ครม.ไฟเขียวแผนพีดีพีฉบับใหม่ 2561-2580 ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 5.6 หมื่นเมกะวัตต์

ครม.ไฟเขียวแผนพีดีพีฉบับใหม่ 2561-2580 ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 5.6 หมื่นเมกะวัตต์

ครม.ไฟเขียวแผนพีดีพีฉบับใหม่ 2561-2580 ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 5.6 หมื่นเมกะวัตต์ ปลดกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าเก่า 2.5 หมื่นเมกกะวัตต์ ตรึงค่าไฟเฉลี่ย 20 ปี 3.58 บาทต่อหน่วย

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.62 นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 -2580 (Power Development Plan: PDP2018) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

โดยแผน PDP2018 มีสาระสำคัญเป็นแผนหลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมถึงประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าในปี 2580 จำนวน 77,211 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันผลิตได้ 46,090 เมกะวัตต์ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว จะต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวน 56,431 เมกะวัตต์ และปลดกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุในช่วงปี 2561 - 2580 จำนวน 25,310 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามแผนพีดีพีฉบับใหม่ได้กำหนดราคาค่าไฟเฉลี่ย 20 ปีอยู่ที่หน่วยละ 3.58 บาท โดยกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 65% แยกเป็นก๊าซธรรมชาติ 53% และถ่านหินและลิกไนต์ 12 % ส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล มีสัดส่วน 35% ประกอบด้วย พลังน้ำจากต่างประเทศ 9% พลังงานหมุนเวียน 20% การอนุรักษ์พลังงาน 6% และถ่านหินลดลงไปอยู่ที่ 12%

นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 520 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวมกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 18,176 เมกะวัตต์ พลังงานหมุนเวียนตามแผนฯนี้จะมีการดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนปีละ 100 เมกะวัตต์ 10 ปี รวมเป็น 1,000 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มโครงการให้มีผลทางปฏิบัตติตั้งแต่ปี 2562 นี้เป็นต้นไป