ศูนย์อำนวยการใหญ่ จิตอาสาพระราชทาน 904 มอบ สธ.ฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน

ศูนย์อำนวยการใหญ่ จิตอาสาพระราชทาน 904 มอบ สธ.ฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน

ศูนย์อำนวยการใหญ่ จิตอาสาพระราชทาน 904 มอบกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน ตั้งเป้า คนไทย 15 ล้านคน มีความรู้ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เพิ่มอัตราการรอดชีวิตภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ศูนย์อำนวยการใหญ่ จิตอาสาพระราชทาน 904 ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ประสานงานกับแพทยสภา ราชวิทยาลัยฯ ที่เกี่ยวข้อง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานโครงการ "ฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน" พัฒนาหลักสูตรมาตรฐานสำหรับประชาชน จัดทำแนวทางการปฏิบัติ และสื่อการสอนที่ประชาชนเข้าใจง่ายผ่านทางสื่อโซเชียล ตั้งเป้าหมายคนไทยร้อยละ 20 หรือ 15 ล้านคนมีความรู้ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และคนไทยมากกว่า 3.5 ล้านคน หรือ 1 ใน 20 สามารถปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานและใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) ได้

นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า โรงพยาบาลในประเทศไทย มีระบบการแพทย์ที่เป็นเลิศ ขณะที่นอกโรงพยาบาล การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Cardiopulmonary resuscitation: CPR) และการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) โดยประชาชน ทำได้น้อยมากและไม่ถูกต้อง ซึ่งเครื่องฟื้นคืน คลื่นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลตามกฎหมาย ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ใช้ได้ ทำให้สถานการณ์การรอดชีวิตภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) นอกโรงพยาบาลของประเทศไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ประมาณร้อยละ 2 ขณะที่ในสหรัฐอเมริการ้อยละ 48 และในประเทศส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 จึงจำเป็นต้องเพิ่มการฝึกอบรมประชาชน บุคลากรที่ฝึกสอน อุปกรณ์การสอน เช่น หุ่นฝึกการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และเพิ่มจำนวนและการกระจายเครื่อง AED ที่มีอยู่ในประเทศไทยให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนผ่านการฝึก CPR ให้ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

“เชื่อว่า ผู้ที่ผ่านการอบรมมีความรู้การช่วยชีวิต ฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน จะมีความรู้ไปตลอดชีวิต และยังแนะนำคนอื่นๆ ได้ ซึ่งจะทำให้การช่วยชีวิตนอกโรงพยาบาลมีอัตราเพิ่มขึ้น” นายแพทย์สุขุมกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการ เสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานประสานความร่วมมือ จัดทำแผนการดำเนินงานฝึกอบรม จัดทำคู่มือ สื่อการสอนมาตรฐาน CPR และการใช้ AED ที่มีความเหมาะสมสำหรับใช้อบรมประชาชน จัดทำระบบทะเบียนผู้ผ่านการอบรม CPR ซึ่งเป็นพลังเครือข่ายจิตอาสาทำความดีประมาณ 15 ล้านคน และมีช่องทางเช่น แอปพลิชันในการสื่อสาร และระบบข้อมูลปริมาณและการกระจายของเครื่อง AED โดยหน่วยงานต่าง ๆ เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์การฝึกอบรม ให้การอบรมบุคลากรในหน่วยงาน และอบรมประชาชน ให้เกิดระบบที่ยั่งยืน พึ่งตนเองได้ เช่น ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ บุคลากรในโรงพยาบาลทุกคน