สายพระเนตรที่ยาวไกล พระมหากษัตริย์ไทย มุมไกรฤกษ์ นานา

สายพระเนตรที่ยาวไกล  พระมหากษัตริย์ไทย มุมไกรฤกษ์ นานา

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จวบจนถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ทรงวางรากฐานสร้างความมั่นคงให้ประเทศ ไม่เป็นเมืองขึ้นของใคร

...................

ก่อนหน้านี้พงศาวดารสยามไม่มีการตั้งรัชทายาทชัดเจน ในหลวงในรัชสมัยนั้น ก็จะสถาปนาพระอนุชาเป็นพระมหากษัตริย์ แต่ก็มีเหตุสวรรคตก่อนเกือบทุกพระองค์ เมื่อก่อนใช้ระบบวังหน้า วังหลัง กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงให้มีกฎมณเฑียรบาลแบบยุโรป เพราะการสถาปนาพระมหากษัตริย์ ยังไม่ได้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์โดยตรง” ไกรฤกษ์ นานา นักเขียนอิสระและนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ประจำนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เครือมติชน กล่าว และโยงให้เห็นว่า 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลที่ถูกต้องทุกประการ โดยพระองค์จะเป็นพระมหากษัตริย์ อันดับที่ 3 ที่เป็นสยามมกุฎราชกุมาร

ไกรฤกษ์ บอกว่า สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเป็นผู้ออกกฎมณเฑียรบาล ให้มีระบบสยามมกุฎราชกุมารตามแบบอังกฤษ โดยองค์ที่ 1 คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากดำรงตำแหน่งสยามกุฎราชกุมารได้เพียง 8 ปี ก็เสด็จสวรรคต ขณะมีพระชนมายุ 15 พรรษา) พระองค์ทรงเป็นพระเชษฐาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ 

ส่วนองค์ที่สอง คือ รัชกาลที่ 6 พระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 หลังจากสวรรคต พระองค์ทรงไม่มีพระราชโอรส ก็ต้องสถาปนาพระอนุชา คือ รัชกาลที่ 7 ครองราชย์ และพระองค์ทรงไม่มีพระราชโอรสอีก จึงต้องเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ คือ พระราชโอรสของพระอนุชาต่างพระมารดา จนมาถึงรัชกาลที่ 8 พระองค์ไม่ได้มีการอภิเษกสมรส จึงต้องเป็นพระอนุชาคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

“ตรงนี้จึงเป็นจุดพลิกผันใหม่ ที่ได้กลับมาใช้ระบบที่รัชกาลที่ 5 เปลี่ยนกลับมาใช้กฎมณเฑียรบาล ถูกต้องที่สุดคือ องค์รัชทายาท พระราชโอรสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งต่างชาติยอมรับ”

ทั้งหมดคือ ที่มาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ของในหลวง รัชกาลที่ 10 พระองค์เคยดำรงพระอิสริยยศ พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์ที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2515 

หากนับตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2453 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 109 ปี ครั้งนีี้เป็นการสืบราชสันตติวงศ์โดยพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

การสืบราชสันตติวงศ์

เหตุใดในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงให้มีการยกเลิกระบบการปกครองแบบวังหน้า วังหลัง เปลี่ยนมาเป็นกฎมณเฑียรบาลในเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ ไกรฤกษ์ เล่าว่า ตำแหน่งวังหน้า จะดำรงตำแหน่งโดยพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งต่างชาติไม่ยอมรับ เนื่องจากระบบการปกครองของโลกในแบบกษัตริย์จะให้ความสนใจกับระบบเก่าแก่ของอังกฤษ โดยในแถบยุโรปจะใช้ระบบการสืบราชสันตติวงศ์โดยรัชทายาท ซึ่งปัจจุบันระบบดังกล่าวยังใช้อยู่

ตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ พระชนมายุ 30 กว่าๆ ไกรฤกษ์ เล่าว่า ช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกา่ลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พระองค์ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ จึงมีความพร้อมทุกประการที่จะขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์

"ถ้าย้อนมาดูระบบอังกฤษ มีคนบอกว่า เจ้าชายแอนดรูว์ ทรงเหมาะสมที่จะเป็นกษัตริิย์องค์ต่อไป เจ้าฟ้าชาร์ลส์พรรษาเยอะแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องทำตามกฎมณเฑียรบาล  ยังคงเป็นเจ้าฟ้าชาร์ลส์ แต่ตอนนี้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ ทรงแข็งแรงมาก” อ.ไกรฤกษ์ กล่าว 

เปิดประเทศสร้างพันธมิตร

ด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกลของรัชกาลที่ 4 ทรงทราบว่าประเทศไม่อาจอยู่โดดเดี่ยวเหมือนในอดีต เนื่องจากช่วงสงครามฝิ่น จีนปฏิเสธที่จะติดต่อค้าขายกับฝรั่่ง และการติดต่อค้าขายกับจีน ทุกประเทศต้องทำตามระบบจีน คือ ถวายเครื่องราชบรรณาการ

“สมัยก่อนในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงให้ขุนนางดูแลทุกอย่าง เมื่อเจรจาเสร็จแล้วถึงจะมีโอกาสเข้าเฝ้า ระบบแบบนี้ต่างชาติรับไม่ได้ จนเมื่ออังกฤษและจีนไม่ถูกกัน ทางอังกฤษก็คิดวิธีทำลายสถาบัน โดยใช้ฝิ่นเป็นเครื่องมือ ให้มีการปลูกฝิ่นที่อินเดีย เมืองขึ้นอังกฤษ โดยห้ามคนอินเดียสูบฝิ่นและค้าฝิ่น แต่เอาฝิ่นไปขายที่เมืองจีน ตั้งแต่พระนางซูสีไทเฮาจนถึงกุลีจึงติดฝิ่น”

เหตุผลดังกล่าวทำให้จักรพรรดิจีน สมัยรัชกาลที่ 4 เผาฝิ่นที่เป็นสินค้าของอังกฤษ ทำลายสัมพันธภาพทางการค้า จนเกิดสงครามฝิ่น

“ตอนเกิดสงครามฝิ่น รัชกาลที่ 4 ทรงผนวชเป็นภิกษุสงฆ์อยู่ที่วัดราชาธิวาส พระองค์ทรงบวชอยู่ 27 ปี ตอนนั้นทรงคิดว่า อิทธิพลของโลกตะวันตกกำลังเข้าสู่ประเทศ จึงศึกษาจุดอ่อนและจุดแข็งของประเทศ พระองค์พบว่า สยามตอนนั้นใช้วัฒนธรรมประเพณีแบบจีนมากไป และสมัยนั้นนอกจากสงครามฝิ่น ยังมีเรื่องปฏิวัติอุตสาหกรรม อังกฤษเห็นว่าทางเอเชียมีวัตถุดิบในการทำอุตสาหกรรมเยอะ ขณะที่ชาติอื่นทำสงครามกัน อังกฤษก็แสวงหาอาณานิคม ทำให้อังกฤษเป็นผู้นำการปฏิวัติอุตสาหกรรม” ไกรฤกษ์ เล่า 

ว่ากันว่าการเปิดประเทศสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสงครามฝิ่น ตอนนั้นพระองค์ส่งจดหมายถึง เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เอกอัครราชทูตอังกฤษ ที่กำลังรบกับจีน ที่เกาะฮ่องกง สาเหตุที่เกิดสงครามเนื่องจาก หลายประเทศไม่ยอมการเปิดเสรีทางการค้า

“ผมก็เก็บรวบรวมหนังสือพิมพ์เหล่านี้ รัชกาลที่ 4 ทรงเชิญเซอร์ จอห์น เบาว์ริง มาทำสัญญาการค้ากับไทย ตอนนั้น เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ใช้คำว่า “ชัยชนะที่ได้มาด้วยความสงบสุข” เพราะถ้าเราไม่รีบทำสัญญา เขาก็จะเอากองทัพเข้ามาบังคับ ตอนที่ในหลวง รัชกาลที่ 4 เขียนถึงเซอร์ จอห์น พระองค์เขียนคำว่า My Dear Friend เพราะพระองค์ทำให้เห็นว่า สยามเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับทุกชาติ จุดนี้ฝรั่งเอาเราไม่ลง"

 

พระสหายต่างชาติ

ว่ากันว่า ในหลวงรัชกาลที่ 4 ตรัสภาษาอังกฤษได้ดี มีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติสองกลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ กลุ่มหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน และกลุ่มยุโรป คือ กลุ่มบาทหลวงชาวฝรั่งเศส โดยเฉพาะบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ สังฆราชวัดคอนเซ็ปชัญ ที่อยู่ใกล้วัดราชาธิวาส ซึ่งปกติชาวต่างชาติเวลาเดินทางมาไทยครั้งแรก จะต้องมาขอคำแนะนำจากบาทหลวงท่านนี้ก่อน

ไกรฤกษ์ เล่าต่อว่า รัชกาลที่ 4 อนุญาตให้ฝรั่งสองกลุ่มนี้ เปิดโบสถ์สอนศาสนาได้ และสอนพระสงฆ์ไทยได้ด้วย นอกจากนี้ยังให้ฝรั่งสองกลุ่มนี้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทย

เซอร์จอห์น เบาว์ริง เขียนเรื่อง The Kingdom and People of Siam และบาทหลวงอีกกลุ่มเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสเรื่อง The Kingdom of SIAM ทั้งสองเล่มนี้เปิดเผยบุคลิกภาพของในหลวงรัชกาลที่ 4

“ผมซื้อมาจากต่างประเทศกำลังจะเขียนเรื่องนี้ ซึ่งตอนนั้นรัชกาลที่ 4 ตรัสว่า เรื่องที่ฝรั่งเขียน ข้อมูลต้องเป็นของคนไทย  ทั้งเซอร์ จอห์น เบาว์ริง และบาทหลวงปาลเลอกัวซ์เป็นบุคคลที่สำคัญต่อประเทศไทยมาก แต่คนส่วนใหญ่ไปพูดถึงจุดอ่อนของสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ปรับตัวไม่ได้ แต่หารู้ไม่ว่า ฝรั่งทุกคนที่จะเข้ามาสยาม ต้องอ่านหนังสือสองเล่มนี้ ผมอ่านแล้ว ผมมองว่า รัชกาลที่ 4 ทรงวางรากฐานประเทศไว้ค่อนข้างมั่นคงมาก 

เรื่องที่คนไทยรู้เกี่ยวกับรัชกาลที่ 4 ผมมองว่า น้อยมาก ยกตัวอย่าง พระองค์ค่อยๆ ออกกฎหมายแบบผ่อนปรน ไม่เข้มงวด ซึ่งในอดีตพระมหากษัตริย์ไม่เคยทำมาก่อน โดยเอาฆ้องและกลองไว้หน้าพระราชวังให้ประชาชนมาร้องทุกข์ได้ เนื่องจากสมัยก่อนระบอบพระมหากษัตริย์จะห่างไกลจากประชาชนมาก  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ทรงเขียนไว้ว่า ตอนที่พระองค์สิ้นพระชนม์ ก็ไม่ได้วางไว้ว่า ใครจะเป็นองค์รัชทายาท แต่มีข้อสังเกตว่า ในสมัยจักรพรรดินโปเลียน เคยถวายเครื่องราชบรรณาการกริชให้รัชกาลที่ 4 และอีกเล่มถวายให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ บอกเลยว่า ขนาดจักรพรรดินโปเลียน มองว่า ตอนพระชนมายุ 15 ปี ทรงมีพระอัจฉริยภาพและรับใช้ใกล้ชิดพระราชบิดา

"ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพูดภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กๆ มีการครองราชย์สองครั้งคือ ตอนพระชนมายุ 15 ปี โดยมีผู้สำเร็จราชการ และตอนพระชนมายุ 20 โดยช่วงห้าปีก่อนครองราชย์ พระองค์เสด็จประพาส สิงคโปร์ ชวา มลายู อินเดีย พม่า และหนังสือพิมพ์สมัยนั้นทำให้รู้ว่า ราชวงศ์อังกฤษยอมรับจักรพรรดิญี่ปุ่นและกษัตริย์ไทยคือ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งตอนนั้นพระองค์เสด็จต่างประเทศ เพื่อหาพันธมิตร

นอกจากนี้มีหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Matin  ปี ค.ศ. 1941พูดถึงการครองราชย์ของรัชกาลที่ 8 ว่าเป็นพระนัดดาของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่เคยเสด็จเยือนยุโรปสองครั้ง โดยเขียนว่าจะดำเนินนโยบายดั่งเช่นพระอัยกา "

พระอัจฉริยภาพกษัตริย์

หากกล่าวถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ยาวนานเกือบ 70 ปี พระองค์ทรงใช้ประวัติศาสตร์ไทยของพระอัยกาในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และทรงเลือกเสด็จเยือนอเมริกาก่อน เพราะยุคนั้นมีปัญหาระบอบคอมมิวนิสต์ หลายประเทศแทบจะเอาตัวไม่รอด ตอนนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์ในลาวล่มสลาย เพราะระบบคอมมิวนิสต์

“เนื่องจากช่วงเวลาที่พระองค์ครองราชย์ เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุโรปกำลังย่ำแย่ อเมริกาต้องให้เงินสนับสนุนยุโรป ตอนเสด็จเยือนต่างประเทศ เส้นทางเสด็จประพาสยุโรปของรัชกาลที่ 9 พระองค์ก็ไปตามเส้นทางของรัชกาลที่ 5 ทุกประเทศ พระมหากษัตริย์และพระราชินีที่ให้การต้อนรับในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เป็นพระนัดดาของพระมหากษัตริย์ที่ให้การต้อนรับในหลวงรัชกาลที่ 5 

       ในหลวง รัชกาลที่ 9ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ แม่ทัพใหญ่ที่ยกพลขึ้นบกฝั่งนอร์มังดี ถ้าไม่มีประธานาธิบดีคนนี้ ยุโรปก็แย่ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งเมื่ออเมริกาต้อนรับในหลวง รัชกาลที่ 9 อย่างดี ทางยุโรปก็ต้อนรับอย่างดีด้วย"

ส่วนอีกเรื่องราวที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ก็คือประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศแพ้สงคราม 

กรณีนี้ ไกรฤกษ์เล่าว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยอยู่ฝ่ายญี่ปุ่น แต่ไม่ถูกจับเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เพราะพระราชกุศโลบายของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อีกอย่างเรามีเสรีไทยอยู่ที่อังกฤษ ซึ่งม.ร.ว. เสรี ปราโมช บอกนานาประเทศว่า เราจำยอมต้องเข้าข้างฝั่งญี่ปุ่น เพราะถูกบีบบังคับ 

“เสรีไทยเป็นอีกหน่วยงานที่ประคับประคองไม่ให้ประเทศเราอยู่ฝ่ายแพ้สงคราม แต่ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เสด็จประพาสอเมริกาและยุโรป ปี ค.ศ. 2003 ก็สำคัญมาก”

เนื่องจากพระราชกุศโลบายและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้า่อยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทำให้ประเทศไทยไม่ถูกรุกรานจากประเทศที่ฝักใฝ่ระบอบคอมมิวนิสต์ เรื่องนี้ ไกรฤกษ์บอกว่า ตอนนั้นถ้าไทยไม่ได้อเมริกา คงเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว 

“ผมมีภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 กับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปที่นครพนม ทหารที่นั่นไม่ใช่ทหารไทย เป็นทหารอเมริกันกำลังยันคอมมิวนิสต์จากฝั่งลาวที่กำลังจะเข้ามา ถ้าไทยไม่ได้ทหารอเมริกันกว่าหมื่นคน และไม่มีกษัตริย์เฉกเช่น ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เสด็จไปยืนยันว่า ไม่ได้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ประเทศก็คงแย่ นี่คือนัยยะเรื่องของการเมืองและการต่างประเทศ ส่วนในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงดำเนินนโยบายตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ”

ดังนั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี 2562 ถือว่าสำคัญต่อประเทศอย่างมาก 

....................

เรื่องโดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกาย