ปชป. ฮึ่ม! จัดชุดใหญ่เอาผิด กกต.เสียสิทธิคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ปชป. ฮึ่ม! จัดชุดใหญ่เอาผิด กกต.เสียสิทธิคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ปชป. แถลงซัด กกต. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ คำนวณแจก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรคเล็ก คะแนนไม่ถึง 7 หมื่นชัดขัดเจตนารมณ์ รธน.-ก.ม.เลือก ส.ส. กลายเป็นคะแนนตกทะเล เล็งใช้สิทธินามพรรค-ผู้สมัคร ส.ส.ร้องศาล รธน.

เมื่อวันที่ 9 พ.ค.62 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง รักษาการกรรมการบริหารพรรค และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต กกต. ได้แถลงข่าวโต้แย้งผลการคำนวณสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของ กกต.

โดย นายราเมศ รัตนะเชวง รักษาการกรรมการบริหารพรรค ระบุว่า การคำนวณ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของ กกต.ที่ใช้สูตรให้พรรคการเมืองที่ไม่มีสิทธิจะได้รับการจัดสรรปันส่วน ให้ได้รับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งที่ไม่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ตามกฎหมายนั้น พรรคประชาธิปัตย์ขอเรียนว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พรรคน้อมรับ ซึ่งข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยเป็นประเด็นสาระสำคัญคือ มาตรา 128 ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ (ส.ส.) พ.ศ.2561 ไม่ขัดกับบทญัตติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 91 เพียงเท่านั้น โดยการแถลงวันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการท้วงติง กกต.เพื่อให้รับทราบประเด็นปัญหา ตามหลักการความถูกต้อง กกต.ที่ว่าจะต้องสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม เพราะการประกาศผลคำนวณคะแนนจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขัดแย้งกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 91 และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 128 และไม่ถูกต้องด้วยหลักการ

กระทำที่ขัดแย้งกับหลักการในกฎหมายชัดเจน คือ การขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 91 โดยเจตนารมณ์กฎหมายข้อดังกล่าวการได้มาของจำนวน ส.ส.ในสภานั้น ต้องสะท้อนคะแนนเสียงของพี่น้องประชาชน โดยจำนวนเสียงของประชาชน จะกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงจะมี มาตรา 91 ระบุชัดว่า พรรคการเมืองจะมี ส.ส.มากกว่าที่จะพึงมีนั้นไม่ได้ โดยพรรคการเมืองที่จะมี ส.ส.ได้มากกว่าจำนวนจะพึงมี กฎมายยอมในเรื่องเดียวคือพรรคการเมืองนั้นได้รับการเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขต มากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีที่พรรคนั้นจะได้ ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็คือพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าพรรคการเมืองใดไม่มีจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมีแล้วพรรคนั้นไม่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญฯ ที่จะได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ถ้าพรรคใดได้ ส.ส.เขตจำนวน ต่ำกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี จึงจะได้รับการสรรสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อนี้ไปให้ครบเต็มตามจำนวนที่พึงจะมีนั้น แต่จะไปจัดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมาไม่ถึง 71,168.5141 คะแนนไม่ได้ ซึ่งตัวเลขคะแนนนั้น กกต.คำนวณไว้สำหรับการจัดสรรจำนวน ส.ส. 1 คนให้พรรคการเมือง ดังนั้นถ้าคะแนนได้เท่าจำนวนนั้นพรรคจึงมีสิทธิได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน

ขณะที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 91 ระบุให้นำจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด มาจัดสรรให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตต่ำกว่า จำนวน ส.ส.ที่พึงจะมี สมมุติว่าพรรคหนึ่งมีสัดส่วน ส.ส.พึงมีได้ 5 คน แล้วเลือกตั้งได้ ส.ส.เขตมาแค่ 3 คน พรรคนั้นยังมีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกแค่ 2 คนเท่านั้น ซึ่งมาตรา 91 (4) ยังระบุต่อไปด้วยว่า ...แต่ต้อง ไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าว มี ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมี... โดยเป็นสาระสำคัญหลักที่รัฐธรรมนูญฯ ร่างมาเพื่อสะท้อนคะแนนเสียงของพี่น้องประชาชน และมาตรานี้จะทำให้ กกต. มีปัญหาได้ในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ชอบ-ไม่ชอบต่อการคำนวณจำนวน ส.ส. ซึ่งหากพรรคใดไม่มีสัดส่วนคะแนนถึงจำนวนที่จะให้มี ส.ส.พึงมีได้แล้วจัดสรร เช่นนั้นก็อาจจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ

นอกจากนี้ในส่วนที่ กกต. บอกว่าดำเนินการ มาตรา 128 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ โดย มาตรา 128 (5) ระบุหลักเกณฑ์ชัดไว้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 91 ว่า ให้นำจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด มาจัดสรรให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตต่ำกว่า จำนวน ส.ส.ที่พึงจะมี และปิดท้ายเหมือนกันว่าแต่ต้อง ไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าว มี ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมี โดยที่ กกต. อ้างว่าใช้ มาตรา 128 (6) ในการคำนวณเพื่อจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคเล็ก กกต.ดูกฎหมายไม่ครบเพราะกฎหมายข้อนั้นระบุว่า ในการจัดตาม (5) ถ้าปรากฏว่ายังจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่ครบ 150 คน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุด ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 1 คนตามลำดับจนครบจำนวน 150 คน

ความหมายคือ เฉพาะพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.ที่พึงมี ดังนั้นพรรคใดที่คะแนนเสียงไม่ถึง 71,168 คะแนน กกต.ไม่มีสิทธินำไปตั้งต้นในการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ โดยเอกสารการชี้แจ้งของ กกต. ในหน้าที่ 12 ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ และขัดต่อ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ ซึ่งพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงถึงตามเกณฑ์ 71,168 คะแนน มีเพียง 16 พรรคเท่านั้น พรรคลำดับที่ 17-27 ไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรด้วย เช่น พรรคไทรักธรรม ได้คะแนนเสียง 33,754 คะแนน ซึ่งคะแนนนั้นตามเกณฑ์ 1 คนก็ยังไม่ได้แล้ว กกต.ไปจัดสรรให้กับพรรคการเมืองลำดับที่ 17-27 นี้ ขัดต่อกฎหมายชัดเจนมาก

ที่ กกต. บอกว่าหลักเกณฑ์นี้คิดมาดีแล้ว เป็นหลักเกณฑ์หลักการที่บอกว่าทำให้คะแนนไม่ตกน้ำ ท่านทราบหรือไม่จากการคิดคำนวณของ กกต.ในครั้งนี้ คะแนนไม่ได้ตกน้ำแต่ตกทะเลไปเป็นล้าน นี่คือสิ่งที่ กกต.ต้องยอมรับว่าข้ออ้างและเหตุผลรับฟังไม่ได้โดยสิ้นเชิง คะแนนที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเสียไปจากการคำนวณครั้งนี้กว่า 200,000 คะแนน และมีพรรคการเมืองอื่นอีกที่เสียคะแนนไปหลายแสนคะแนน รวมกันแล้วเป็นหลักล้าน ผมไม่ทราบว่าการคำนวณสัดส่วนแบบนี้ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับใคร ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองใด แต่ที่แน่นอนประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.ที่พึงมีเขาจะเสียคะแนนของเขาไปทันที ผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง นายราเมศ ระบุ

ทั้งนี้ นายราเมศ กล่าวว่า กกต. ถือได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อมีการปฏิบัติหน้าที่ ที่ไม่ชอบ บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นก็มีกฎหมายคุ้มครองอยู่ โดยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นหากใช้สูตรคำนวณปกติพรรคจะได้ตัวเลขที่ 21-22 คน ดังนั้นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคที่อยู่ในลำดับที่ 20-21 ที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการคำนวณนี้ คือผู้เสียหายโดยตรง ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเรื่องนี้ได้ ดังนั้นจากผลกระทบนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะใช้กระบวนการต่างๆ ทั้งตามรัฐธรรมนูญฯ และกฎหมายเรียกร้องความเป็นธรรมให้ถึงที่สุด

ยืนยันว่าการออกมาท้วงติงคัดค้านครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากความเห็นแก่ตัว เห็นประโยชน์ของตนเอง แต่ออกมาท้วงติงเพื่อให้การดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.เป็นไปตามกระบวนการครรลองหลักกฎหมาย หลักรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง

เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ และยื่น กกต. เรียกร้องสิทธิใช่หรือไม่ และจะดำเนินการเมื่อใด นายราเมศ ก็มีหลายช่องทาง ซึ่งบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผลกระทบต่อสิทธินั้นสามารถยื่นได้ด้วยช่องทางศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการใช้กฎหมายริดลอนสิทธิเสรีภาพหรือไม่ 2.กระบวนการต่างๆ ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่สำคัญเช่นกันที่จะส่งผ่านกระบวนการไม่เป็นธรรมครั้งนี้ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาเรื่องวิธีการคำนวณ เป็นประเด็นเพียงว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้ง กับรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 91 ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาดังกล่าวไม่ได้มารองรับการกระทำของ กกต.นั้นที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผลจากการปฏิบัติหน้าที่มิชอบของ กกต.ครั้งนี้ กกต. ต้องรับผิดชอบ ส่วนเราจะดำเนินการตามช่องทางต่างๆ เมื่อใดจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง ซึ่งก็อาจจะต้องรอหลังการประชุมเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่

เมื่อถามย้ำว่า การยื่นเรียกร้องสิทธิและดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ครั้งนี้ จะทำในนามของพรรคประชาธิปัตย์ หรือในส่วนของผู้สมัคร ส.ส.ที่ได้รับผลกระทบ นายราเมศ กล่าวว่า ทำทั้ง 2ทาง เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญซึ่งจะต้องปรึกษาหารือกันเพื่อหาช่องทางเรียกร้องความเป็นธรรมทั้งระบบ โดย กกต.เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วยกฎหมาย แน่นอนช่องทางจะมีตามมาอีกมากมาย

ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต กกต. ได้กล่าวประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ในการใช้สูตรคำนวณจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครั้งนี้ว่า ในการตรวจการบ้าน กกต. ครั้งนี้ซึ่งดูจากเอกสารชี้แจงของ กกต. 14 หน้าที่แถลงข่าวนั้น ตนให้คะแนน 50 % จากเอกสารชี้แจงมีความถูกต้องในหลักการเพียง 7 หน้า แต่การบ้านข้อนี้มีคนช่วยทำเยอะมาก ช่วยติว ช่วยไกด์มีคนแนะนำ แต่ท่านยังทำผิดอีกดังนั้นคะแนนสมควรให้ต่ำกว่า 50 % ซึ่งวิธีการจัดสรรของ กกต. มีผู้ได้รับผลกระทบ โดยการคำนวณควรมี 16 พรรคเท่านั้นที่จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และมีเพียง 14 พรรคที่จะได้รับการจัดสรร ส่วนที่หายไป 2 พรรคคือ พรรคเพื่อไทยเพราะได้จำนวน ส.ส.เขตเกินกว่า ส.ส.ที่พึงจะมี กับพรรคประชาชาติ ที่ ส.ส.พึงจะมีนั้นเขาจะได้ 6.7 โดยได้ ส.ส.เขตไปแล้ว 6 คน

ดังนั้น เศษที่เหลือจึงไม่ถึง 1 คนทำให้ 2 พรรคนี้ก็จะไม่มีโอกาสได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก โดย 14 พรรคที่จะได้รับสิทธิจัดสรรนั้น คือการจัดสรรจากจำนวนเต็มให้ก่อนแล้วก็จะเริ่มดูจากเศษส่วนที่เรียงจากเศษส่วนมากที่สุด ไปหาเศษส่วนน้อยที่สุด ซึ่งมี 7 พรรคที่ได้รับกระทบสิทธิจากการมีส่วนได้-เสียจากการคำนวณของ กกต.ที่อาจจะแย้งกับรัฐธรรมนูญฯ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ , พรรคอนาคตใหม่ , พรรคประชาธิปัตย์ , พรรคภูมิใจไทย , พรรคเสรีรวมไทย , พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรครวมพลังประชาชาติไทย