'สมคิด' ดึงจีนลงทุนอีอีซี

'สมคิด' ดึงจีนลงทุนอีอีซี

รัฐบาลจีนดึงธุรกิจไทย ร่วมลงทุนรายมณฑลเชื่อมอีอีซี นำร่อง “เหอหนาน” ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน หวังรถไฟเร็วสูง 3 สนามบิน จุดประกายความร่วมมือ 3 ชาติ พัฒนาสมาร์ทซิตี้ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี สกพอ.เซ็นเอ็มโอยู “สนามบินเจิ้งโจว” ร่วมพัฒนาอู่ตะเภา

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสร่วมคณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation-BRF) ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ว่า รัฐบาลจีนให้เกียรติไทยสูงมาก แม้หลังการเลือกตั้งยังไม่มีรัฐบาลใหม่แต่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ได้พบผู้นำของจีนถึง 3 คน คือ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดี นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี และนายหาน เจิ้น รองนายกรัฐมนตรี

นายสี จิ้นผิง ได้กล่าวชมไทยที่เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiatives : BRI) ซึ่งทำให้โอกาสที่ไทยจะไปทำการค้าและการลงทุนเชื่อมมณฑลต่างๆ ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลและนักธุรกิจระดับมณฑล
พร้อมกันนี้ ได้แจ้งให้รัฐบาลจีนทราบว่า ได้นำคณะฝ่ายไทยเดินทางต่อมายังมณฑลเหอหนาน เพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับรัฐบาลมณฑลเหอหนาน ซึ่งรัฐบาลจีนสนับสนุนเต็มที่ จากที่ผ่านมาได้เชื่อมอีอีซีกับเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Greater Bay Area : GBA)

“การที่รัฐบาลไทยเดินทางมาจีนครั้งนี้ ทำให้โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) จบได้ด้วยดี ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ตกลงร่างสัญญาเรียบร้อยและส่งให้อัยการสูงสุดตรวจแล้ว เหลือเพียงเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะลงนามสัญญาได้เดือน พ.ค.นี้”

ชี้ไฮสปีดตั้งต้นร่วมมือ3ชาติ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า สกพอ.จะเร่งผลักดันรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งจะทำให้ชื่อของไทยติดตลาดไปอีกนาน โดยโครงการในอีอีซีเดินหน้า และเดือน พ.ค.นี้ โครงการหลักทั้งหมด 4 โครงการ จะลงนามกับผู้ชนะประมูล คือ 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.ท่าเรือแหลมฉบัง 3.ท่าเรือมาบตาพุด 4.สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

สำหรับการเจรจารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่เจรจาจบมีนัยสำคัญมาก เพราะเป็นโครงการแรกของความร่วมมือระหว่างจีนและญี่ปุ่นในการไปลงทุนประเทศที่ 3 โดยพันธมิตรของกลุ่มซีพี ประกอบด้วยบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ,China Railway Construction Corporation Limited (จีน) ,บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ,บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

“จีน-ญี่ปุ่น”พัฒนาเมืองใหม่อีอีซี

ทั้งนี้ พันธมิตรดังกล่าวอยู่ภายใต้การปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจบิก) ที่ปล่อยกู้หัวรถจักรยี่ห้อฮิตาชิและธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน (ซีดีบี) ที่ปล่อยกู้การก่อสร้างราง ซึ่งความสำคัญที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แต่เรื่องรถไฟความเร็วสูง แต่แสดงให้โลกเห็นความร่วมมือของการพึ่งพาประเทศในเอเชียด้วยกัน

“โครงการนี้เป็นความสำเร็จของความร่วมมือของภาคเอกชน 3 ประเทศ คือ ไทย จีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่นำไปสู่การร่วมมือโครงการอื่นในอีอีซี เช่น เมืองอัจฉริยะ และเมืองใหม่ จ.ฉะเชิงเทรา หรือ จ.ชลบุรี ซึ่งเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ จะมีประชุมร่วมระหว่างจีนและญี่ปุ่นอีกครั้งในการไปลงทุนในประเทศที่ 3 ขณะที่ประเทศไทยได้ขึ้นมาอยู่แถวหน้าหลังจากหายไปเกือบ 20 ปี”

“ไฮสปีด”โมเดลพัฒนาเมือง

นายคณิศ กล่าวว่า การผลักดันรถไฟความเร็วสูงเป็นโมเดลการพัฒนาเมือง โดยที่ไม่ใช่เพียงการพัฒนารถไฟอย่างเดียว และที่สำคัญโครงการนี้รัฐบาลจะใช้เงินลงทุนที่น้อยที่สุด เพราะเอกชนจะลงทุนส่วนใหญ่ อีกทั้งโครงการนี้ยังเป็นความร่วมมือของ 3 ประเทศ ที่จีนและญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมมือสนับสนุนจากสถาบันการเงินทั้งซีดีบีจากจีน และเจบิคจากญี่ปุ่น ส่วนเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ จะมาร่วมมือในโครงการ คือ จีนจะสร้างราง และญี่ปุ่นหารถมาวิ่งให้ ส่วนไทยจะเป็นผู้ที่ดูแลอำนวยความสะดวก

นอกจากนี้ สกพอ.มีแนวคิดการออกมาตรการรองรับความเสี่ยงในระหว่างการก่อสร้างโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักด้วย โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาหารือในรายละเอียด ซึ่งการดูแลความเสี่ยงครั้งนี้ อาจจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลด้านเงินทุน โดยหากภาคเอกชนประสบปัญหา เพราะจะช่วยให้โครงการลงทุนต่างๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยที่ไม่เกิดอาการสะดุด จนกระทบกับแผนงานในภาพรวมของโครงการในอีอีซี

จับมือจีนร่วมพัฒนาอู่ตะเภา

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา สกพอ.ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับรัฐบาลมณฑลเหอหนาน โดยมีนายสมคิด ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งสาระสำคัญของเอ็มโอยูฉบับนี้ มีอายุ 3 ปี ครอบคลุมความร่วมมือพัฒนาศูนย์การบินคู่ขนานและส่งเสริมการค้า และการลงทุนระหว่างเหอหนานกับอีอีซี โดยมีขอบเขตความร่วมมือส่งเสริมโครงการศูนย์การบินคู่ขนานสำหรับจีนตอนกลางและอาเซียน รวมถึงกระชับความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่สนามบินและพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน เช่น การขนส่งทางอากาศ การซ่อมบำรุงอากาศยาน การอบรมบุคลากร การค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยี

นอกจากนี้ จะตั้งศูนย์การบินมณฑลเหอหนาน ณ เขตเศรษฐกิจอากาศยานเจิ้งโจว รวมถึงศูนย์การบินประเทศไทย ท่าอากาศยานอู่ตะเภาหรือสถานที่อื่นที่เหมาะสมในอีอีซี รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ของแต่ละฝ่าย เช่น การจัดประชุมนิทรรศการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นในมณฑลเหอหนานและอีอีซี อีกทั้งขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการยกระดับสถานะไทยสู่การเป็นศูนย์กลาง โลจิสติกส์ คมนาคม ธุรกิจ อุตสาหกรรมเป้าหมายและเป็นประตูสู่อาเซียน

“การลงนามครั้งนี้จะเป็นผลดีที่ผลักดันโครงการให้เดินหน้าเป็นศูนย์ด้านการบินแบบเมืองคู่แฝด ระหว่างเจิ้งโจวและอู่ตะเภา และจากนี้ยังเหลือเอ็มโอยูอีกฉบับที่นายสมคิดมอบการบ้านให้ปรับปรุงรายละเอียดให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งคาดว่าเดือน พ.ค.นี้ สกพอ.จะลงนามกับคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (ซีอีอีซี) เพื่อร่วมมือพัฒนาการสร้างเมืองการบินต่อไป”