‘ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ’ เกมต่อรองจับขั้วรัฐบาล

‘ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ’  เกมต่อรองจับขั้วรัฐบาล

ในขณะที่ “สมการการเมือง” ยังไม่นิ่งเพราะต้องรอการรับรองผลส.ส.ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) อย่างเป็นทางการภายในวันที่ 9พ.ค.นี้เสียก่อน

แต่ความเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคการเมืองน้อยใหญ่ในขณะนี้ยังคงต้องจับตาไปที่ไฮไลต์สำคัญนั่นคือ “เกมการจับขั้ว” เพื่อชิง 250 เสียงในการจัดตั้งรัฐบาล

โดยเฉพาะฟากฝั่ง “พลังประชารัฐ” ที่ขณะนี้ดูเหมือนจะมั่นอกมั่นใจว่า สามารถรวบรวมเสียงพันธมิตรได้เกิน 250 เสียงซึ่งเพียงพอต่อการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้นมีการ “ข้ามช็อต” ไปถึงการจัดสรรปันส่วน “โควตา” ต่างๆ

ไม่เว้นแม้แต่เก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติอย่าง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งจะเป็น “ประธานรัฐสภา” โดยตำแหน่ง ที่ล่าสุดปรากฏชื่อ “สุชาติ ตันเจริญ” แกนนำพรรคพลังประชารัฐ และเป็นอดีตรองประธานสภาฯ รวมถึง “วิรัช รัตนเศรษฐ” ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะมานั่งเก้าอี้นี้

750x422_829502_1552463553

ขณะเดียวกัน “สปอตไลต์การเมือง” ในขณะนี้ยังคงสาดไปที่ท่าทีจาก 2 ค่ายทั้ง “ค่ายสีฟ้า” พรรคประชาธิปัตย์ และ “ค่ายสีน้ำเงิน” พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการจับขั้วทางการเมือง โดยเฉพาะ “ค่ายสีฟ้า” ที่ขณะนี้กำลังเดินอยู่บน “ทางสามแพ่ง” ทั้งฝ่ายค้านอิสระ ร่วมรัฐบาลในฐานะพรรคร่วม หรือรัฐบาลอิสระที่สนับสนุนพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลโดยที่ไม่มีโควตารัฐมนตรี

ดังนั้น นอกเหนือจากโควตารัฐมนตรีแล้วสิ่งที่พลังประชารัฐ กำลังทอดสะพานไปยังปชป.ในขณะนี้คือเก้าอี้ประธานสภาฯ ที่พร้อมจะยกให้ “หากประชาธิปัตย์สนใจ” โดยมีการคาดการณ์ไปที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคหลายคน

9743468659250

ทว่าตราบใดที่เกมยังไม่จบโอกาสในการพลิกผันก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ หากปชป.เลือกเป็นฝ่ายค้านก็จะถือว่าเกมโอเวอร์ แต่หากเลือกที่จะจับขั้วในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมรับโควตารัฐมนตรี เกมต่อรองเก้าอี้ประธานสภาก็อาจจะเปลี่ยนไปก็เป็นได้

ขณะที่ฟากฝั่งภูมิใจไทยขณะนี้ก็ยังอยู่ในโหมดนิ่งสงบ“สยบความเคลื่อนไหว” แต่หากพูดถึงเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติแล้วอีกชื่อที่นึกถึงคือ “ชัย ชิดชอบ” อดีตประธานสภาฯในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการฝากผลงานในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เอาไว้

จริงอยู่กับประเด็นที่ว่า หากมองในแง่อำนาจทางการเมืองระหว่าง “รัฐมนตรี” กับ “ประธานสภาฯ” อาจมีความต่างกัน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ จะถือเป็น “คีย์แมน” สำคัญ ในขั้นตอนการเลือกนายกฯ ดังนั้นเกมการต่อรองจึงมีสูงไม่แพ้โควตารัฐมนตรี!!