กรมคุกเร่งคัดกรองโรคผู้ต้องขังก่อนปล่อย

กรมคุกเร่งคัดกรองโรคผู้ต้องขังก่อนปล่อย

"ราชทัณฑ์" จับมือกรมควบคุมโรค คัดกรองโรคผู้ต้องขังก่อนปล่อย ป้องกันการแพร่ระบาดสู่สังคมภายนอก หลังพบ "เอดส์ –วัณโรค" คร่าชีวิตอันดับ 1 ตายในเรือนจำเฉลี่ยปีละ 1,000 ราย

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.62 ที่ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง ปทุมธานี พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และน.พ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดโครงการ "คืนคนสุขภาพดี สู่สังคม" เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพในกลุ่มผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษ เฉลิมพระเกียรติในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเป็นการส่งเสริมพระราชกรณียกิจ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ ในฐานะทูตสันถวไมตรีโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ด้านการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก( UNAIDS Good Will Ambassador for HIV pervention in the Asia Pacific Region) และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา ในฐานะฑูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญาสำหรับภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้จาก UNODC

พ.ต.อ ณรัชต์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศมีผู้ต้องขังจำนวน 386,000 แสนคน ทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นคุก ยังไม่รวมกับผู้ต้องกักในคดีเมาแล้วขับอีกจำนวนหนึ่ง ขาดอีก 14,000 คน ก็จะมีผู้ต้องราชทัณฑ์ครบ 400,000 คนมีประเทศไทยมีนักโทษอันดับ 6ของโลก อันดับ 3 ของเอเชียและอันดับ 1ของอาเซียน ตามปกติเรือนจำทั่วประเทศรองรับนักโทษได้แค่ 150,000 คน และผู้คุม 1 คนสามารถดูแลนักโทษได้ 5 หรือคิดเป็น 1:5 แต่ปัจจุบันอัตราการดูแลผู้ต้องขังอยู่ที่ 1:35 หรือ 1:40 ซึ่งจำนวนนักโทษที่เพิ่มขึ้นจึงให้ระบบการดูแลสุขภาพนักโทษล้มเหลว หากมีโรคติดต่อหรือโรคระบาดในเรือนจำก็จะส่งต่อผู้ต้องขังไปด้วย ทำให้ในแต่ละปีจะมีนักโทษเสียชีวิตจากการเจ็บไข้ได้ป่วยปีละ 1,000 ราย และ 80 เปอร์เซ็นต์เกิดจากอาการป่วย ไม่รวมกับปัญหาการทะเลาะวิวาท การฆ่าตัวตายในเรือนจำและการพยายามหลบหนี

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า ในแต่ละเดือนจะมีผู้ต้องขังถูกปล่อยตัวประมาณ 3,000 คนและมีผู้ต้องขังใหม่เข้ามาประมาณ 5,000 คน จากการตรวจคัดกรองสุขภาพพบว่าผู้ต้องขังจะมีอาการป่วยก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในเรือนจำด้วยโรคต่างๆ เช่น เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วัณโรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผิวหนัง ฯลฯทำให้ผู้ต้องขังถือเป็นกลุ่มผู้เปราะบางด้านสุขภาพ บางรายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ต้องเสียชีวิตในเรือนจำ จึงต้องมีการคัดกรองสุขภาพผู้ต้องขังที่ยังอยู่ในเรือนจำและผู้ใกล้พ้นโทษก่อนปล่อยตัวเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม ซึ่งจากการมีการคัดกรอง ให้การบำบัดรักษาแล้ว ก็มีการแจ้งผลตรวจสุขภาพผู้ที่พ้นโทษไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวังและมีประวัติในการรักษาโรคต่อไป

ด้านน.พ สุวรรณชัย กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ทำการตรวจคัดกรองผู้ต้องขังทุกรายในเรือนจำทุกแห่ง พบว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้ต้องขังเสียชีวิตอันดับ 1 คือ โรคเอดส์และวัณโรค จากข้อมูลคาดการณ์ว่าความชุกของโรคมี ร้อยละ 3 โดยผู้ป่วยโรคเอดส์มีประมาณกว่า 10,000 คน จำนวนดังกล่าวสามารถยืนยันตัวบุคคลได้ชัดเจนแล้ว 5,900 รายที่เป็นผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งแพทย์ได้จ่ายยารักษาโรคตามปกติโดยให้ยาต้านไวรัส ในส่วนที่ไม่ทราบตัวตนเป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อHIV ได้ ดังนั้นกรมฯจึงจัดทำแผนเพื่อยุติปัญหาโรคเอดส์ในเรือนจำด้วย แต่ยังมีปัญหาเนื่องจากผู้ต้องขังได้ถูกย้ายกลับไปคุมในเรือนจำภูมิลำเนา จึงทำให้การติดตามผลการรักษาเป็นเรื่องยาก จึงต้องประสานกับกรมราชทัณฑ์เพื่อให้เกิดการรักษาอย่างต่อเนื่อง

“ปัญหาการเกิดโรคระบาดในเรือนจำ ป้องกันไม่ยาก หากเราสามารถคัดกรองตรวจโรคในระยะเริ่มต้นตั้งแต่แรกเข้าก็จะสามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคต่างๆในเรือนจำได้ หลังจากนี้กรมควบคุมจะเร่งตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองโรคในเรือนจำและทัณสถาน 17 แห่ง และจะขยายให้ครอบคลุมทุกเรือนจำทั่วประเทศต่อไป” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว