เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด

เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด

ไม่สนใจกระแสกดดันจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่กดดันให้เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยลง

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมเมื่อวันพุธ(1พ.ค.)ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 3 ของเฟดในปีนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ หลังจากที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีที่แล้ว

นอกจากนี้ เฟด ยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เฟดจ่ายให้แก่ธนาคารพาณิชย์ที่ได้นำสภาพคล่องส่วนเกินมาฝากไว้ที่เฟด โดยปรับลดลง 0.05% สู่ระดับ 2.35% เพื่อเป็นการรับประกันว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟด ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บระหว่างกันสำหรับการกู้เงินในช่วงข้ามคืน และเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เฟดใช้ควบคุมอัตราดอกเบี้ยอื่นๆในระบบเศรษฐกิจ จะยังคงอยู่ภายในช่วงเป้าหมาย 2.25-2.50%

เฟด ยังย้ำว่าจะใช้ความอดทนก่อนที่จะมีการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจากระดับ 2.25-2.50% ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เฟดได้ส่งสัญญานในการประชุมเมื่อเดือนมี.ค.ว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จากเดิมที่ระบุในการประชุมเดือนธ.ค.ปีที่แล้วว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ หลังจากที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 9 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2558

แถลงการณ์ของเฟด ยังระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่แข็งแกร่ง รวมทั้งมีการจ้างงานอย่างแข็งแกร่งในตลาดแรงงาน ขณะที่อัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ที่ 3.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี

นอกจากนี้ เฟดระบุว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยในระยะ 12 เดือน อัตราเงินเฟ้อโดยรวม และอัตราเงินเฟ้อสำหรับรายการนอกหมวดอาหารและพลังงานได้ปรับตัวลง และอยู่ต่ำกว่าระดับ 2%

ทั้งนี้ เฟดได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้ แม้ถูกกดดันจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

ปธน.ทรัมป์ ทวีตก่อนหน้านี้ เรียกร้องให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1% และใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ครั้งใหม่ ซึ่งหากเฟดมีการผ่อนคลายนโยบาย เศรษฐกิจสหรัฐก็จะพุ่งขึ้นเหมือนจรวด

“จีนกำลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่รักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ แต่ธนาคารกลางของเรายังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่หยุดหย่อน แม้ว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมาก และได้ใช้มาตรการคุมเข้มเชิงปริมาณ ที่จริงแล้ว เศรษฐกิจของเรามีศักยภาพที่จะพุ่งขึ้นเหมือนจรวด ถ้าเรามีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% และใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) โดยเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้ดีที่ระดับ 3.2% ในไตรมาสแรก แต่จากการที่เรามีเงินเฟ้อต่ำ จะสามารถทำสถิติใหม่ และลดหนี้สินของประเทศลงได้” ข้อความในทวิตเตอร์ ระบุ