ชี้ร่างกม.ตั้งใจให้มีปัญหา ซัดกลัวองค์กรไม่มีงานทำ

ชี้ร่างกม.ตั้งใจให้มีปัญหา ซัดกลัวองค์กรไม่มีงานทำ

"อนุฯการเมือง สนช." ​จวกคนร่างกฎหมายตั้งใจให้มีปัญหา ชี้กลัวองค์กรไม่มีงานทำ

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน กมธ. จัดสัมมนา เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของกมธ. พ.ศ.2557 - 2562 ซึ่งได้ศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อาทิ ระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมือง, องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และ ด้านการเมืองภาพรวม พร้อมกับแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ นำไปพิจารณา

ทั้งนี้นายกล้านรงค์ กล่าวเปิดสัมมนาตอนหนึ่งว่า การทำงานของ กมธ.ฯ​ที่ผ่านมาเป็นลักษณะของกัลยาณมิตร ผ่านการสอบถามความเห็นและให้ทำงานด้วยความสมัครใจ ขณะที่การทำงานที่ผ่านมา กมธ.ฯ ระมัดระวังการนำเสนอความเห็นเพื่อไม่ให้ฝ่ายใดนำความเห็นของ กมธ.ฯ ไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ขณะที่การทำงาน ของกมธ. ผ่านการลงพื้นที่ 33 จังหวัดและจัดเวทีรวมทั้งสิ้น 33 เวที ซึ่งเป็นการรับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะการทำงานของหน่วยงานและผู้บริหารท้องถิ่น ขณะที่การติดตามการทำงานขององค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นเพียงการติดตามการทำงาน แต่ไม่ใช่การแทรกแซงการทำงาน อย่างไรก็ตามยอมรับว่ากฎหมายที่ สนช. พิจารณา มีหน่วยงานที่รับกฎหมายไปปฏิบัติแปลความการใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่กรณีดังกล่าวสามารถตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพได้ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา77 กำหนดไว้

"กมธ.ฯ จะหมดหน้าที่ลง ประมาณวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก หลังจากที่ กกต. ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 9 พฤษภาคม จากวันดังกล่าว นับไป3 วัน จะเป็นขั้นตอน ทูลเกล้าเสนอรายชื่อ ส.ว. ดังนั้นจากวันนี้ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม บทบาทของกมธ.จึงไม่มีภารกิจใดต่อไป" นายกล้านรงค์ กล่าว

โดยนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง อนุ กมธ. ด้านการเมือง กล่าวตอนหนึ่งถึงผลการศึกษาว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ว่าการเลือกตั้ง ส.ว.ที่มาจากจังหวัดต่างๆ นั้นไม่ตอบโจทย์ด้านการทำงานแบบภาพรวม เนื่องจากการเลือกตั้งส.ว.ที่ระบุให้ใช้พื้นที่จังหวัดนั้นอาจเข้าไม่ถึงหรือทำงานในพื้นที่จังหวัดอื่น ทั้งนี้ อนุ กมธ. เคยเสนอให้ ส.ว. มาจากเลือกตั้งทางอ้อม โดยให้มีคณะพิจารณา ลักษณะคล้ายคณะกรรมการ ไพรมารี่โหวตท้องถิ่น โดยมีข้าราชการในพื้นที่ อาทิ ประธานศาลฯ , อธิการบดีสถาบันการศึกษา เป็นต้น มีส่วนร่วมในการพิจารณา ขณะที่การปฏิรูปการเมืองและการใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ตนมีความเห็นว่าปัญหาของเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน คือ การนำข้อกฎหมายไปสู่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในช่วงเปลี่ยนถ่ายบ้านเมือง ที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้เชื่อว่าหลังจากองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะมีข้อยุติและประเทศก้าวไปข้างหน้าได้

"อนุ กมธ.​ คาดไว้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น กรณีตีความกฎหมาย สำหรับกระแสที่เกิดขึ้นในสังคม ทุกฝ่ายต้องยอมรับกติกา การร่างกฎหมายไม่สามารถทำให้สมบูรณ์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่เช่นนั้นนักกฎหมายจะตกงาน เพราะไม่มีเรื่องต้องให้พิจารณา ทั้งนี้หลักการตีความรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องถามจากคนร่างกฎหมายก็ได้ เพราะตีความเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายไม่สำคัญเท่ากับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้มีหลายฝ่ายมองว่ารัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่ผมมองว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะกฎหมายที่ออกใหม่ย่อมมีปัญหาขึ้นได้ แต่ปัญหาตีความจะจบเมื่อนำเรื่องไปสู่ศาล" นายภัทรศักดิ์ กล่าว

ด้านนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธาน อนุ กมธ.ด้านระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมือง กล่าวว่าการทำงานของอนุฯ​ที่เป็นชิ้นเป็นอัน มีเพียงเรื่องการรายงานการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งได้นำเสนอต่อที่ประชุม สนช. เพื่อพิจารณา ขณะที่หลายเรื่องที่ อนุฯ ศึกษายังทำไม่แล้วเสร็จเพราะใกล้หมดเวลาทำงานของสนช. สำหรับประเด็นปัญหาของกฎหมายปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยสูตรคำนวณเพื่อหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง โดยตนมองว่ากฎหมายที่ถูกบังคับใช้ฉบับใหม่ หากพิจารณาเนื้อหาต้องพิจารณาจากถ้อยคำและการตีความ ผ่านการสอบถามผู้ร่างกฎหมาย แทนการวิเคราะห์ถ้อยคำเท่านั้น