ถอดบทเรียน “ติ๋ม ทีวีพูล” ดอกไม้-ขวากหนาม ธุรกิจสื่อ

ถอดบทเรียน “ติ๋ม ทีวีพูล” ดอกไม้-ขวากหนาม ธุรกิจสื่อ

“ติ๋ม ทีวีพูล” ชื่อเรียก “เจ้าแม่สื่อบันเทิง" จากยุครุ่งเรือง สู่จุดเปลี่ยนประมูล “ทีวีดิจิทัล” เพราะเชื่อว่าคือ “ขุมทรัพย์” ใหม่ กลับกลายเป็น “วิบากกรรม”  บทเรียนราคาแพง “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” พายุใหญ่ มาเยือนเร็ว-แรง กระเทือนธุรกิจพังพาบ

โลกธุรกิจ มี โอกาส มากพอๆกับ ความเสี่ยง” แต่เพราะโอกาสในการจะคว้าขุมทรัพย์ในการทำเงิน สร้างอาณาจักร ความมั่งคั่งให้กับตัวเอง ทำให้มี “นักธุรกิจ” ที่มีวิสัยทัศน์ อ่านเกมอนาคตเฉียบขาด ตัดสินใจควักเงินลงทุนเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว ขบคิดกลยุทธ์ ต่อสู้กับการแข่งขันที่ดุเดือดในโลกการค้า เพื่อคว้าชัยชนะให้ได้

ทว่า เส้นทางธุรกิจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทุกระยะทางเต็มไปด้วยอุปสรรค ขวากหนามนานัปการ เพราะต่อให้เตรียมตัวมาดี รากฐานธุรกิจตลอดจนปัจจัยภายในองค์กรแข็งแกร่ง (Strengths) มากพอ แต่ท้ายที่สุดทุกองค์กรย่อมมี “จุดอ่อน” (Weaknesses) ที่นำมาซึ่งความเสียเปรียบในการแข่งขันได้

นอกจากนี้ โอกาส (Opportunities) ที่นักธุรกิจมองเห็น ก็คงไม่ใช่เพียงรายเดียว เพราะ “คู่แข่ง” ในตลาดเดียวกันย่อมสามารถมองเห็นได้ไม่ต่างกัน ส่วนใครจะคว้าโอกาสนั้นได้ก่อน ขึ้นอยู่กับขุมกำลังเงินทุน ทีมงาน กลยุทธ์อันเฉียบคม และอีกมากมายเป็นตัวช่วย และเมื่อก้าวลงสนามธุรกิจ สิ่งที่ต้องระวังอย่างมากคือปัจจัยลบภายนอก(Threats) เพราะไม่มีใครสามารถ “คาดเดา” อนาคตได้ว่าจะมีพายุความเปลี่ยนใดๆมาเยือน และสร้างความสั่นสะเทือนธุรกิจให้เสียหายย่อยยับได้

จะกี่ยุคกี่สมัย “โลกธุรกิจ” มีเรื่องราวให้นักธุรกิจ นักการตลาด และบุคคลทั่วไปได้เรียนรู้เรื่องราวของแบรนด์ บุคคล มหาเศรษฐี นักการตลาดฯ ได้เรียนรู้อยู่เสมอ แต่อีกมิติหนึ่ง ต้องยกให้ ความล้มเหลว เป็น บทเรียน ราคาแพง! และเป็นครูที่สอนทุกคนได้เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นแบบอย่างและภูมิคุ้มกัน ป้องกันไม่ให้คนทำธุรกิจเผชิญหายนะ และความสูญเสียทางธุรกิจ

บทเรียนที่น่าสนใจของวงการธุรกิจไทย ที่หยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาในเวลานี้ หนีไม่พ้น ธุรกิจสื่อ เพราะเป็นหนึ่งในเซ็กเตอร์ที่ต้องรับมือกับสึนามิการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมปู้บริโภคเปลี่ยนการ “เสพสื่อ” จากสื่อเก่า(Old Media) ทั้งสิ่งพิมพ์ ทีวี วิทยุ ที่เคยทรงอิทธพล กลับถูกแทนที่ด้วย สื่อดิจิทัล มากขึ้น

เทคโนโลยี และ ดิจิทัล ยังเป็นตัวแปรใหญ่ในการดิสรัปธุรกิจ “เม็ดเงินโฆษณา” ที่เคยหล่อเลี้ยงสื่อเดิม ถูกแพลตฟอร์มต่างประเทศแย่งเม็ดเงินมากขึ้นทุกขณะ หลายองค์กร หรืออาณาจักรสื่อที่เคยยิ่งใหญ่ ถึงกับกระเทือน มีการเปลี่ยนแปลง ลดขนาดองค์กร เลิกกิจการ ลด เลิกจ้างพนักงาน เป็นต้น

พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ ติ๋ม ทีวีพูล” เจ้าแม่สื่อบันเทิง ผู้เป็นเจ้าของอาณาจักรสื่อบันเทิงรายใหญ่ของเมืองไทย มีสื่อในมือจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร “ทีวีพูล สไปซี่ สตาร์นิวส์” รายการโทรทัศน์ออกอากาศทางฟรีทีวีอย่าง “ทีวีพูล ทูไนท์ ทีวีพูล ไลฟ์” ก่อนขยับไปรุกธุรกิจทีวีดาวเทียมปั้นรายการ “ทีวีพูล แชนแนล” เสิร์ฟคนดู ซึ่งสื่อเหล่านั้นล้วน ทรงอิทธิพล” ต่อคนวงการบันเทิงมากมาย สามารถชี้ ดัง ชี้ ดับ ให้กับศิลปิน นักแสดงในอดีตได้เลยทีเดียว

ทว่า ห้วงเวลาที่ประเทศไทยวางแผนเปลี่ยนผ่าน “ทีวีอนาล็อก” สู่ “ทีวีดิจิทัล” ข้อมูลที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)คาดการณ์แนวโน้มเม็ดเงินโฆษณาที่จะเติบโตจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นแรงจูงใจผู้ประกอบการที่คร่ำหวอดในวงการสื่อ นักลงทุนที่มองเห็น “โอกาส” และตบเท้าเข้าประมูลเป็นเจ้าของช่องกันจำนวนมาก รวมถึงชื่อของ พันธุ์ทิพา”ด้วย ซึ่งในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด เธอประมูลชนะและเป็นเจ้าของทีวีดิจิทัล 2 ช่องคือ ไทยทีวี และ โลก้า” ด้วยมูลค่า 1,976 ล้านบาท นี่เป็นก้าวสำคัญบนเส้นทางธุรกิจของเธอ

หลายครั้งที่ “พันธุ์ทิพา” ปรากฎตัว สปอร์ตไลท์จะส่องตรงไปที่เธอ เพราะนอกจากการแต่งตัวหรูหรา เครื่องเพชรอลังการจัดเต็ม ยังมีวาทะกรรมเด็ดให้พบในการทำธุรกิจด้วย โดยเฉพาะหลังการประมูลชนะคว้า 2 ช่องมาครอง เธอประกาศกร้าวในการนำทัพทีวีดิจิทัลไทยทีวีและโลก้าเป็น Top 5 ให้ได้ และขอโกยเงินโฆษณาให้ได้ 2,000 ล้านบาท!! ปีแรก ยังไม่พอ เธอฟันธงว่าจะทำให้ธุรกิจ คืนทุน ด้วย

การลงทุนเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ และเป้าหมายที่วางไว้ก็ใหญ่ยิ่งไม่ต่างกัน!!

ระหว่างการลุยธุรกิจทีวีดิจิทัล แน่นอนสิ่งที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึงว่าจะมา “เร็ว” และ “แรง” คือตัวแปรด้านเทคโนโลยีการสื่อสารผ่าน ดิจิทัล ที่กระทบและเปลี่ยนหลายอย่างบนโลกใบนี้ รวมถึงธุรกิจ และ “ผู้บริโภค” โดยเฉพาะอย่างหลัง เมื่อคนดูทีวีผ่าน “จอแก้ว” ลดลงอย่างน่าใจ เม็ดเงินโฆษณาจากที่เคยโตเป็นบวก ไหลออกไปยังสื่อใหม่ ทำให้เม็ดเงินโฆษณาทางทีวี “ติดลบ” ไหนจะภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัว การเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลไม่เป็นไปตามที่กสทช.ประกาศไว้ ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการ “กระอักเลือด” เพราะแบกต้นทุนค่าใบอนุญาต(ไลเซ่นส์)ที่สูง ต้นทุนพนักงาน การผลิตคอนเทนท์มหาศาล สวนทางกับ “รายได้” ที่ไม่เข้ามา สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เธอดื้อแพ่ง ไม่จ่ายค่าไลเซ่นส์ ท้ายที่สุดโบกมือบ๊ายบาย! เมื่อ 25 พ.ค.2558

ยิ่งไปกว่านั้นคือการดำเนินการยื่นฟ้องกสทช.ต่อศาลปกครองกลางเพื่อเอาผิดและให้ชดใช้ค่าเสียหายเกิดขึ้น และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อ 13 มี.ค.2561 ว่ากสทช.ผิดสัญญาในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกเป็นทีวีดิจิทัลล่าช้า และไม่เป็นไปตามแผนงานที่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูล เช่น การแจกคูปองล่าช้าถึง 6 เดือน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบไม่ทั่วถึง การขยายโครงข่ายทีวีดิจิทัล(มัค)ล่าช้า เป็นต้น จากนั้นบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา เมื่อ 17 มี.ค. 2561 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากกสทช.มูลค่ากว่า 1,134 ล้านบาท

11 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)ใช้มาตรา 44 ออกมาตราช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ไม่ต้องชำระค่าไลเซ่นส์งวดที่ 5 และ 6 รวมถึงเปิดทางให้คืนไล่เซ่นส์ได้ ทำให้ ติ๋ม ทีวพูล” ร่อนเทียบเชิญและแถลงข่าวเมื่อ 29 เม.ย.ให้ทราบว่าบริษัทไม่เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือดังกล่าว แต่จะเกาะติด “สูตรเยียวยาทีวีดิจิทัล” เพื่อนำมาเทียบเคียงมูลค่าเสียหายไปใช้ดำเนินการในชั้นอุทรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป

ณ บ้านในซอยลาดพร้าว ติ๋ม ทีวีพูล ปรากฎกายต่อหน้าสื่อในชุดเดรสสีครีม และเครื่องประดับเพชรที่คอเหมือนทุกครั้ง

ประโยคแรกคือการ ยาหอม กสทช.ที่ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เพราะสำหรับคนทำสื่อ เพราะที่ผ่านมาเลือดออกมาก แย่แล้ว

“มาตรา 44 ที่นำมาใช้แก้ปัญหาให้กับทีวีดิจิทัล ต้องขอบคุณกสทช.แทนสื่อทุกค่าย ถือว่าแมนมาก เป็นซูเปอร์ฮีโร่ให้คนในวงการสื่อ ที่ออกมายอมรับความผิดพลาด และต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด”

จากนั้น ได้ขยายความว่าบริษัทไม่ได้รับประโยชน์จากการมาตรการดังกล่าว เพราะคืนไลเซ่นส์ ยกเลิกกิจการไปเรียบร้อยแล้ว แต่ประโยชน์ทางอ้อมยังมี คือการนำสูตรไปคำนวณเปรียบเทียบเรียกค่าเสียหายและดำเนินคดีทางกฎหมายต่อ

ทั้งนี้ เจ๊ติ๋ม ตามติดมาตรการเยียวยาด้วยความแอ๊คทีพมาก เพราะเธอบอกว่า การ “รู้เขารู้เรา” ทำให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจดำเนินการเรื่องต่างๆ

ตามสุภาษิตจีน จะรบกับใคร ต้องรู้เขารู้เรา รบสิบครั้งก็ชนะสิบครั้ง” 

แม้มาตรการช่วยเหลือจะออกมา แต่สูตรคำนวณยังไม่ชัดเจนมากพอว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ทำให้เธอมองว่าการตัดสินใจของผู้ประกอบการยัง “ยาก” อยู่ โดยเฉพาะการ “คืนไลเซ่นส์” เพราะหากยื่นแสดงความประสงค์จะคืนช่องแล้ว จะเป็นการ “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” เพราะบริษัทต้องเตรียมบอกเลิกจ้างพนักงาน การแจงให้เอเยนซีรับรู้ และ “เม็ดเงินโฆษณา” ที่เคยเป็นรายได้ จะค่อยๆหายไป ขณะที่จะอยู่ต่อ ยังต้องกัดฟันสู้กันเลือดสาดเหมือนเดิม เพื่อชิงเม็ดเงินโฆณาก้อนเดิมก้อนเดียวมูลค่าราว 7 หมื่นล้านบาท 

การโดดสู่สมรภูมิทีวีดิจิทัล เป็น “บาดแผล” ในการทำธุรกิจครั้งใหญ่ของเธอ โดยเธอขยายความว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ให้บทเรียนสำคัญ ไม่ใช่แค่กับตัวเธอเอง แต่ยังรวมถึงผู้ประกอบการสื่อด้วยกัน เป็นกรณีศึกษาให้กับนักเรียนนิเทศศาสตร์ รวมถึงนิติศาสตร์ด้วย เพราะคดีการฟ้องร้องของเธอต่อกสทช.เป็นกรณีตัวอย่าง “แรก”

บนเส้นทางทีวีดิจิทัลสั้น 1 ปี 4 เดือน เธอยอมรับเต็มขั้นและคาดถึงไม่ถึงว่าเทคโนโลยี 5G จะมาเร็วแบบนี้ ไม่เคยคิดว่าจะเกิดการประมูลเร็ว และมองย้อนมายังธุรกิจตนเอง 

ดิจิทัลมันดิสรัปจริงๆ และตรงมาที่วงการสื่อก่อนเลย เจ้าของหนังสือ สำนักพิมพ์ถูกดิสรัป โดนกันหมด” 

ครั้นถามถึงการตัดสินใจ “ผิดพลาด” หรือไม่ที่เข้าประมูลทีวีดิจิทัล คำตอบที่ชัดเห็นภาพคือ ทุกคนพูดกันว่า วันที่ชนะประมูล มีแต่น้ำตาแห่งความดีใจ เพราะทุกบ้านเปิดแชมเปญฉลอง” ก่อนตัดฉากใหม่ว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ “จะไม่ยุ่งเลย!!” นั่นจึงเป็นเหตุผลให้บริษัทอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 เพื่อฟ้องร้องกสทช.หวังพึ่งศาลเพื่อให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิมก่อนเข้าประมูล

ทีวีดิจิทัลไม่ใช่ธุรกิจแรกของเธอ แต่การออกสตาร์ทบนสังเวียนใหม่ ทำช่องข่าวและช่องเด็ก ที่บริษัทรู้ข้อมูล รายละเอียดเงื่อนไขการทำช่องแล้ว แต่ด่านแรก ก็ตกม้าตาย เพราะความเชี่ยวชาญด้านข่าวบันเทิงที่สั่งสมมา และหมายมั่นเป็นกลยุทธ์ต่อสู้กับคู่แข่ง ไม่เป็นอย่างที่คาด เมื่อข่าวบันเทิง ไม่อยู่ในข่าย หากแต่ต้องมีข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งเธอยอมรับโดยดุษฎีว่าไม่มีองค์ความรู้(Know how)

ขณะนั้นเธอจึงหาพันธมิตร ทั้งกลุ่มโพสต์ พับลิงชิ่ง ผลิตคอนเทนท์ข่าว แต่ต้องแยกทางกันก่อนมีรายการออกอากาศ และยังมีการหาแม่ทัพมาคุมช่องข่าวคนแล้วคนเล่า นี่เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ได้รับ 

ไม่หมดแค่นั้น เมื่อการทำทีวี Content is King คือกุญแจสำคัญในการดึงผู้ชม ทำให้บริษัทต้องควักงบ “ลงทุน” มหาศาลเพื่อซื้อคอนเทนท์จากต่างประเทศ ทั้งภาพยตร์ ซีรี่ส์ จากประเทศจีน และฟากตะวันตก ใช้เงินกว่า 100 ล้านบาท ผลิตละคร 12 เรื่อง แต่สุดท้ายก็ไม่มีคอนเทนท์ไหนได้ออกอากาศ รวมถึงซื้อทีวีแจกโรงพยาบาล โรงเรียนต่างๆกว่า 4,000 เครื่อง

“รายการที่ซื้อมาจากต่างประเทศ ลิขสิทธิ์ก็หมดอายุแล้ว ส่วนละครที่ผลิต ดารานักแสดงก็มีลูกแล้ว” เธอเล่า 

นอกจากนี้ พนักงานที่มีร่วม 500 ชีวิต ทำงาน 2 ช่อง เป็นต้นทุนคงที่มหาศาล ที่สุดแล้ว “ติ๋ม” ต้องขายสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่สหรัฐ 4 หลัง บ้านที่อังกฤษ 1 หลัง บ้านหรูย่านคู้บอนมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาหล่อเลี้ยงธุรกิจราว 750 ล้านบาท

“ขายก็เพราะทีวีดิจิทัลไง”(เสียงสูง) ส่วนเครื่องประดับเพชรสุดหรูหราและอลังการณ์ ถูกขายไปหรือไม่ เธอหัวเราะ และบอกซ้ำๆว่า “ขายไม่ได้ราคา”

สำหรับ “พันธุ์ทิพา” เริ่มต้นจากการทำรายการวิทยุ บริษัท ซาวด์ โปรเจกต์ จำกัด กระทั่งแต่งงานกับ เกรียงศักดิ์ สกุลชัย หรือต้อย แอ๊คเนอร์ ผู้มีส่วนสำคัญดึงเธอเข้าสู่วงการสื่อบันเทิง แจ้งเกิดนิตยสารรายสัปดาห์ “ทีวีพูล” สร้างการเติบโตเป็น เจ้าแม่สื่อบันเทิง” ที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก

9 ปีแรกของ “ทีวีพูล” แม้จะไม่ได้มีกำรี้กำไร แถมยัง “ขาดทุน” ด้วยซ้ำ

 ตอนนั้นพี่เป็นเจ้าแม่วิทยุ มีเงินมาช่วยทีวีพูล ที่เราขาดทุนเดือนละ 5-6 แสนบาท ซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นเศษเงิน” ยืนหยัดขาดทุนมานาน และเห็นว่าทีวีพูลทำเงินแน่นอน จึงยุติการทำรายการวิทยุ นำสรรพกำลังคนที่มีทุ่มเทให้กับทีวีพูลเต็มที่ ปีที่ 10 เริ่มเห็น กำไร จากทีวีพูล จนกลายเป็น เบอร์1สื่อบันเทิง และหนึ่งในสื่อยักษ์ใหญ่ของไทย

“Perception แรกที่ผู้บริโภคนึกถึงทีวีพูลคือ เราเป็นสำนักข่าวบันเทิง เป็นเจ้าแม่ ความยิ่งใหญ่ของทีวีพูลนอกจากทรงอิทธิพล ความรุ่งโรจน์ที่เห็นคือการตีพิมพ์นิตยสารมากถึง 3 แสนเล่มต่อสัปดาห์ เฉพาะจ่ายค่ากระดาษสูงถึง 30 ล้านบาท ส่วนรายได้ไม่ต้องพูดถึง รับเหนาะๆ 800-900 ล้านบาท

เมื่อดิจิทัล ดิสรัป และบาดเจ็บจากทีวีดิจิทัลมหาศาล ปัจจุบันธุรกิจในมือ “เจ๊ติ๋ม” ปรับตัวไปไม่น้อย ทั้งนิตยสารที่เคยออกรายสัปดาห์ มาเป็นรายเดือน ยอดตีพิมพ์ลดเหลือเพียง “หลักหมื่นเล่ม” เท่านั้น และนำคอนเทนท์ องค์ความรู้ด้านข่าวบันเทิงไปนำเสนอบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook Youtube Twitter Instagram เว็บไซต์ เป็นต้น โดย Facebook ทำรายได้ให้สูงสุด

“ธุรกิจสื่อเดิมเล็กลงมากจริงๆ” เพราะรายได้ต่อปีปัจจุบันอยู่ที่ 40 ล้านบาทเท่านั้น “เมื่อก่อนทีวีพูล เราเน้นขายความเร็ว แต่วันนี้สื่อออนไลน์เร็วกว่ามาก”

 หากมองความสำเร็จในอดีตของทีวีพูล เจ๊ติ๋ม บอกคัมภีร์อยู่ที่ “ความขยัน”

พี่สอนทุกคนว่าความขยันจะช่วยให้ทุกคนเก่งได้หลายด้าน

ขณะที่ทีวิจิทัลก็ทำให้บริษัทเผชิญความล้มเหลวเช่นกัน พอเจอเรื่องทีวีดิจิทัล โอ้โห ..ถือว่าเป็นบทเรียนที่สาหัสสำหรับทุกคน ไม่แค่พี่คนเดียว เจ้าของทุกคนที่พูดคุยบอกว่าสาหัสที่สุดในชีวิตเลย เพราะ 30 ปี ของการทำทีวีพูล พี่ไม่เคยเจอความเจ็บปวดเลย และการยุติกิจการก่อนผู้เล่นรายอื่นๆ ยังทำให้ธุรกิจ “พ้นขีดอันตราย” ด้วย

ความล้มเหลวอาจทำให้นักธุรกิจบางราย “เข็ดหลาบ” แต่เจ๊ติ๋ม ยังคงแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เช่น การนำที่ดินกว่า 100 ไร่ ที่เขาใหญ่ มาพัฒนาโครงการเดอะ บลูม บาย ทีวีพูล ซึ่งเป็นโรงแรม รีสอร์ทที่มีสวนดอกไม้เป็นจุดขาย เพราะมองว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ สวนยังเต็มไปด้วย “สมุนไพรไทย” เช่น สมอภิเภก มะเกลือ มะเดื่อ ฯ นำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย บางส่วนจะนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ อีกทั้งสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากกัญชา แต่ไม่สนใจการเพาะปลูก

“ต้องการทำสตาร์ทอัพเพื่อพัฒนาสมุนไพรไทย ที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาช่วยในการผลิต ไม่ใช่แค่นำไปบดบรรจุลงแคปซูลเหมือนที่จำหน่ายในตลาด”

ส่วนธุรกิจหลัก “ทีวีพูล” ที่วันนี้เล็กลงมาก และไม่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต เจ๊ติ๋ม ยังมุ่งมั่นรักษา “แบรนด์” ไว้ เพราะถือเป็นสิ่งที่มี “มูลค่ามหาศาล” เพื่อรอว่าอนาคตจะมีปัจจัยที่ Amazing มาปลุกธุรกิจสื่อดั้งเดิมอีกครั้ง แต่ยอมรับว่าธุรกิจสื่อจะเฟื่องฟูเหมือนเดิมเป็นเรื่องยาก!

มองทีวีพูลจะกลับมายิ่งใหญ่ได้เหมือนเดิมไหม..ไม่เป็นไร ตอนนี้ขอยึดความสุขเป็นที่ตั้ง เพราะเชื่อว่าทุกอย่างจะกลับมาได้ แต่ต้องเกาะเกี่ยวสถานการณ์ไว้ คนเราล้มแล้วไม่ใช่จะล้มไปตลอด แต่เราต้องเตรียมตัว โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ เพราะสำคัญที่สุด