะเชื่อมโยงคนของพรรคด้วยเทคโนโลยี ในการเข้าถึงความคิด การทำงานเพื่อประชาชน และนโยบายพรรคอย่างไร รวมทั้งการลงพื้นที่ผนวกไปด้วยเพื่อตรวจสอบความนิยมของพรรค ต้องเริ่มที่การบริหารจัดการพรรค โดยนำเทคโนโลยีมาต่อยอดเพิ่มเติม เชื่อมโยงประกอบกับการลงพื้นที่พบประชาชน และการใช้สังคมออนไลน์สื่อสารกับสังคมโดยรวมที่ไม่ใช่มุ่งเน้นแค่ฐานเสียงของพรรค เปิดพื้นที่ให้สังคมมาบริจาคเงินเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพรรคแบบมีส่วนร่วมมากขึ้นการปรับเปลี่ยนพรรคนั้น ต้องไม่ลืมอุดมการณ์พรรคที่นำไปปฏิบัติจริงได้ในทุกยุคสมัย วันนี้พรรคมีคนสองรุ่น คือคนรุ่นใหม่และคนมีประสบการณ์ ผมมองว่าอย่าจำกัดนิยามคนทั้งสองรุ่นไว้แค่อายุหรือเพิ่งมาอยู่พรรคไม่นาน ควรให้คำยามว่าหากคนที่มีอายุแต่มีทัศนคติใหม่ๆกับสังคมก็ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ได้ อย่าลืมว่าสินค้าบางยี่ห้อมีอายุนับร้อยปีแต่วันนี้ยังอยู่ได้ เพราะสินค้าตัวนั้นปรับตัวเข้ากับผู้บริโภคในยุคนี้ แต่ยังยึดความเป็นตัวตนของสินค้านั้นๆที่คงอยู่ไว้ให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น พรรคต้องไม่เสียจุดยืนตรงนี้

ผมมองว่า การบริหารพรรคนั้น ไม่ใช่ปล่อยให้หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคบริหารงานเหมือนเป็นซูเปอร์แมน ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องทำงานเป็นทีม เปรียบเสมือนเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอล นำบุคคลที่มีประสบการณ์ มีมุมมองร่วมสมัย ช่วยกันทำงานกับคนรุ่นใหม่ และเปิดพื้นที่ให้คนนอกพรรคมาช่วยกันขับเคลื่อน ประชาธิปัตย์วันนี้มีนิวเดม ในวันวานมีกลุ่มสตรีและยุวประชาธิปัตย์มาช่วยงานพรรค ผมมองว่าหากเราจะเดินไปยังเป้าหมายนั้นๆ ควรทาบทามบุคลากรที่มีความชำนาญในด้านนั้นๆมาทำงาน เช่น เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ เกษตรกรสมัยใหม่ เครือข่ายสตรี เครือข่ายจิตอาสา เครือข่ายอาจารย์นักวิชาการเพื่อให้เข้าใจโลกยุคใหม่ว่าเป็นอย่างไรและ พรรคต้องทำงานอย่างไร

ทีมงานที่ผมทาบทามมาช่วยการบริหารพรรค อาทิ บุคคลที่มีรายชื่อปรากฎตามสื่อต่างๆ มาช่วยกันทำงานครั้งนี้ ผมและทีมงานมีความหวังในการเปลี่ยนแปลงพรรคให้สังคมยอมรับและศรัทธากับสิ่งที่พรรคจะทำเพื่อสังคม เหล่านี้ทำให้ก้าวต่อไปของพรรคประชาธิปัตย์เป็นก้าวที่มั่นคงและสมาชิกภาคภูมิใจในการทำงานเพื่อประชาชนได้อย่างเข้มแข็งกว่าเดิม" นายอภิรักษ์กล่าว