เร่งเทิร์นอะราวด์ งานด่วน 'นายหญิง' UMI

เร่งเทิร์นอะราวด์ งานด่วน 'นายหญิง' UMI

กลับมาพลิกฟื้นธุรกิจ 'เทิร์นอะราวด์' ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ด้วย 4 กลยุทธ์ ผลักดันยอดขายเติบโตต่อเนื่อง วิชั่นต่อไปของ 'ปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์' นายหญิง 'สหโมเสคอุตสาหกรรม'

ผ่านมา 5 ปี กลับมานั่งคุมบังเหียน บมจ. สหโมเสคอุตสาหกรรม หรือ UMI อีกครั้ง !! ของ 'ปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์' หนึ่งในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ UMI หลังจากใช้เวลาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตัวเองจากกรณีถูก 'สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์' (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษผู้กระทำผิดกรณีสร้างราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น UMI (ระหว่างวันที่ 9 ม.ค. ถึง 28 ก.พ. 2556) แต่เธอไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบความผิด ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ 

ทว่า เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เธอได้รับการ 'ปลดล็อก' ภายหลังได้รับหนังสือจาก ก.ล.ต. ว่า ไม่พบว่าขาดความน่าไว้ว่างใจเรื่องคุณสมบัติของกรรมการบริหารบริษัท นั่นหมายความว่า เธอสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์แล้วว่าไม่ได้เป็นไปตามข้อกล่าวหาของ ก.ล.ต. และถูกลบออกจาก Blacklist เรียบร้อยแล้ว !!

'ปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์' ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท บมจ. สหโมเสคอุตสาหกรรม หรือ UMI ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิค ภายใต้แบรนด์ 'ดูราเกรส' บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า เธอกลับมาครั้งนี้พร้อมนำ 'วิชั่น' มาพลิกฟื้น 'สหโมเสคอุตสาหกรรม' ให้เติบโตต่อไป คือการ 'เพิ่มยอดขาย-ลดต้นทุน' โดยในปัจจุบันต้นทุนของบริษัทถือว่าต่ำแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่ต้องเร่งโฟกัสคือการเพิ่มยอดขายให้เพิ่มขึ้นจากในอดีต   

สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการย้อนหลัง 2 ปี (2560-2561) ที่พลิก 'ขาดทุนสุทธิ' อยู่ที่ 25.31 ล้านบาท  และ 77.10 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 2,527.70 ล้านบาท และ 2,417.20 ล้านบาท 

ฉะนั้น แผนธุรกิจ 3 ปีข้างหน้า (2562-2564) ที่จะฟื้นยอดขายให้กลับมาเติบโต 'ด้วย 4 กลยุทธ์' คือ 1.รุกตลาดตัวแทนจำหน่ายหรือผู้จัดจำหน่าย (Dealer) ที่ปัจจุบันบริษัทมีกว่า 30 รายทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีการทำตลาดร่วมกับดีเลอร์แต่อาจจะยังไม่มากส่งผลให้ยอดขายลดลง แต่หลังจากนี้บริษัทจะร่วมมือทำการตลาดกับดีเลอร์ให้มากขึ้น เนื่องจากมองว่าดีเลอร์สามารถที่จะเพิ่มยอดขายให้ได้ในปีนี้อย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากฐานลูกค้ายังต่ำ จากปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากดีเลอร์ และ ร้านค้า 'ปลีกสมัยใหม่' (Modern Trade) 

2. ขยายตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ซึ่งปัจจุบันบริษัทกำลังการตลาดในประเทศลาวได้ดีมาก และในปีนี้กำลังจะขยายตลาดเข้าไปในประเทศ 'เมียนมาและกัมพูชา' เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความต้องการ (ดีมานด์) ระดับสูง และอยู่ไม่ไกลจากประเทศไทย รวมทั้งเป็นช่วงที่ประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนาและการลงทุนก่อสร้าง โดยในปีนี้บริษัทมีโอกาสที่จะเพิ่มดีเลอร์อีก จากปัจจุบันมีอยู่ 1 รายเท่านั้น 

ทว่า อุปสรรคของการส่งออกกระเบื้องเซรามิคคือ สินค้ามีน้ำหนักมาก ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูง ปัจจุบันกระเบื้องเซรามิคมีการผลิต อย่างกว้างขวางทั่วทุกภูมิภาคในโลกทำให้มีการแข่งขันสูง และหากต้องส่งไปขายในตลาดซึ่งมีระยะทางยิ่งไกลจะยิ่งทำให้เสียเปรียบในด้าน ต้นทุนค่าขนส่ง เมื่อต้องแข่งขันกับผู้ผลิตที่อยู่ใกล้ตลาดมากกว่า 

'คาดว่าปีนี้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 10-12% จากปีก่อนที่มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศไม่ถึง 10%'  

3. รุกตลาดซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) โดยในปีนี้บริษัทมีแผนเพิ่มสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในเมืองไทยมากขึ้น จากการจ้างผลิต (OEM) ภายใต้มาตรฐานของบริษัทและติดแบรนด์ของบริษัทด้วย เนื่องจากการ OEM มีต้นทุนต่ำกว่าที่บริษัทจะผลิตสินค้าเอง โดยล่าสุดบริษัทพึ่งเดินทางไปดูโรงงานในประเทศอินเดีย ในการจ้างผลิตสินค้าและนำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย หลังจากที่ผ่านมาบริษัทมีการนำสินค้าจากโรงงานในประเทศจีนเข้ามาแล้ว 

'การเข้าไปในอินเดียถือว่าประสบความสำเร็จ อนาคตจะเน้นสินค้าเทรดดิ้งไม่ใช่เราผลิตเอง ดังนั้นบริษัทตั้งเป้าหมาย 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้สินค้า OEM จะอยู่ที่ 30% และสินค้าที่ผลิตเอง 70% จากปัจจุบัน OEM 10% และที่เหลือ 90% ผลิตเอง' 

และ 4. ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce โดยเมื่อปี 2561 บริษัทเปิดเว็บไซต์ของตัวเอง ซึ่งถือว่าได้รับกระแสตอบรับจากลูกค้าทั่วไปและดีเลอร์ที่ดี เนื่องจากในเว็บไซต์ของบริษัทมีจำนวนสินค้าให้เลือกหลากหลาย รวมทั้งมีข้อมูลให้ครบถ้วน และยังมีบริการหลังการขายทั้งการติดกระเบื้อง โปรโมชั่นตามฤดูกาลต่างๆ อีกด้วย 

'นายหญิงUMI' บอกต่อว่า แผนธุรกิจดังกล่าวจะช่วยให้ UMI พลิกกลับมา 'เทิร์นอะราวด์' ได้ในปี 2562 (งบเดี่ยว) แต่หากผลปกระกอบการรวมคาดว่าจะใช้เวลา 3 ปี ที่บริษัทจะกลับมาเป็นกำไรสุทธิ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทต้องรับขาดทุนสุทธิของบริษัทลูก คือ บริษัท ที.ที.เซรามิค จำกัด (มหาชน) หรือ TTC ที่มีผลประกอบการขาดทุน แต่ปีนี้คาดว่าจะมีผลประกอบ TTC จะขาดทุนสุทธิน้อยลงแล้ว  

ทั้งนี้ ตลาดเมืองไทยปัจจุบันมีปริมาณการใช้กระเบื้องเซรามิคเฉลี่ยเพียงประมาณ 3 ตารางเมตรต่อคนต่อปี ดังนั้น ตลาดยังมีโอกาสและช่องทางการเติบโตอีกมาก  เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีปริมาณและการใช้กระเบื้องเซรามิคสูงกว่าประเทศไทย  '2-4 เท่าตัว' ซึ่งสินค้ากระเบื้องเซรามิคมี ความเหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้นเช่นประเทศไทยมาก ฉะนั้นในอนาคตปริมาณความต้องการก็ยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นมาก 'ปวีณาย้ำให้ฟัง' !!

นอกจากนี้ ในไตรมาส 2 ปี 2562 บริษัทการออกสินค้ากระเบื้องตัวใหม่ที่เข้าเทรดของ 'ผู้สูงอายุ' โดยเป็นกระเบื้องกันลื่น ถือเป็นกระเบื้องนวัตกรรมที่เข้ากับเทรดของโลก คาดว่าจะวางจำหน่ายทั่วไปได้ราวไตรมาส 2 นี้ และจะช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังได้ ซึ่งบริษัทจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ แบบนี้ออกมาสู่ตลาดเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง 

รวมทั้งการนำเข้า 'กระเบื้องยาง' (ไวนิล) ที่ปัจจุบันกำลังกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เนื่องจากมีคุณสมบัติเบา ติดง่าย และกันเสียงดัง ซึ่งตอนนี้บริษัทมีการนำเข้ามาจากประเทศจีนจำหน่ายในเมืองไทย ยอดขายยังไม่มากเนื่องจากพึ่งนำเข้า แต่เชื่อว่าหลังจากมีการทำตลาดมากขึ้นจะช่วยให้ยอดขายเติบโตอีกมาก 

และนอกจากสินค้าที่เป็นกระเบื้องแล้ว บริษัทยังมีการนำเข้ากลุ่มสินค้าวัสดุปิดผิว ลามิเนต façade รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ในการติดตั้ง เช่น ยาแนว คิ้ว และในอนาคตบริษัทจะขยายการบริการในรูปแบบ one stop มากขึ้น ตั้งแต่การออกแบบถึงติดตั้ง ซึ่งมีเป้าหมาย 2-3 ปีข้างหน้า กลุ่มนี้จะมีสัดส่วนการขายประมาณ 10-15%  

'ปัจจุบันเราอยู่ระหว่างการเริ่มต้นทำตลาด ในครึ่งปีหลังจะเริ่มบุกตลาดมากขึ้น ด้วยการนำเสนอสินค้ากระเบื้องยางเข้าไปตามโครงการต่างๆ เชื่อว่าจะได้รับความนิยมเพราะมีลวดลายสวยงามให้เลือกจำนวนมาก'   

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจวัสดุก่อสร้าง มีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตของ 'ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ' หรือ จีดีพี ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจมีความผันผวนรวดเร็วและตลอดเวลา แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจในปีนี้ยังคงเติบโตระดับ 3-4% ต่อปี และการลงทุนของภาครัฐยังคงมีอย่างต่อเนื่องในโครงการขนาดใหญ่ ขณะที่การส่งออกมีความไม่แน่นอนสูงจากการกรีดกันทางการค้า (กรณีหาข้อสรุปไม่ได้) 

ทั้งนี้ มองว่าปี 2562 ตลาดวัสดุก่อสร้างจะดีกว่าปีก่อน เนื่องจากรัฐบาลน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เอกชนมีการลงทุน การท่องเที่ยวเติบโตดีด้วยมาตรการผ่อนผันและเอื้อให้นักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจยังเติบโตได้อีก 

ท้ายสุด 'ปวีณา' ทิ้งท้ายว่า อนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า บริษัทก็ได้อานิสงส์การลงทุนโครงการรถไฟฟ้าด้วย เพราะว่ากระเบื้องก็เป็นหนึ่งในวัสดุตบแต่งตามสถานีต่างๆ ซึ่งตอนนี้โครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าตอนนั้นยอดขายของบริษัทจะเติบโตได้อีกมาก 

46 ปี กว่าจะมาเป็น UMI 

'ปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์' ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท บมจ.สหโมเสคอุตสาหกรรม หรือ UMI เล่าให้ฟังว่า จากจุดเริ่มต้นวันแรกที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาในปี 2516 รวมอายุ 46 ปี เริ่มต้น 'ธุรกิจผลิตกระเบื้องแผ่นเล็ก หรือ โมเสค' ก่อนจะขยายสู่กระเบื้องแผ่นใหญ่ จนปัจจุบันบริษัทผลิตกระเบื้องได้ถึงขนาด 60X60 เซนติเมตร ภายใต้แบรนด์ดูราเกรสและเซอเกรส 

เธอ ย้อนอดีตให้ฟังว่า เข้ามาพลิกฟื้นธุรกิจจากบริษัทมีตัวเลข 'ขาดทุนสะสมเกินทุน' เนื่องจากขายสินค้าไม่ได้ อันมาจากเกิดจากปัญหา 3 อย่าง คือ ไม่มีตลาด , ผลิตสินค้าไม่ได้ และ ไม่มีเงินทุน รวมทั้งเมืองไทยยังไม่รู้จักสินค้ากระเบื้องโมเสค โดยเข้ามาฟื้นฟูกิจการจากยอดขายปีละไม่ถึง 100 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขายระดับพันล้านบาท   

สำหรับกระเบื้องดูราเกรส ผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิคเจาะกลุ่มลูกค้าระดับ B ขึ้นไป ส่วนแบรนด์เซอเกรสสำหรับกระเบื้อง Porcelain หรือแกรนิตโต้ เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับ B+ ขึ้นไป และกลุ่มลูกค้าโครงการ ปัจจุบันบริษัทมีตัวแทนจำหน่ายกว่า 600 ราย โดยตลาดหลักอยู่ในประเทศ

'ใช้เวลาล้างขาดทุนสะสมหมด 12 ปี แต่เริ่มมีกำไร 3 ปีแรก'   

ตอนนั้นตลาดเมืองไทยยังไม่ค่อยมีใครรู้จักกระเบื้องโมเสคคืออะไร? โดยมีการนำโมเสคเข้ามาเดือนละ 90 ตัน ขณะที่บริษัทมีผลิตได้เดือนละ 1.4 แสนตารางเมตร ฉะนั้น ตอนนั้นมีทางเดียวคือต้องหาตลาดใหม่ๆ ไม่เช่นนั้นบริษัทจะไม่สามารถฟื้นฟูกิจการขึ้นมาได้เลย ช่วงนั้นจึงหาตลาดต่างประเทศ เริ่มที่ฮ่องกง , สิงคโปร์ , มาเลเซีย , เยอรมัน จนกระทั้งมีสัดส่วนส่งออก 90% ของยอดที่ผลิตได้