“รู้ทัน-ปรับตัว-พัฒนา” เพื่อโอกาสบนโลกออนไลน์

“รู้ทัน-ปรับตัว-พัฒนา” เพื่อโอกาสบนโลกออนไลน์

นักวิชาการ-วิชาชีพในวงการสื่อ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความเห็นในยุคดิจิทัล ที่สื่อออนไลน์เข้ามีบทบาทสำคัญ พลิกโฉมการรับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

นักวิชาการ-วิชาชีพในวงการสื่อ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความเห็นในยุคดิจิทัล ที่สื่อออนไลน์เข้ามีบทบาทสำคัญ พลิกโฉมการรับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีทั้งก้อนหินและดอกไม้ เผยต้องรู้ให้เท่าทัน ปรับตัวให้สอดคล้อง และเร่งพัฒนาความรู้ เพื่อสร้างโอกาสในยุคออนไลน์ครองวงการสื่อสารมวลชน

สัมมนา “สื่อเต็มเลย 5” ซึ่งจัดขึ้นโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ ม.เนชั่น ศูนย์บางนา เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ อาคาร E88 Bangkok ถนนสุขุมวิท บีทีเอสพระโขนง ภายใต้หัวข้อ “รู้ทันโลกออนไลน์ มหันตภัย หรือ ดอกไม้..เต็มเลย” เป็นเวทีในการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ กับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของวงการสื่อสารมวลชน เพื่อแบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ และร่วมหาแนวทางการแก้ปัญหา รวมถึงการปรับตัวอย่างเหมาะสมในการใช้สื่อบนโลกออนไลน์

สำหรับช่วงเช้า มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลในหัวข้อ “ดาบสองคมสื่อไร้สาย มองมุมกลับ ปรับมุมมอง” โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย คุณอมรลาภ พรหมสุวรรณ เจ้าของเพจ “จ๊อด 8 ริ้ว” คุณกำภู หุตะสังกาศ ที่ปรึกษาบริษัท Creative Juice Bangkok พร้อมด้วยคุณกาลเวลา เสาเรือน ผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์ทีวี แล ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัล มาร่วมถกประเด็นเหรียญสองด้านของสื่อออนไลน์

คุณอมรลาภ มองว่า สื่อดิจิทัล หรือ สื่อออนไลน์เป็นโอกาสที่ดี ถ้าไม่มีเฟสบุ๊ก เขาก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักแบบนี้ ผลงานการ์ตูนเคยถูกปฏิเสธจากหลายสำนักพิมพ์ แต่หลังจากเผยแพร่ผลงานผ่านเฟสบุ๊ก มีคนมาติดตามเป็นจำนวนมาก หลายสำนักพิมพ์กลับมาเรียกเขาให้เอาไปเสนออีกครั้ง แต่สื่อออนไลน์ก็ไม่ได้เป็นดอกไม้สำหรับเขาอย่างเดียว เพราะการเปิดเผยตัวตนทำให้เขาต้องระมัดตัวเองในทุกด้านมากขึ้น แม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน

“ถ้าไม่มีเฟสบุ๊ก ผมก็ไม่รู้ว่าต้องเสนองานกี่สำนักพิมพ์ถึงจะมาอยู่ตรงนี้ได้ แต่พอเราเปิดเผยหน้าตาแล้ว ก็ต้องระวัง ต้องวาดการ์ตูนเป็นกลาง เพราะจะถูกคุกคามเหมือนกัน เราโดนเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่นบ้าง เป็นพี่ยักษ์เฟดเฟ่บ้าง เป็นดาวขำมินบ้าง แล้วแต่เขาจะติด แต่พอมาดูแล้วเราทำให้เขาคุ้นเคยกับเราไปเรื่อยๆ เขาก็จะคุ้นชินกับเราไปเอง” คุณอมรลาภ กล่าว

 ส่วนคุณกาลเวลา หรือ ปอเปี๊ยะ อธิบายเกี่ยวกับการปรับตัวเพื่อทำงานในยุคดิจิทัลว่า การทำงานทุกอาชีพมีการปรับตัว ซึ่งก็เหมือนกับขายบางสิ่งให้ผู้บริโภคหรือลูกค้า ถ้าเขาชอบแบบไหนเขาถนัดแบบไหน เราปรับเปลี่ยนให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเขา เราปรับเปลี่ยนแค่นั้นเราอยู่ได้ โลกออนไลน์มีด้านดีเยอะมาก แต่ด้านลบก็เป็นดาบที่คมมาก เพราะฉะนั้นต้องปรับแล้วก็รู้ทันด้วยในฐานะที่เป็นสื่อ สื่อต้องรู้ทันเป็นคนแรกๆ เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของสื่อออนไลน์

 ผู้สื่อข่าวสาวคนนี้เล่าว่า ย้อนไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เธอเคยแจ้งจับเสี่ยหื่นที่เสนอขอให้เธอเป็นเมียน้อย โดยเสนอเงินให้เดือนละ 222,000 เจอกันเดือนละ 3 ครััง แล้วก็มีการส่งรูปโป๊เปลือยของผู้หญิงหลายคน รวมถึงรูปของลับของตัวเขาเองมาให้ โดยเจตนาจริงๆมองว่า มีคนโดนแบบนี้เยอะลองล่อซื้อดีไหม เพื่อดูว่าขบวนการนี้มันเป็นยังไง แต่สุดท้ายกลับย้อนมาโดนตัวเธอเอง ไม่คิดว่าจะเจอกับตัว โชคดีที่ผู้ใหญ่ทางสถานีบอกแบบนี้มันคือการคุกคาม จึงไปแจ้งความจับคนเหล่านั้นในข้อหาส่งรูปมาคุกคาม และ ส่งรูปโป๊เปลือยคนอื่นซึ่งไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นตกเป็นเหยื่อด้วยหรือเปล่า

 “วันนั้นหลังจากข่าวลงแล้ว เชื่อไหมคะว่าไม่เคยคิดว่าจะเจอกับตัวก็เจอทุกอย่างเลย ไม่ว่าคนจะบอกว่าหน้าแบบนี้ 2,000 ยังไม่เอาเลย หรือ ถ้าจะเอาคนนี้ให้หนูดีกว่าไหมคะแค่ 2,000 หนูก็ไป หรือผู้ชายบางคนบอกว่า สวยตรงไหน ก็มีการติเตียนเรื่องภาพลักษณ์ ตอนนั้นทุกเพจทั้งวิดีโอ ทั้งข่าวมีการกดไลค์ กดแชร์ หลักหมื่นหลักแสน แต่ในจำนวนนั้น 99.99เปอร์เซ็นต์คือบูลลี (การคุกคาม)” คุณกาลเวลาเล่า

 เธอบอกด้วยว่า ตอนนั้นถึงขั้นปิดโซเชียลทุกอย่าง เพราะยังไม่รู้เท่าทันสื่อ แล้วรู้เลยว่าน้องๆที่เคยโดนแบบนี้ หรือใครที่เคยโดนแบบนี้รู้สึกอย่างไร าเข้าใจหัวอกของเขาแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ดึงเธอขึ้นมาได้คือ เธอกล้าที่จะลุกขึ้นมาเพื่อบอกว่า ทำแบบนี้มันไม่ถูก และเพื่อบอกว่าผู้หญิงที่กล้าสู้ยังมีอยู่ในโลก อยากจะบอกว่าน้องๆ สามารถลุกขึ้นมาปกป้องตนเองได้ ถึงแม้จะโดนบูลลีต่างๆนานา

 “แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ เมื่อเราถูกบูลลีหรือถูกคุกคามแล้ว ห้ามไปบูลลีเขากลับ เราไม่ชอบอะไรก็อย่าทำแบบนั้นกลับไป เขาว่าเราเขาดูถูกเราไม่เป็นไรเขามีสิทธิ์ สิ่งที่เราจะทำให้เขาเห็นคือ เราจะไม่ไปว่าเขากลับ เราจะไม่ไปตอบโต้ แล้วมันก็สามารถหยุดได้จริงๆ อาจเป็นเพราะคนอาจหลงลืมไปแล้ว เรายังอยู่ตรงนี้ได้เพียงแค่เราไม่ตอบโต้กลับแบบเดียวกับที่เราโดนค่ะ” ผู้สื่อข่าวสาวคนนี้แนะนำ

 ขณะที่คุณกำภู เล่าถึงประสบการณ์ในการสร้างสรรค์งานโฆษณาว่า  ในกระบวนการของเอเจนซีค่อนข้างยากที่จะทำให้เกิดผลลบ เพราะต้องผ่านหลายด่านมาก ตั้งแต่ผู้บริหาร ลูกค้า คือจะถูกกลั่นกรองหลายด่านมาก จึงยากมากที่จะออกมาแล้วเกิดผลลบ แต่บางงานก็มีบ้างที่ออกมาเป็นผลลบ แต่ว่าอันนั้นต้องเป็นการยอมรับร่วมกันระหว่างเอเจนซี่และลูกค้าเอง เพราะเหมือนกับเราเป็นหุ้นส่วนกัน เมื่อเกิดผลลบออกมาก็ต้องทางแก้

 ด้านดร.สิขเรศ พูดถึงอิทธิพลของสื่อออนไลน์ในปัจจุบันว่า เป็นเรื่องดีในแวดวงสื่อมวลชน เป็นโอกาส แต่ยุคนี้มีการผลิตคนอ่านข่าวเอไอขึ้นมาทำหน้าที่อ่านข่าวแทนมนุษย์แล้ว เอไอเหล่านี้สามารถทำงานแทนได้ ดังนั้นผู้ประกาศต้องมีการอภิวัฒน์ตัวเอง ในการที่จะทำงานแบบเจาะลึก เพื่อให้มีผลงานที่เอไอทำไม่ได้ ซึ่งเขามองว่าเป็นโอกาสในการผลักดันให้เกิดการพัฒนา

 "อย่าโยนอะไรทุกอย่างให้รัฐบาล หรือคสช.อย่างเดียว ทุกอย่างมันเริ่มจากเรา เราซื้ออุปกรณ์ทั้งหมด แต่อย่าใช้วาทกรรมอย่างเดียว เราต้องดูสภาพความเป็นจริงด้วย สังคมของเราอยู่ระหว่างหน้าผาที่เราจะไต่ไปที่สูงได้ หรือว่าเราจะตกลงมา อยู่ที่ตัวคุณเองต้องเลือกว่าจะขึ้นที่สูงหรือโดดลงมา เช่นกันครับบ้าน โรงเรียน ทุกสถาบันต้องช่วยกัน ทำสังคมให้กลับมาเป็นสังคมที่ดี ไทยแลนด์ 4.0 จะไม่มีความหมายเลย ถ้าเราเพิกเฉยเรื่องรู้เท่าทันสื่อ” ดร.สิขเรศ กล่าว

 ส่วนช่วงบ่าย เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นในประเด็น “รุก รับ จับกระแส แข่งอย่างไรให้อยู่รอด” โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ ในการสร้างเพจด้วยตัวเอง ประกอบด้วย   คุณอดิศักดิ์ น้อยแจ่ม เจ้าของเพจ “ReviewHere”  คุณกล้ายุทธ ช่างยันต์ เจ้าของเพจ “ลาพักเที่ยว” และคุณจักรกฤษณ์ กุสุมาพรรณโญ เจ้าของเพจ “Buffalo Gags” ร่วมพูดคุยถึงแนวทางการสร้างสรรค์เนื้อหาการทำเนื้อหาออนไลน์

 คุณอดิศักดิ์ เล่าผ่านมุมมองของการทำเพจออนไลน์ว่า เขาทำเพจเฟสบุ๊กเริ่มจากศูนย์ โดยมีแนวคิดว่า ทุกอย่างบนโลกนี้สามารถรีวิวได้ พอคิดออกก็เริ่มทำเพจเลยไม่รีรอ และถามตัวเองว่า ชอบอะไรจริงๆ และก็ดูว่าทำคนเดียวไหวมั้ย เคยมีเบื่อบ้าง และหงุดหงิดบ้าง แต่ให้คิดย้อนไปวันแรกว่า ในวันนั้นสนุกกับมันขนาดไหน ทำให้ความรู้สึกเบื่อและหงุดหงิดเหล่านั้นหายไป

 เพจของคุณอดิศักดิ์ ใช้ชื่อว่า ReviewHere ภายใต้แนวคิดทุกอย่างบนโลกใบนี้สามารถรีวิวได้ แม้แต่น้ำเปล่าก็สามารถรีวิวได้ โดยใช้เสน่ห์ความไม่เหมือนใครตรงนี้ทำให้ ขณะนี้ เพจ ReviewHere มียอดผู้ติดตามมากกว่า 5 แสนคน และเปิดมาแล้วสามปี เขาได้เผยเคล็ดลับนักออนไลน์ยุคใหม่ว่า ให้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และมีความคิดสร้างสรรค์ไม่หยุดอยู่กับที่

 ด้านคุณกล้ายุทธ เล่าว่า เมื่อเดือนที่แล้วเขารู้สึกเบื่อกับงาน เพราะบางทีถูกตีกรอบจากลูกค้า รู้สึกเหมือนกับกลับไปเป็นพนักงานออฟฟิศอีกครั้ง ทำให้ไม่อยากทำเพจแล้ว แต่วิธีที่แก้คือออกไปรีเฟรชตัวเองให้รู้สึกมีแรงบันดาลใจ ซึ่งเพจของเขาใช้ชื่อว่า ลาพักเที่ยว มีเคล็ดลับในการทำเพจว่า ช่วงแรกควรจะลงเนื้อหาทุกวัน อย่าห่างหายจากเพจไปนานมาก เพราะถ้ามันหายไปแล้วก็หายไปเลย กลับมายาก และเนื้อหาข้อมูลของเราควรมีการเกาะกระแสบ้าง และพยายามคิดหรือทำอะไรนอกกรอบ จะทำให้เราสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ดีด้วย

 ขณะที่คุณ จักรกฤษณ์ ให้คำแนะนำว่า ปัญหาหลักในการทำเพจคือ คิดมุขไม่ค่อยออก ถ้าคิดมาแล้วไม่มีอ้างอิง พอโพสลงไปจะทำให้คนไม่เข้าใจมุขที่เล่น นอกจากต้องเกาะกระแส สมัยนี้ถ้าไม่ทันกระแสจะไปได้ไม่ไว และต้องคิดอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ส่วนตัวเขาพยายามไม่เกาะกระแส และไม่โพสต์บ่อยโดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 โพสต์ต่อวันเท่านั้น เราเป็นผู้สร้างเพจการใช้กลยุทธิ์เชิงรุกจะดีที่สุด ไม่ควรรอ ถ้ามัวแต่รอกระแสแล้วไม่คิดอะไรเลย มันจะทำให้เพจดูนิ่งเกินไป ไม่น่าสนใจ

 เจ้าของเพจ Buffalo Gags ที่เปิดเพจมากว่า 9 ปี ให้เคล็ดลับในการทำเพจว่า บางทีสิ่งที่ไม่ตั้งใจคิดก็ทำให้ลูกเพจชอบ มียอดไลค์ยอดแชร์มากกว่าบางเรื่องที่คิดเยอะมากๆ แต่คนแชร์น้อย มันก็ย้อนแย้งเหมือนกัน ทำให้คิดว่าแล้วจะคิดมากไปทำไม การเล่นมุขอะไรที่ง่าย คนเข้าใจง่าย มันก็ทำให้เนื้อหาสามารถแพร่ออกไปได้ไวกว่า อยากทำอะไรก็ทำไปก่อน หาเอกลักษณ์ของตัวเองให้เจอ สร้างบุคลิกของตัวเองให้ชัดเจน