เศรษฐกิจอีสานขยายตัวต่อเนื่อง ใช้ไฟฟ้าพุ่งคาดอากาศร้อนจัด

เศรษฐกิจอีสานขยายตัวต่อเนื่อง ใช้ไฟฟ้าพุ่งคาดอากาศร้อนจัด

แบงค์ชาติเผยภาวะเศรษฐกิจอีสานยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงเหตุการส่งออกลดลง การใช้ไฟฟ้าไตรมาสแรกพุ่งทะเลเพดานคาดอากาศร้อนจัด ส่วนอสังหาริมทรัพย์ยังคงตัว

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แถลงภาวะเศรษฐกิจภาคอีสาน ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 โดยมีนายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นผู้แถลง

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจของภาคอีสานในไตรมาสแรกของปีนี้พบว่า มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันที่ขยายตัว จากปัจจัยสนับสนุนทั้งรายได้ในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่ขยายตัว รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวสูง จากรายจ่ายประจำเป็นสำคัญ ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงเล็กน้อย ตามการส่งออกที่ลดลง ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเนื่องกับการผลิตเพื่อการส่งออก เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง จากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราการว่างงานทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น

ส่วนการท่องเที่ยวขยายตัวดี ทั้งบริการหมวดที่พักแรมและอาหาร สะท้อนจากอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 62 สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา และส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้มาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ)

ในขณะที่มูลค่ากาารค้าผ่านด่าน ขยายตัวตามการส่งออกที่กลับมาขยายตัว จากการส่งออกผลไม้ไปเวียดนามและจีนตอนใต้ ตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และการส่งออกแผ่นโซล่าร์เซลล์ไปจีนตอนใต้ เพื่อใช้ในโครงการผลิตพลังงานสะอาด รวมทั้งการส่งออกเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ไปกัมพูชา ตามความนิยมของผู้บริโภคที่ชื่นชอบสินค้าไทย ขณะที่การนำเข้าชะลอตัว โดยการนำเข้าจากเวียดนามลดลงจากโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์มือถือ เนื่องจากมีการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่หลายรุ่น การนำเข้าจากสปป.ลาว ลดลงจากผลิตภัณฑ์ทองแดง ตามราคาในตลาดดลกที่ปรับลดลง รวมทั้งการนำเข้าจากกัมพูชาชะลอตัวลงจากมันเส้นเนื่องจากผลผลิตได้รับผลกระทบจากโรคใบด่าง

ส่วนการใช้ไฟฟ้าในไตรมาสแรกของปีนี้พบว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยประมาณร้อยละ 9.4 จากเดิมในช่วงเดียวกันของปี 2561 ใช้ไฟฟ้าเพียงร้อยละ 1.6 เท่านั้น ส่วนการใช้ไฟฟ้าในภาคบริการพบว่าสูงถึงร้อยละ 4.2 ในขณะที่ในช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละลบ 4.2 คาดเกิดจากอากาศร้อนและความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ในขณะที่การจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในไตรมาสนี้ลดลงมาก โดยมีเพียงร้อยละ 9 ในขณะที่ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมากถึงร้อยละ 28 ส่วนการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เช่นกันปีนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 9.5 แต่ปีนี้มีเพียงร้อยละ 0.7 เท่านั้น

ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคอีสานพบว่า ยังคงทรงตัวโดยมีการระบายสต๊อกเก่าที่เคยก่อสร้างเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่น คอนโดมิเนียมเดิมที่เคยลงทุนเอาไว้ เริ่มระบายสต๊อกที่คงค้างอยู่ โดยแนวโน้มของการลงทุนส่วนใหญ่เน้นในพื้นที่ใกล้สถาบันการศึกษาโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มนักศึกษาที่เช่าซื้อเพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนผู้ซื้อเพื่อเก็งกำไรมีแนวโน้มลดลง

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป รัฐบาลเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น รวมถึงการเจรจายุติสงครามกาค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมีความคืบหน้าต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบคือ ความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ผลกระทบของภัยแล้งที่อาจรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อาจชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้