สธ.อบรมผู้สั่งใช้กัญชารุ่นแรก ย้ำไม่ใช่ทางเลือกแรกรักษาคนไข้

สธ.อบรมผู้สั่งใช้กัญชารุ่นแรก ย้ำไม่ใช่ทางเลือกแรกรักษาคนไข้

สธ.กำชับบุคลากรสาธารณสุขใช้กัญชารักษา ยึดหลัก 3 ข้อสำคัญ ย้ำไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษาคนไข้ ไฟเขียว 3 กลุ่มโรค ระบุ รพ.ที่มีสิทธิ์ใช้กัญชา ต้องขึ้นทะเบียนกับอย.ครบ 3 ส่วนทั้งแพทย์-เภสัชฯ-รพ. ใบอนุญาตมีอายุ 2 ปี

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.62 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในการเป็นประธานเปิดการอบรม “การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์”และบรรยายพิเศษ เรื่อง “Health policy for cannabis on medical use” โดยมีแพทย์ ทันตแพทย์และเภสัชกรจากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วประเทศเข่าร่วมราว 200 คนว่า ประเด็นสำคัญที่บุคลการทางการแพทย์ที่เข้ารับการอบรมเป็นผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์จะต้องพิจารณาในการที่จะสั่งใช้ให้กับผู้ป่วยมี 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ปลอดภัย(Safety) สารสกัดจากกัญชาปลอดภัยจากสารพาเจือปน และมีความเสี่ยงเกิดอันตรายต่ำเมื่อใช้รักษาผู้ป่วย 2.มีประสิทธิผลในการรักษา และ3.มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงการรักษา ผู้ป่วยเข้าถึงสารสกัดจากกัญชาอย่างเท่าเทียม ไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ใด หรือกลุ่มใดเป็นพิเศษ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ประโยชน์ของสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มโรค /ภาวะที่ได้ประโยชน์มีผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนชัดเจน ได้แก่ โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักดื้อต่อยารักษา ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปอดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆไม่ได้ผล 2.กลุ่มโรค ภาวะที่สารสกัดจากกัญชาน่าจะมีประโยชน์ในการควบคุมอาการของโรค ควรมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน วิจัยเพิ่มเติมในประเด็นความปลอดภัย และประสิทธิผล เพื่อสนับสนุนการนำไปใช้ คือ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง และผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และ3.กลุ่มโรค ภาวะที่อาจจะได้ประโยชน์ในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการศึกษาวิจัย

“สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องไม่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเป็นทางเลือกแรกในการรักษาโรคให้กับผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยจะต้องผ่านการรักษาตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานมาก่อนแล้วไม่ได้ผล และแพทย์จะต้องอธิบายข้อดีและผลกระทบจากการใช้กัญชาให้ผู้ป่วยเข้าใจจนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้หรือไม่ ยิ่งกว่านั้นจะต้องใช้เพื่อประโยชน์ของคนไข้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใครหรือกลุ่มใด เพราะที่ผ่านมากรมเคยเจอกรณีที่กรมขอเข้าไปเก็บข้อมูลจากคนไข้ที่ใช้กัญชาของกลุ่มใต้ดินเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ โดยได้รับแจ้งจากหัวหน้ากลุ่มว่าไม่ต้องไปถามคนไข้ มีอะไรให้ถามผม แบบนี้ก็น่าสงสัยในการใช้เช่นกัน”นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าอบรมรุ่นแรกนี้ หากผ่านการสอบประเมินได้คะแนนเกิน 60 % จะได้รับใบรับรองเป็นผู้ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ จากนั้นจะต้องนำใบรับรองไปขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เมื่อได้รับอนุญาตจึงจะสามารถสั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ ดังนี้ จะต้องดำเนินการผ่านในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยหากสถานพยาบาลที่ประสงค์จะใช้กัญชาจะต้องขึ้นทะเบียนกับอย.ด้วย และจะสั่งใช้ได้ในสถานพยาบาลนั้นได้ทั้งแพทย์และเภสัชกรจะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตทั้งคู่ โดยแพทย์เป็นผู้สั่งใช้และเภสัชกรจะเป็นผู้จ่าย จะมีใบอนุญาตเฉพาะส่วนไม่ได้ และจะต้องรายงาน ติดตามเฝ้าระวังการนำไปใช้ให้กับอย.เช่นเดียวกับการใช้มอร์ฟีน ทั้งนี้ ใบอนุญาตเป็นผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์จะมีอายุ 2 ปี จากนั้นจะต้องเข้ารับการอบรมใหม่ เนื่องจากความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับกัญชาเปลี่ยนแปลงเร็วมาก

“จากการศึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ถูกกฎหมายทั่วโลก พบว่ามี 35 ประเทศที่อนุญาตให้ใช้ทั้งหมด และ 14 ประเทศอนุญาตให้ใช้ได้เพียงบางส่วน โดยกลุ่มประเทศเอเชียตะวันเฉียงใต้(อาเซียน)มีเฉพาะประเทศไทยที่อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ โดยประเทศฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้ 47 ประเทศให้ใช้เชิงสันทนาการได้ และ 130 ประเทศกัญชายังเป็นสิ่งผิดกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้ทั้งทางการแพทย์และสันทนาการ” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ด้านนพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลในสังกัดกรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันโรคเฉพาะทางจะมีการดำเนินโครงการวิจัยกัญชาทางการแพทย์เช่นกัน ทั้งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันประสาทวิทยา สถาบันโรคผิวหนัง เบื้องต้นมีความต้องการใช้สารสกัดกัญชาราว 100 ลิตร ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ในแต่ละโรค ซึ่งจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับหลักวิชาการและปริมาณสารสำคัญที่ใช้

ทั้งนี้ สารสกัดที่จะนำมาใช้ในการวิจัยต้องมีความปลอดภัย จึงได้ประสานขอสารสกัดกัญชาจากองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ที่มีการปลูกกัญชาเองมาใช้ในการวิจัย หรือกลุ่มใดที่มีการผลิตสารสกัดกัญชาอยู่แล้วและมั่นใจว่ามีความปลอดภัย ไม่มีสิ่งเจือปนสามารถมาเข้าร่วมการวิจัยกับกรมได้เช่นกัน