สศค.ลดคาดการณ์จีดีพี ปีนี้เหลือ3.8%

สศค.ลดคาดการณ์จีดีพี ปีนี้เหลือ3.8%

สศค.ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้จาก 4.0% เหลือ 3.8% ผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัว โดยคาดการส่งออกจะขยายตัวได้ 3.4% จากคาดการณ์เดิม 4.5% เป็นเหตุให้ออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งคลังจะเสนอครม.พิจารณามาตรการอังคารนี้ คาดช่วยจีดีพีขยับได้เพียง 0.1%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ในปี 2562จาก 4.0% มาอยู่ที่ 3.8% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 – 4.3% ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.1% สาเหตุหลักการปรับลดลงของการส่งออก โดยสศค.ได้ปรับลดคาดการณ์ส่งออกในปีนี้เหลืออยู่ที่ 3.4% จากเดิม 4.5%

“คาดการณ์เศรษฐกิจรอบนี้ปรับลดลงจากต้นปีเล็กน้อยจำนวน 0.2% เมื่อเราเห็นสัญญาณ เราจึงออกมาตรการมาพยุงเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ตกลงมาก โดยคาดว่า เม็ดเงินที่จะดำเนินการผ่านมาตรการกว่า 1 หมื่นล้านบาท จะสามารถพยุงเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เพิ่มราว 0.1% ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันนี้(30เม.ย.)โดยมาตรการจะมีอะไรบ้างขึ้นอยู่กับการพิจารณา เพราะแต่ละมาตรการก็มีต้นทุนที่ต่างกัน”

ทั้งนี้ สศค.มองเศรษฐกิจไตรมาสแรกและครึ่งปีขยายตัวในระดับ 3% ส่วนครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ 4.5-4.6% โดยครึ่งหลังของปีนี้ จะขยายตัวได้ดีขึ้น เป็นผลจากฐานการขยายตัวในครึ่งหลังของปีก่อนต่ำ ขณะที่ เม็ดเงินลงทุน จะเริ่มเข้าสู่ระบบมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจได้ปรับลดเม็ดเงินการลงทุนในปีนี้ลงไปแล้ว 3.5 หมื่นล้านบาท

เขากล่าวด้วยว่า สำหรับการส่งออกที่ลดลงเป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัวลง และผลกระทบจากนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ ส่งผลให้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน รวมทั้ง ได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายระยะเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA)

ขณะที่ แรงส่งจากโครงการลงทุนของภาครัฐยังคงจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2562 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในปีนี้ยังคาดว่าโครงการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าอีกด้วย ทั้งนี้ คาดการณืการลงทุนภาครัฐในปีนี้ จะขยายตัวได้4.6% จากคาดการณ์เดิม5.3% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 4.1% จากคาดการณ์เดิม4.5%

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนคาดว่า จะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างที่เพิ่มขึ้น ทั้งปีคาดว่า จะขยายตัวได้ 4.2% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 4.3%

ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 จะอยู่ที่ 1.4% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการที่สหรัฐฯ ยกเลิกการผ่อนผันมาตรการลงโทษต่อประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ขณะที่ เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 37.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 6.8%ของจีดีพี

“ทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อจากนี้ไปจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ภาครัฐจะมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจนระยะต่อไปผ่านการใช้จ่ายภายในประเทศ”