'ไออาร์พีซี' ปั้นแรงงานทักษะสูง

'ไออาร์พีซี' ปั้นแรงงานทักษะสูง

“วิทยาลัยไออาร์พีซี” จับมือเอกชนในพื้นที่จัดสรรทุนการศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีชั้นสูงหวังป้อนความต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมายอีอีซี พร้อมร่วมสัตหีบโมเดล สถาบันการศึกษาจับมือเอกชนผลิตแรงงานตรงความต้องการตลาด

นายรุ่งนิรัญ เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี เปิดเผยถึงการผลิตบุคลากรรองรับการขยายตัวของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซีตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.ระยอง ซึ่งอยู่ในเขต อีอีซี ดังนั้นจึงมีภารกิจสำคัญในการผลิตบุคลากรช่างเทคนิคชั้นสูง เพื่อรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมากในพื้นที่นี้

ทั้งนี้ เตรียมขอสนับสนุนทุนการศึกษาจากบริษัทเอกชนต่างๆ เพิ่มและเปิดให้นักศึกษาใช้ทุนของตัวเองในการเรียน ซึ่งคาดว่าอาจจะเพิ่มจำนวนนักศึกษาได้อีก 1 เท่าตัว แต่ไม่สามารถจะเพิ่มได้มากกว่านี้ เนื่องจากหาครูผู้สอนในสาขาวิชาดังกล่าวยากและเครืองมือต่างๆที่ใช้ในการเรียนการสอนก็มีราคาแพง อย่างไรก็ตามวิทยาลัยก็มีแผนที่จะสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทางเลือก และศูนย์ฝึกอบรม เพื่อยกระดับความสามารถแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาวิทยาลัยฯ ได้ตั้งสาขาวิชาปิโตรเคมี, สาขาเทคนิคพลังงาน และสาขาเคมีอุตสาหกรรม ล่าสุดภายในเดือนพ.ค.นี้ จะเปิดสาขาแมคคาทรอนิค และหุ่นยนต์ ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยทั้ง 4 สาขา จะสามารถผลิตนักศึกษาได้สาขาละ 20 คน รวมทั้ง 4 สาขาจะผลิตได้ 80 คนต่อปี ซึ่งนักศึกษาที่เข้าเรียนใน 4 สาขาวิชานี้ จะได้รับทุนการศึกษาจากบริษัทในเครือ ปตท. และภาคเอกชนในจังหวัด โดยนักศึกษาจะได้ทุนคนละ 2 แสนบาทต่อปี หรือรวมทั้งหมด 4 แสนบาทตลอดหลักสูตร 2 ปี

จบหลักสูตรได้งานทันที
สำหรับหลักสูตรทั้ง 4 สาขาวิชานี้ จะเรียนในห้องเรียน 1 ปี และฝึกงานในโรงงาน 1 ปี หลังจากเรียนจบได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.0 ได้คะแนน TOEIC ไม่ต่ำกว่า 350 คะแนน ก็จะได้เข้าทำงานในเครือ ปตท. หรือบริษัทเอกชนที่ให้ทุนสนับสนุนทันที มีเงินเดือนรวมรายได้ต่างๆเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน

ส่วนนักศึกษาที่จะเข้าเรียนทั้ง 4 หลักสูตรนี้ จะต้องมีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 2.75 ผ่านการเรียนรักษาดินแดน (รด.) และจะต้องเข้าสอบคัดเลือก โดยจะแบ่งเป็นโควตานักศึกษาในจ.ระยอง 50% และนักศึกษาจากจังหวัดอื่นๆ อีก 50% มีอัตราการแข่งขันประมาณ 1 ต่อ 7

“ทั้ง 4 สาขา ที่กล่าวมานี้ ในประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาไม่กี่แห่งที่ผลิตบุคลากรเหล่านี้ เช่น สาขาเคมีอุตสาหกรรมทั้งประเทศมีเพียง 2 แห่ง สาขาปิโตรเคมีมีเพียง 3 แห่ง สาขาเทคนิคพลังงานมีเพียง 6 แห่ง และล่าสุดสาขาแมคคาทรอนิค และหุ่นยนต์ ที่กำลังจะเปิดในเดือนพ.ค.นี้ ในพื้นที่อีอีซี มีความต้องการบุคลากรด้านนี้สูงมาก เพราะรูปแบบการผลิตจะมุ่งไปสู่การใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ”

ดึงเอกชนร่วมดันการศึกษา
นายรุ่งนิรัญ กล่าวว่า เพื่อรองรับกับความต้องการบุคลากรสายอาชีวะที่เพิ่มขึ้นใน อีอีซี วิทยาลัยฯได้เตรียมที่จะเข้าร่วมโครงการสัตหีบโมเดล หรือ อีอีซีโมเดล โดยจะเป็นวิทยาลัยอาชีวะแห่งที่ 13 ที่จะเข้าร่วม ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการคาดว่าจะลงนามเข้าร่วมได้ในเร็วๆ นี้ โดยจะเพิ่มความร่วมมือกับโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ อีอีซี ให้เข้ามาร่วมผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของบริษัทต่างๆ มากที่สุดในรูปแบบทวิภาคีฝึกงานในโรงงานอย่างเข้มข้น

โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับบริษัท โกรเฮ่ จ.ระยอง ซึ่งโรงงานแห่งนี้ใช้ระบบการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่ทันสมัย จึงต้องการบุคลากรช่างเทคนิคชั้นสูง จึงได้ให้ทุนการศึกษา 5 ราย เรียนฟรี มีเสื้อผ้า ที่พักอาศัยทุกอย่างฟรี และได้เงินเดือนตั้งแต่เดือนแรกที่เข้าเรียน หรือเข้าเป็นพนักงานของบริษัททันที ซึ่งนักศึกษาทั้ง 5 รายนี้ จะเข้าเรียนในหลักสูตรพิเศษจะเข้าฝึกงานที่โรงงานตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ และเสาร์-อาทิตย์จะเรียนในห้องเรียน ซึ่งนักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้จะมีความเชี่ยวชาญด้านปฏิบัติงานสูง และมีรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งในอนาคตวิทยาลัยฯ จะขยายความร่วมมือกับโรงงานต่างๆ ในอีอีซีต่อไป โดยจะขยายในกลุ่มโรงงานจากประเทศเยอรมนีก่อน และจะขยายไปทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

“ในหลักสูตร 4 สาขาหลัก จะเรียน 1 ปี ฝึกงาน 1 ปี หลักสูตรทั่วไปจะเรียน 1 ปี 6 เดือน และฝึกงานในโรงงาน 6 เดือน แต่หลังสูตรสัตหีบโมเดล จะเน้นการฝึกงานในโรงงานมากกว่านี้ จะผนึกกับผู้ประกอบการอย่างแน่นแฟ้น เพื่อให้นักศึกษาที่จบออกมาสามารถทำงานได้ทันที และตรงกับความต้องการ เพราะเป็นการร่วมกันออกแบบหลักสูตรระหว่างวิทยาลัยกับโรงงาน”

นอกจากนี้ วิทยาลัยฯ ยังมีการเรียนการสอนในหลักสูตรปกติทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ปวส. ในสาขาช่างยนต์, ช่างกล, ช่างไฟฟ้า, ช่างอิเล็กทรอนิกส์, เทคโนโลยีสารสนเทศ, คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และบัญชี โดยจะผลิตบุคลากรกลุ่มนี้ได้ประมาณปีละ 400-450 คน โดยผู้ที่จบสาขาอาชีวะพื้นฐานเหล่านี้ ยังมีความต้องการสูงในพื้นที่ อีอีซี เพราะทุกอุตสาหกรรมก็ต้องใช้บุคลากรช่างพื้นฐานเหล่านี้ แต่หากต้องการบุคลากรเฉพาะทางชั้นสูง ก็สามารถนำผู้ที่จบ ปวส. ในสาขาเหล่านี้ไปฝึกอบรมต่อยอดได้ เช่น นำผู้ที่จบสาขาช่างกล ข่างยนต์ไปฝึกอบรมต่ออีกประมาณ 6 เดือน ก็สามารถทำงานด้านออโตเมชั่น และหุ่นยนต์ได้แล้ว

สำหรับหลักสูตรวิชาชีพสาขาต่างๆของวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี จะมีการทบทวนปรับหลักสูตรให้ทันสมัยทุกๆ 3 ปี จะเชิญสถานประกอบการต่างๆ มาร่วมวิเคราะห์ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เทคโนโลยี และรูปแบบการผลิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

วอนเลิกค่านิยมจบปริญญา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความต้องการบุคลากรด้านอาชีวะจะมีความต้องการมากขึ้น แต่อัตราการเข้าเรียนในระดับอาชีวะกลับไม่เพิ่มขึ้นและมีอัตราที่ลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดของไทยลดลง และประชาชนยังมีค่านิยมในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยมากกว่าแม้ว่าจะประสบกับปัญหาตกงานสูง แต่ทั้งนี้ในช่วงหลังสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เห็นได้จากมีนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้ามาเรียนต่อ ปวส. เพิ่มมากขึ้นปีละ 20-30% ซึ่งในระดับ ปวส. วิทยาลัยฯสามารถรองรับได้อีกมาก

“ในโลกยุคปัจจุบันบุคลากรอาชีวะ ไม่ได้ใช้ในเรื่องฝีมือทักษะเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องใช้สมองด้วย ดังนั้นผู้ที่จบอาชีวะ จึงมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานไม่น้อยกว่าด้านอื่นๆ และผู้ที่จบ ปวส. สามารถเรียนต่อปริญญาตรีวิศวกรรมด้านต่างๆ ได้ และมีข้อได้เปรียบด้านทักษะการทำงานที่สูงกว่า”

f017b170d7dbbb219dd3386dd0fd596a