สหรัฐฯ คงสถานะทรัพย์สินทางปัญญาในบัญชีที่ต้องจับตามอง

สหรัฐฯ คงสถานะทรัพย์สินทางปัญญาในบัญชีที่ต้องจับตามอง

"พาณิชย์" เผยพอใจสหรัฐประกาศไทยยังอยู่ในบัญชีที่ต้องจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา ชี้ ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการค้า

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2562 โดยในปีนี้ประเทศไทยสามารถรักษาสถานะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch list: WL) ได้ต่อไป หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ปรับสถานะไทยให้ดีขึ้นจากบัญชีที่ต้องจับต้องพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็น WL เมื่อปี 2560
ในการประกาศครั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ชื่นชมนโนบายและความก้าวหน้าด้านการคุ้มครองและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะการที่ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการปราบปรามการละเมิด โดยได้กำกับดูแลและติดตามความคืบหน้า การดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และมีการทำงานเชิงบูรณการของหน่วยงานด้านการปราบปราม การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่งทำให้เกิดผลที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม


นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้ชื่นชมการดำเนินการคุ้มครองและส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาในหลายด้าน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การมีระบบจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศภายใต้พิธีสารมาดริดฯ การเสนอแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการจดทะเบียนและเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ รวมถึงการปราบปรามการละเมิดทั้งในท้องตลาดและบนอินเทอร์เน็ต


แม้สหรัฐฯ จะแสดงความชื่นชมในความพยายามของไทย แต่ไทยยังคงต้องมุ่งมั่นพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา อย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะการปราบปรามการละเมิดฯ การปรับปรุงพัฒนากฎหมาย และการเพิ่มประสิทธิภาพการจดทะเบียนสิทธิบัตร เป็นต้น


นางสาวชุติมาฯ กล่าวว่า การที่ไทยสามารถรักษาสถานะการคุ้มครองฯ ได้ในปีนี้ นอกจากการเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนของนักลงทุนสหรัฐฯ แล้ว การดำเนินการของไทยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเหมาะสมกับระดับการพัฒนาประเทศ อีกทั้ง ยังกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานและปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ