'กัลฟ์' ทุ่มแสนล้านลุยลงทุนนอก

'กัลฟ์' ทุ่มแสนล้านลุยลงทุนนอก

“กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี” ประกาศทุ่มงบ 1 แสนล้าน ขยายลงทุนโรงไฟฟ้าต่างประเทศ ตั้งเป้ากำลังผลิตใน 6 ปีข้างหน้าโตเฉลี่ยปีละ 20% พร้อมยืนยันเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และแหลมฉบัง

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยหลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ว่าบริษัทได้ปรับแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ โดยจะเน้นโครงการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ไม่เอื้อต่อการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน บริษัทจึงหยุดแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศแล้วหันมาขยายการลงทุนในต่างประเทศแทน โดยตั้งเป้าในอนาคตสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าในต่างประเทศจะแซงหน้ากำลังการผลิตในประเทศ

ปัจจุบันบริษัทกำลังศึกษาแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศอยู่หลายโครงการ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าจากเขื่อนพลังงานน้ำที่ประเทศลาว เพื่อสอดรับกับแผน PDP ฉบับใหม่ที่จะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และโครงการไฟฟ้าพลังงานลมที่ประเทศโอมานเพิ่มเติมหลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการลงทุนโรงไฟฟ้าประเภทก๊าซธรรมชาติ (LNG) แล้วประมาณ 326 เมกะวัตต์ (MW) รวมถึงยังได้ศึกษาโครงการต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โครงการคลังกักเก็บ LNG ลอยน้ำเพื่อการส่งออกที่ประเทศโอมาน รวมถึงโรงไฟฟ้าประเภท LNG ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีจำนวนกำลังการผลิตรวมประมาณ 6,000 MW

b42c202a727419c33295a7f0857ec60e

ขณะที่ตามแผนธุรกิจในช่วงระยะเวลา 6 ปีข้างหน้า (ปี2562-2567) บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 20% โดยในปี 2567 บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 6,721 MW จากช่วงสิ้นปี 2562 ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2,673 MW ขณะที่ในส่วนของงบลงทุนนั้นคาดว่าเฉลี่ยประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท ซึ่งนับรวมถึงในส่วนของเงินกู้ยืมด้วย โดยเงินลงทุนดังกล่าวจะแบ่งเป็นจากกระแสเงินสดภายในบริษัท และเงินกู้จากสถาบันการเงิน รวมถึงการออกหุ้นกู้ของบริษัทด้วย

ส่วนแผนการลงทุนโครงการในประเทศทั้งการเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่ 1) และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ยืนยันว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เพราะมีกระแสเงินสดเพียงพอ

“2 โครงการดังกล่าวเป็นเหมือนหัวใจของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ขีดการแข่งขันของประเทศและของภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น บริษัทจึงสนใจเข้ามาร่วมประมูล ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างรอผลการประมูลอยู่ยังตอบอะไรมากไม่ได้”

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทยังอนุมัติให้บริษัทเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงการ Mekong Wind Power Joint Stock Company (Mekong) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ในเวียดนามผ่านบริษัท Gulf International Holding Pte. Ltd. (GIH) มาอยู่ที่ระดับ 95% จากเดิมที่ระดับ 49%

ขณะเดียวกันบอร์ดยังอนุมัติให้บริษัทจัดตั้งบริษัทย่อย “บริษัท แบงค็อก สมาร์ท เอ็นเนอร์จี จำกัด (BSE)” ด้วยทุนจดทะเบียน 999,000 บาท โดย GULF จะถือหุ้นทั้ง 100% ของทุนจดทะเบียน เพื่อถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) เพื่อดำเนินโครงการระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้าและระบบผลิตน้ำเย็นแบบรวมศูนย์ ให้แก่โครงการ One Bangkok โดยบริษัทมีแผนจะร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญทางธุรกิจดังกล่าว ภายหลังจากการร่วมทุนกับพันธมิตรแล้วสัดส่วนการถือหุ้นใน BSE จะลดลงเหลือ 33%