นายกฯ ชี้ยุทธศาสตร์ทางสายไหมสำคัญต่อการพัฒนายุทธศาสตร์โลก

นายกฯ ชี้ยุทธศาสตร์ทางสายไหมสำคัญต่อการพัฒนายุทธศาสตร์โลก

“นายกฯ” ขอบคุณ “จีน” ต้อนรับอบอุ่น ชมพัฒนาศก.ก้าวกระโดด ย้ำ "ไทย" มุ่งสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนทั้งในและนอกภูมิภาค ชี้ยุทธศาสตร์ทางสายไหม สำคัญต่อการพัฒนายุทธศาสตร์โลก

เมื่อวันที่ 26 เม.ย.62 เวลา 15.55 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงปักกิ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation - BRF) ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยภายหลังการหารือพล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
 
นายกรัฐมตรี กล่าวขอบคุณรัฐบาลจีนสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นในการเยือนจีนครั้งนี้ และยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation - BRF) ครั้งที่ 2 สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของจีนและประเทศผู้เข้าร่วมอื่น ๆ ในการสนับสนุนข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงในภูมิภาค ไทยพร้อมเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างจีน ประเทศกลุ่ม ACMECS และอาเซียน นายกรัฐมนตรีหวังว่า ทุกฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดิจิทัล เทคโนโลยีและนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกัน ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมวิสัยทัศน์ของผู้นำจีนที่พัฒนาและปฏิรูปประเทศจนมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจีน ไทยหวังว่าจะได้ร่วมมือกับจีนเพื่อเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันต่อไป
 
ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยผู้นำไทย และจีนต่างยินดีที่ทั้งสองประเทศ มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิด และผลักดันความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่รอบด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงให้มีผลเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณรัฐบาลจีนในการรับเสด็จพระราชวงศ์ และการต้อนรับการเยือนระดับสูงของไทยในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมกล่าวเชิญนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในห้วงการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ครั้งที่ 14 ที่ประเทศไทยด้วย
 
สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายต่างมองว่า ไทยและจีนยังมีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจได้อีกมาก เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ตั้งไว้ที่ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยยินดีอย่างยิ่งที่มีส่วนสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติ (China International Import Expo) ครั้งที่ 1 และไทยพร้อมเข้าร่วมงานดังกล่าวในปีต่อไป โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวเชิญชวนผู้ประกอบการของจีนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 ของจีนด้วย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การซ่อมบำรุงอากาศยาน ระบบราง เป็นต้น

ในส่วนของความร่วมมือโครงการรถไฟไทย – จีน นายกรัฐมนตรียินดีที่มีการลงนามบันทึกความร่วมมือเส้นทางเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างหนองคายและเวียงจันทน์ พร้อมเน้นย้ำว่า ไทยได้เร่งรัดให้โครงการรถไฟไทย – จีน ให้คืบหน้าตามกำหนด จึงขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป  
 
เรื่องความร่วมมือ 3 ฝ่าย (ไทย – จีน – ญี่ปุ่น) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า การพัฒนาโครงการ EEC จะเป้นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค รวมทั้งเป็นประตูเชื่อมโยงจีนผ่านเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียงต่อไป นายกรัฐมนตรีเชิญชวนจีนให้นำคณะเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่ EEC ใน 12 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยไทยมีสิทธิประโยชน์ให้แก่นักลงทุนต่างชาติในพื้นที่ดังกล่าว อาทิ การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร การถือครองกรรมสิทธิในที่ดิน เป็นต้น
 
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้ให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน – จีน ค.ศ. 2030 ซึ่งจะเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งและส่งเสริมความร่วมมือบนผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ภายในปีนี้ ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยไทยยินดีที่จีนตอบรับเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษในเดือนสิงหาคมปีนี้

นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนปีการแลกเปลี่ยนสื่อมวลชนอาเซียน – จีน ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างความเข้าใจในระดับประชาชนของทั้งสองประเทศ ผ่านการร่วมผลิตภาพยนตร์และสารคดี กิจกรรมสัมมนาสื่อมวลชนอาเซียน – จีน เป็นต้น