บอร์ดดีอี ไฟเขียวจัดตั้งสถาบันบิ๊กดาต้าภาครัฐฯ

บอร์ดดีอี ไฟเขียวจัดตั้งสถาบันบิ๊กดาต้าภาครัฐฯ

บอร์ดดีอี ไฟเขียวจัดตั้งสถาบันบิ๊กดาต้าภาครัฐ ใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ติดปีกบริการภาครัฐและเสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย

นางสาวอัจฉรินทร์  พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยในการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๒ วันนี้ (๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒) โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานฯ ซึ่งจะมีการพิจารณาเรื่องสืบเนื่อง และพิจารณาเรื่องสำคัญในครั้งนี้ หลัก ๆ ๓ ประเด็น กล่าวคือ ตามที่นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๒ ซึ่งจะเป็นกรอบนโยบายในการพัฒนาให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุดว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม การสนับสนุนให้เกิดระบบบริการภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำธุรกรรมและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อรองรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลต่างๆ มุ่งเน้นการเข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น ให้เกิดการเรียนรู้และนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อไป

 

กระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งเป้าในการพัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัล ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะภาครัฐจะต้องเร่งผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้สามารถบูรณาการและให้บริการข้อมูลข้ามหน่วยงานได้อย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน และเป็นข้อมูลในการพัฒนาประเทศต่อไป” ปลัดกระทรวงฯ กล่าว

 

โดยประเด็นสำคัญเรื่องแรก คือ การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data Institute) และบอร์ดดีอีพิจารณาการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ โดยปรับรูปแบบของ Service Delivery Unit ให้เป็น Business Unit ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐเกิดกลไกการวิเคราะห์ขนาดใหญ่ซึ่งจะช่วยสนับสนุนในเรื่องต่างๆ อาทิ การบริหารงบประมาณ การให้บริการสาธารณะตรงตามความต้องการของประชาชน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒

 

ประเด็นที่สอง จะพิจารณาเรื่อง ความสอดคล้องของแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๖๔) กับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประกาศและมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๒ จากที่คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบหลักการแผนฯ แล้วเมื่อคราวการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ สำหรับการจัดทำแผนแม่บทก็ได้มีการปรับปรุงและอ้างอิงมาจากแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ ๒๐ ปี และแผนปฏิบัติการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ ๕ ปี ที่รวมประกาศเป็นนโยบายและแผนระดับชาติแล้ว ก้าวต่อไป คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จะประสานงานขับเคลื่อนแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๖๔ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ประเด็นที่สาม บอร์ดดีอี เห็นชอบ การปรับแผนงบประมาณรายจ่ายโครงการเพิ่มเติม ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๒ ซึ่งสำนักงาน กสทช. เสนอปรับแผนงบประมาณรายจ่ายโครงการ ประจำปี ๒๕๖๒ จำนวน ๒ โครงการ ได้แก่ ปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินโครงการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบและหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่รองรับการให้บริการ 5G จากเดิมจัดจ้างที่ปรึกษา เป็น ความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย Calmers University of Technology ภายในกรอบวงเงินเดิมที่ได้รับอนุมัติ และปรับเพิ่มโครงการระบบตรวจสอบสิ่งผิดกฎหมายจากการออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ระดับภูมิภาค วงเงิน ๙๕.๐๑๐ ล้านบาท ซึ่งการปรับแผนดังกล่าวนี้ อยู่ภายใต้กรอบวงเงินเดิมที่ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นของบอร์ดดีอี เมื่อคราวการประชุมครั้งที่ผ่านมา (ครั้งที่ ๕/๒๕๖๑)