สำรวจวัฒนธรรมญี่ปุ่นร่วมสมัยใน 100 สิ่งออกแบบ

สำรวจวัฒนธรรมญี่ปุ่นร่วมสมัยใน 100 สิ่งออกแบบ

สุดยอดงานดีไซน์จำนวน 100 ชิ้น ที่สะท้อนแนวคิดการออกแบบของดีไซเนอร์ญี่ปุ่น ผ่านการคิดออกแบบบนพื้นฐานของ 'ความต้องการ' และ 'ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน' เป็นหลัก พร้อมบูรณาการศาสตร์และศิลป์การออกแบบที่ร่วมสมัย โดยไม่ละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิม

เป็นจำนวนนับครั้งไม่ถ้วนที่ สไตล์การออกแบบของญี่ปุ่น มีความโดดเด่น ดึงดูดความสนใจ และสร้างเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ-มีชื่อเสียง วางขายไปได้ทั่วโลกในหมวดสินค้าหลากหลายประเภท

“ถ้าอยากรู้จักญี่ปุ่น ต้องศึกษาดีไซน์ ดีไซน์ของญี่ปุ่นไม่ใช่แค่ประโยชน์ใช้สอย ไม่ใช่แค่โครงสร้าง แต่รวมถึงที่มา รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ดีไซน์ญี่ปุ่นไม่หยุดนิ่ง ผลิตภัณฑ์บางตัวตอบสนองต่อความจำเป็นเมื่อมีภัยพิบัติครั้งใหม่เกิดขึ้น” นาย โนริฮิโกะ โยชิโอกะ ผู้อำนวยการบริหารเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ ‘กรุงเทพวันอาทิตย์’ ในงานเปิดนิทรรศการ Japanese Design Today 100 หรือในชื่อไทยว่า “ออกแบบ แบบญี่ปุ่น”

20190423202858506
นิทรรศการ Japanese Design Today 100 จัดแสดง ณ ห้องแกลอรี่ ชั้น 1 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC อาคารไปรษณีย์กลาง(ส่วนหลัง) เขตบางรัก กรุงเทพฯ

นิทรรศการ Japanese Design Today 100 เป็นนิทรรศการสัญจรที่เดินทางไปจัดแสดงในหลายประเทศทั่วโลกตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน และสิงคโปร์ โดยมีเป้าประสงค์ในการ แลกเปลี่ยนแนวคิดด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น ควบคู่กับ การออกแบบสมัยใหม่ ผ่านตัวอย่างผลงานการออกแบบจำนวน 100 รายการ ที่ออกแบบโดยชาวญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคปีค.ศ.1950-1960 ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการออกแบบในปัจจุบัน

ผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 100 ชิ้น ได้รับการคัดสรรโดยภัณฑรักษ์ชาวญี่ปุ่น 4 ท่าน คือ ฮิโรชิ คาชิวางิ, มาซาฟูมิ ฟูคากาวะ, โนริโกะ คาวากามิ และ ชู ฮางิวาระ

“ข้าพเจ้าคิดว่า โลกนี้ควรรับรู้ความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมญี่ปุ่นร่วมสมัยผ่านผลงานออกแบบของญี่ปุ่น โดยที่มุมมองต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นมีหลากหลาย เช่น เทคโนโลยีการทำ ฟังก์ชัน โครงสร้างที่ถูกปรับให้เข้ากับการนำไปใช้ รสนิยมของผู้ใช้ต่อวัสดุ รูปแบบ และสี” มร.ฮิโรชิ คาชิวางิ (Hiroshi Kashiwagi) นักแสดง-นักเขียนบทละคร หนึ่งใน 4 ภัณฑารักษ์ ให้ความเห็นถึงการจัดนิทรรศการ Japanese Design Today 100

นิทรรศการจัดแสดง ผลงาน 100 ชิ้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่เห็นได้ในญี่ปุ่นปัจจุบัน 89 ชิ้น และอีก 11 ชิ้นเป็นผลิตภัณฑ์คลาสสิกที่แสดงลักษณะพิเศษของการออกแบบของญี่ปุ่นตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา 

ผลงานทั้ง 100 ชิ้น แบ่งได้เป็น 10 หมวด คือ งานออกแบบคลาสสิกระดับตำนานของญี่ปุ่น หมายเลข 1-11, เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือน หมายเลข 12-32, เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว หมายเลข 33-48, เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ หมายเลข 49-55, ของใช้สำหรับเด็ก หมายเลข 56-61, อุปกรณ์เครื่องเขียน หมายเลข 62-70, อุปกรณ์กิจกรรมสันทนาการ หมายเลข 71-79, ของใช้สำหรับสุขภาพ หมายเลข 80-86, อุปกรณ์กู้ภัยและบรรเทาสาธารณภัย หมายเลข 87-91 และหมวด  ขนส่ง หมายเลข 92-100

IMG_9520 (1)

หม้อหุงข้าวไฟฟ้า RC-10 พ.ศ.2498

ผลงานซึ่งกำกับไว้ด้วยหมายเลข 1-11 หรือผลงาน 11 ชิ้นแรกที่จัดอยู่ในหมวด งานออกแบบคลาสสิกระดับตำนานของญี่ปุ่น แสดงให้เห็นดีไซน์ที่เกิดขึ้นในอดีตและอิทธิพลในการดีไซน์นั้นส่งผลมาถึงปัจจุบัน เช่น หม้อหุงข้าวไฟฟ้า RC-10 ที่ มร.โยชิฮารุ อิวาตะ (Yoshiharu Iwata) ผสมผสานการออกแบบกับเทคโนโลยีให้กับบริษัท Toshiba Corporation ในปีพ.ศ.2498 ช่วยลดขั้นตอนการหุงข้าวแบบเดิมที่ต้องติดเตาถ่าน กลายเป็นต้นแบบหม้อหุงข้าวประสิทธิภาพสูงเช่นทุกวันนี้ ในระยะเริ่มต้นคือการช่วยให้ผู้หญิงญี่ปุ่นออกจากครัวมีเวลาไปทำงานอย่างอื่นนอกบ้านได้มากขึ้น ถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการใช้ชีวิตของสังคมญี่ปุ่น และกระจายไปทั่วโลกที่ประชาชนหุงข้าวรับประทาน

20190423202521175

ม้านั่ง ออกแบบโดย มร.ริกิ วะตะนะเบะ เมื่อพ.ศ.2499 ถือเป็นยุคแรกของเครื่องเรือนญี่ปุ่นที่เริ่มเปลี่ยนจากจารีตนิยมสู่ความเป็นสากล

ผลิตภัณฑ์หมายเลข 6 ม้านั่ง ออกแบบโดย มร.ริกิ วะตะนะเบะ (Riki Watanabe) เมื่อปีพ.ศ.2499 เป็นเครื่องเรือนญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลก ที่เริ่มมีองค์ประกอบการดัดโค้งจากที่เคยออกแบบเป็นเส้นตรงมาตลอด ถือเป็นยุคแรกของเครื่องเรือนญี่ปุ่นที่เริ่มเปลี่ยนจากจารีตนิยมสู่ความทันสมัยเป็นสากลขึ้น

หมายเลข 8 ขวดซอสถั่วเหลืองพร้อมที่เท ของบริษัท Kikkoman Corporation ที่ มร.เคนจิ อีควน (Kenji Ekuan) ออกแบบไว้เมื่อปีพ.ศ.2504 เป็นขวดบรรจุซอสถั่วเหลืองขวดแรกของญี่ปุ่นที่สามารถเทซอสได้ในทันทีโดยไม่ต้องเปิดฝา เป็นที่นิยมใช้จนถึงปัจจุบัน

20190423203309863

 ‘ขวดซอสถั่วเหลืองพร้อมที่เท’ ขวดแรกของญี่ปุ่นที่เทซอสได้ในทันทีโดยไม่ต้องเปิดฝา

20190423203310868

กล้อง Nikon F วางจำหน่ายครั้งแรกพ.ศ.2502

“ถ้าสังเกตจะพบว่าผลิตภัณฑ์หมายเลข 1-11 หรือผลิตภัณฑ์ในหมวด ‘งานออกแบบคลาสสิกระดับตำนานของญี่ปุ่น’ เป็นผลงานการออกแบบของนักออกแบบชาวญี่ปุ่นที่ปัจจุบันได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์การออกแบบแขนงต่างๆ ของญี่ปุ่นทั้งสิ้น ได้รับรางวัลมากมายด้านการออกแบบ บางคนได้รับความไว้วางใจให้ออกแบบสัญลักษณ์งานสำคัญระดับชาติ” ผู้อำนวยการบริหารเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ให้ข้อสังเกตและยกตัวอย่าง มร.ยูซากุ คาเมะกุระ(Yusaku Kamekura) ผู้ออกแบบ กล้องถ่ายรูป Nikon F ซึ่งวางจำหน่ายเมื่อปีพ.ศ.2502 และได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 งานออกแบบญี่ปุ่นในนิทรรศการครั้งนี้ ก็เป็นผู้ออกแบบสัญลักษณ์กีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวเมื่อปีพ.ศ.2507 และออกแบบโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานเอ็กซ์โปที่กรุงโอซากา พ.ศ.2513

20190423203030416

ที่ปิดฝา Cupmen 1 Hold on : อุปกรณ์บอกอุณหภูมิสำหรับปิดฝาถ้วยราเมงกึ่งสำเร็จรูป ตัวตุ๊กตาเปลี่ยนสีตามความร้อนเย็นของภาชนะ ไม่ต้องสัมผัสให้ร้อนมือ

20190423202519189

(ขวาสุด) โคมไฟ Mogura รุ่น In-Ei Issey Miyake ผลิตด้วยเส้นใยสังเคราะห์ที่ได้จากขวดพลาสติกรีไซเคิล ประดิษฐ์ด้วยมือ ให้แสงไฟนุ่มนวลตามสไตล์ญี่ปุ่น ออกแบบโดยดีไซเนอร์ อิซเซ มิยาเกะ และ Reality Lab พ.ศ.2553

20190423202853165

ผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมหลายอย่างของญี่ปุ่น สร้างขึ้นจากเทคนิคละเมียดละไม เข้าใจถึงความงาม และความต้องการของผู้ใช้อย่างแท้จริง ผลงานเหล่านี้เกิดจากความใส่ใจ สังเกต และเข้าใจในชีวิต วัฒนธรรม และการรับรู้ของผู้คนที่ร่วมสมัยกัน

“จากผลงานจัดแสดงในนิทรรศการ จะเห็นถึงความเอาใจใส่ต่อสภาพแวดล้อม หรือสถานการณ์ที่ของจะถูกนำไปใช้ รวมถึงผู้มีแนวโน้มว่าจะได้ใช้ เรามีรถยนต์ประหยัดพลังงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโลก ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยธรรมชาติ อุปกรณ์ช่วยให้ผู้ที่ไม่สามารถเดินได้สามารถเคลื่อนไหวได้ดีกว่าเดิม อุปกรณ์ที่ทนทานต่อสภาพการใช้งานอันหนักหนาสาหัส แนวคิดการออกแบบที่สอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ถือเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าในยุคของเรา และกลายเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จสำหรับงานในสาขาอื่นๆ ด้วย” มร.มาซาฟูมิ ฟูคากาวะ (Masafumi Fukagawa) อาจารย์สอนปรัชญาและนักวิจารณ์ศิลปะ หนึ่งในภัณฑารักษ์แสดงความคิดเห็น

20190423202851956

เก้าอี้ยาว Ishinomaki และม้านั่ง AA : เก้าอี้ยาวและม้านั่งมาจากเมือง ‘อิชิโนะมากิ’ ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ ดีไซน์เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนอาชีวศึกษาในพื้นที่และนักออกแบบ Keiji Ashizawa แยกนั่งเดียวและนั่งรวมกันหลายคนก็ได้ ออกแบบเมื่อพ.ศ.2554 และพ.ศ.2555 ตามลำดับ

20190423203306412

Home1 เสื้อโค้ทบ้านหลังสุดท้าย : นอกจากป้องกันความหนาวเย็น ยังมีกระเป๋าเสื้อสำหรับเก็บของใช้ยามฉุกเฉินและช่วยให้อยู่รอดในสภาวะขาดแคลน ไม่ต้องแบกสัมภาระพะรุงพะรังในยามที่สองมือต้องดิ้นรน ออกแบบเมื่อพ.ศ.2537

20190423202523019

กระเป๋าจากหนังสือพิมพ์ชิมันโตะ(Shimanto) นำหนังสือพิมพ์ที่อ่านแล้วมาพับเป็นกระเป๋าใส่ของ กำไรจากการจำหน่ายมอบโครงการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเลียบแม่น้ำชิมันโตะเมื่อปีพ.ศ.2546, Nagare ผ้าฟุโรชิกิกันน้ำ(ลายเต่า) ผ้าทอละเอียดพิเศษเมื่อพ.ศ.2549 ปกติใช้ห่อของ ยามฉุกเฉินผูกเป็นถุงจุน้ำได้ 10 ลิตร

“ลักษณะเฉพาะอีกประการของการออกแบบญี่ปุ่น คือ การตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าอย่างสร้างสรรค์” มิส.โนริโกะ คาวากามิ (Noriko Kawakami) คณะกรรมการรางวัล Good Design Award (ค.ศ.2017-2019) หนึ่งในภัณฑารักษ์ให้ความเห็น และยกตัวอย่าง วอล์คแมน WM-2 ที่โซนี่นำออกวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2524 ถือเป็นการออกแบบของญี่ปุ่นที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ใช้ไปสู่สิ่งใหม่อย่างสิ้นเชิงเมื่อการฟังเพลงแบบส่วนตัวสามารถทำได้ทุกสถานที่และไม่ว่าคุณกำลังทำกิจกรรมใดโดยไม่ต้องพกวิทยุหรือเครื่องเล่นเทปขนาดใหญ่ให้ลำบาก

งานออกแบบของญี่ปุ่นยังมีจุดแข็งอยู่ที่ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับแหล่งผลิตสินค้าแต่ละชนิดที่มีอยู่ทั่วประเทศ

“ศูนย์การผลิตบางแห่งมีขึ้นตั้งแต่สมัยเอโดะ(พ.ศ.2146-2410) บางแห่งสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แหล่งผลิตส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องเชิงภูมิศาสตร์กับท้องถิ่นนั้นๆ อาทิ ศูนย์ผลิตกระดาษ มักสร้างขึ้นใกล้แหล่งน้ำ” มร.ชู ฮางิวาระ (Shu Hagiwara) หนึ่งในภัณฑารักษ์ให้ความเห็น

IMG_9516

ที่ใส่ยาจุดกันยุงแบบขดและฝาปิดฉลุลาย คิดค้นและผลิตโดยช่างฝีมือย่านคุวานะ จังหวัดมิเอะ พ.ศ.2556

ดีไซน์ชิ้นนี้ก็เช่นกัน ที่ใส่ยาจุดกันยุงแบบขด ทำด้วยเหล็ก คิดค้นและผลิตโดยช่างฝีมือย่านคุวานะ จังหวัดมิเอะ หนึ่งในสองศูนย์กลางหลักของอุตสาหกรรมการหลอมในญี่ปุ่น นอกจากความทนทานยังสวยอีกด้วย ตรงฝาปิดภาชนะมี 6 รูปแบบคล้ายกับลายฉลุประจำเมือง ตั้งใจให้นึกถึงบรรยากาศในฤดูร้อนที่ดอกไม้เบ่งบานและอากาศอบอุ่นสบายนั่นเอง

ยุคปี 90s เกิดวิกฤตเงินเฟ้อสูงสุด ชาวญี่ปุ่นหลายคนเริ่มคิดถึงการใช้ชีวิตใหม่ เกิดกลุ่มดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่หันมาสนใจงานฝีมือพื้นบ้านและเทคนิคดั้งเดิมในจารีตท้องถิ่นและสอดคล้องกับสภาวะในประเทศของตนเองมากขึ้น มีการทำงานร่วมกันระหว่างช่างฝีมือและนักออกแบบ เพื่อพัฒนางานสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ต่างไปจากการทำงานที่เน้นการตามกระแสหลักหรือความนิยมของตลาด เป็นอีกหน้าหนึ่งของงานออกแบบญี่ปุ่น

แรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ ความยากลำบาก งานหัตถกรรมที่เป็นมรดกวัฒนธรรม และนวัตกรรมเทคโนโลยี หล่อหลอมรวมกันเป็น...งานออกแบบญี่ปุ่น..อันน่าทึ่ง

20190423202859039

(จากขวา) รถไฟชินคันเซน รุ่น N700 Advanced พ.ศ.2556 ทำความเร็วสูงสุดได้ 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง พัฒนาคุณภาพการขับขี่ควบคู่สิ่งแวดล้อม, เครื่องบินเจ็ทฮอนด้า พ.ศ.2556 ฮอนด้าผลิตเครื่องบินพาณิชย์ลำแรก ปีกหลักกะทัดรัด ทำให้มีพื้นที่เก็บของและห้องโดยสารกว้างขึ้น, รถยนต์ Wagon R พ.ศ.2555 โดยบริษัท Suzuki Motor การเพิ่มความสูง ทำให้มีพื้นที่ภายในกว้างขวางตามมาตรฐานรถขนาดเล็กของญี่ปุ่น, รถยนต์นิสสัน Leaf ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ไม่ปล่อยไอเสียรุ่นแรกของโลก พ.ศ.2552

20190423202859508

นิทรรศการ Japanese Design Today 100 

- จัดแสดง ณ ห้องแกลอรี่ ชั้น 1 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC อาคารไปรษณีย์กลาง(ส่วนหลัง) เขตบางรัก กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมฟรี วันนี้-26 พฤษภาคม 2562 (ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์) เวลา 10.30-21.00 น. ติดต่อเข้าชมแบบหมู่คณะได้ที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ โทร.0 2105 7400 ต่อ 213

- จัดแสดง ณ Exhibition Space, TCDC จ.เชียงใหม่ วันที่ 8-30 มิถุนายน 2562 เวลา 10.30-18.00 น. ปิดวันจันทร์

- จัดแสดง ณ หอศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น วันที่ 12-28 กรกฎาคม 2562 เวลา 09.00-19.00 น. เปิดทุกวัน

#japandesign100