'พลังเงียบ' ตัวแปรสำคัญต่อการเมือง

'พลังเงียบ' ตัวแปรสำคัญต่อการเมือง

"ซูเปอร์โพล" เปิดจุดยืนทางการเมืองของประชาชน ชี้พลังเงียบตัวแปรสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.62 สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง จุดยืนทางการเมืองของประชาชนดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง จุดยืนทางการเมืองของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,060 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่าง เดือนมีนาคม – เมษายน พ.ศ. 2562 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.1 ระบุจุดยืนทางการเมืองของตนเองเป็นกลุ่มพลังเงียบ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในขณะที่ไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลมีอยู่ร้อยละ 23.3 และกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมีอยู่ร้อยละ 20.6 ที่น่าสนใจคือ เมื่อแยกออกเป็นกลุ่มคนที่เป็นคอการเมือง และกลุ่มคนที่ไม่ใช่คอการเมือง พบว่า กลุ่มคนที่ไม่ใช่คอการเมืองส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.1 เป็นกลุ่มพลังเงียบ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด มากกว่ากลุ่มที่เป็นคอการเมืองเล็กน้อยคือร้อยละ 54.4 ที่ระบุเป็นกลุ่มพลังเงียบ แต่กลุ่มคอการเมืองร้อยละ 25.2 สนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มไม่ใช่คอการเมืองที่มีอยู่ร้อยละ 20.7 ระบุสนับสนุนรัฐบาล

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 ระบุเป็นกลุ่มพลังเงียบ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ กลุ่มผู้ชายมีสัดส่วนของกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 25.8 มากกว่าหญิงที่มีอยู่ร้อยละ 21.2 และกลุ่มผู้ชายมีสัดส่วนไม่สนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 23.5 มากกว่าหญิงที่มีอยู่ร้อยละ 17.8 เช่นกัน

เมื่อจำแนกกลุ่มที่ระบุจุดยืนทางการเมืองออกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า นักศึกษาเป็นกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลน้อยที่สุดคือ ร้อยละ 2.9 ไม่สนับสนุนรัฐบาลมากที่สุดคือร้อยละ 37.1 ในขณะที่ กลุ่มพนักงานเอกชนสนับสนุนรัฐบาลมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐคือร้อยละ 35.1 ต่อร้อยละ 22.6 อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.8 และร้อยละ 60.0 ระบุเป็นกลุ่มพลังเงียบ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า สัญญาณเตือนภัยในความขัดแย้งรุนแรงบานปลายเริ่มก่อตัวขึ้น แต่ยังพอจะควบคุมสถานการณ์ได้ ถ้ารัฐบาลและฝ่ายอำนาจรัฐไม่ปฏิบัติการกับฝ่ายตรงข้ามแบบเหมารวม (Stereotype) ยกเข่งกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพราะข้อมูลจุดยืนทางการเมืองของประชาชนครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพลังเงียบที่ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง คนกลุ่มนี้ยังอยู่ตรงกลาง ไม่สนับสนุนและไม่ต่อต้านรัฐบาลชัดเจนโดยเห็นได้ชัดในกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มเกษตรกร ดังนั้น รัฐบาลยังมีโอกาสบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้