กฟผ.จ่อใช้นวัตกรรมจัดการ ไฟฟ้าในอีอีซีคาดเสร็จปี63

กฟผ.จ่อใช้นวัตกรรมจัดการ ไฟฟ้าในอีอีซีคาดเสร็จปี63

เตรียมจัดทำโครงการต้นแบบนำนวัตกรรมบริหารจัดการไฟฟ้าพื้นที่อีอีซี คาดเร็วๆ นี้ เคาะเลือกนิคมฯนำร่องทดสอบระบบเสริมประสิทธิภาพ

นายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ว่าการอาวุโส การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนรองรับไฟฟ้าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ว่า กฟผ.อยู่ระหว่างประสานความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพื่อจัดทำโครงการต้นแบบร่วมกันในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในพื้นที่อีอีซีให้มีประสิทธิภาพ เป็นการทดสอบระบบและรองรับนวัตกรรมใหม่ๆ เบื้องต้น คาดว่า จะเริ่มนำร่องในโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EECi )ที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ของกลุ่ม ปตท. ได้ในปี2563 หากรูปแบบโครงการมีความชัดเจนในปีนี้

“สวทช.จะเป็นเจ้าภาพที่จะประสานงานกับ 2 รัฐวิสาหกิจคือ ปตท.และกฟผ.ซึ่งจะนำนวัตกรรมหรืองานวิจัยและพัฒนาฯที่เกิดขึ้นในEECi มาต่อยอดในการบริหารจัดการไฟฟ้า เช่น อาจนำระบบกักเก็บพลังงานมาทดลองใช้ เป็นต้น”

นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างกฟผ.กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ(กนอ.) นั้น ล่าสุดในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทั้ง 2 หน่วยงานได้ลงพื้นที่ร่วมกัน 2-3 นิคมฯ เพื่อคัดเลือก

นิคมฯต้นแบบในการบริหารจัดการไฟฟ้านอกระบบหลัก หรือ การบริหารจัดการไฟฟ้าระบบย่อย ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น คาดว่าจะสามารถคัดเลือกนิคมฯได้ในเร็วๆ นี้ และในอนาคตอาจนำแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานแห่งชาติ หรือ National Energy Trading Platform(NETP) ที่ขณะนี้ 3 การไฟฟ้า คือ กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) อยู่ระหว่างพัฒนาร่วมกันซึ่งจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ ไปทดลองใช้ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการกฟผ. กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างจัดทำเงื่อนไข”ทีโออาร์” เพื่อออกประกวดราคาหาผู้รับเหมาติดตั้งอุปกรณ์ปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น(Flexible Power Plant) นำร่องที่โรงไฟฟ้าวังน้อย (หน่วย 4) จ.อยุธยา มูลค่า 165 ล้านบาท คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2563