ไทยเชื่อมเศรษฐกิจบราซิล ฉลอง 60 ปีความสัมพันธ์

ไทยเชื่อมเศรษฐกิจบราซิล ฉลอง 60 ปีความสัมพันธ์

ไทยเชื้อเชิญบราซิลเข้าร่วมในโครงการอีอีซี ที่จะยกระดับการเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียนในอนาคต

กระทรวงการต่างประเทศดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุกมุ่งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบราซิลในโอกาสที่ปีนี้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 60 ปี โดยหวังจะบุกตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา

นายวิชชุ เวชชาชีวะ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ไทย-บราซิลดีมาก พร้อมที่จะขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

ไทย-บราซิล เปิดประตูความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในลักษณะการเมืองนำ ซึ่งเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจนำมาสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และการลงทุน ซึ่งประเทศบราซิลเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคละตินอเมริกา อันดับ 2 เป็นเม็กซิโก อาร์เจนตินา ชิลี และเปรู ตามลำดับขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของบราซิลในภูมิภาคอาเซียน

นายวิชชุ กล่าวว่าบราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดประชากรใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก สะท้อนการเป็นตลาดการค้าและสินค้าบริโภคที่มีขนาดใหญ่รวมทั้งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 8 ของโลก และยังเป็นสมาชิกกลุ่ม “บริกส์” (BRICS) หรือประเทศกําลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็ว

ไทยเล็งเห็นศักยภาพทางการค้าการลงทุนและได้ตั้งเป้าทำการค้ากับบราซิลมากขึ้น เช่นเดียวกับที่บราซิลก็มองหาโอกาสขยายการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นด้วย โดยประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนาโรของบราซิล มีนโยบายให้ความสำคัญเรื่องการค้ากับต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีนโยบายปกป้องตลาดภายในประเทศเป็นหลัก

ปี 2561 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับบราซิลอยู่ที่ 3,500ล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มนำเข้าและส่งออกสินค้าเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงขึ้น 1.55% ต่อปี

นายวิชชุ ระบุว่า  บราซิลมีความสนใจและกำลังมองหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยได้เชิญชวนให้บราซิลเข้าร่วมในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะยกระดับการเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียนในอนาคต ที่จะประกอบด้วยพื้นที่การผลิตชิ้นส่วนประกอบเครื่องบินและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน

“สำหรับบราซิลมีท่าทีตอบรับที่ดีในเรื่องนี้โดยบราซิลเป็นที่ตั้งของ เอ็มบราเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนและประกอบเครื่องบินที่มียอดจำหน่ายเป็นอันดับ 4 ของโลก และในแต่ละปีเครื่องบินนี้ผลิตและส่งขายให้กับอินโดนีเซียจำนวนมาก”

ด้านความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ สินค้าส่วนใหญ่ที่บราซิลนำเข้าจากไทยเป็นผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยเป็นประเทศอันดับ 1 ในละตินอเมริกาที่นำเข้ายางพาราจากไทยนอกจากนี้ยังมีรถยนต์ จักรยานยนต์ และเครื่องจักรกลมีมูลค่าราว 1,500 ล้านดอลลาร์

ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากบราซิล ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมอย่างถั่วเหลือง เหล็ก ด้ายเส้นใย สินค้า และโลหะ มีมูลค่าราว2,100ล้านดอลลาร์

นายวิชชุ เสริมว่าการลงทุนของไทยในบราซิลมีทั้งในด้านพลังงาน การโรงแรม และไอทีซึ่งบริษัท ปตท.สผ.ได้ลงทุนในบราซิล2 โครงการ ได้แก่การร่วมลงทุนบริษัทบีจี กรุ๊ปของอังกฤษ เพื่อรับสัมปทานในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในแหล่งน้ำมันบาร์เรยรินยาสทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิลและการร่วมลงทุนกับบริษัทเปโตรบราสและอินเป็กซ์ในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในแหล่งน้ำมันเอสปีรีตู ซานโตนอกชายฝั่งรัฐรีโอเดจาเนโร

ส่วนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวนั้น ชาวบราซิลนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยราว 70,000-80,000 คนต่อปี ขณะที่มีคนเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศบราซิลอยู่ราว 10,000 คนต่อปี

ด้านนางอานา ลูซี เชนทิล กาบรัล เพเทอร์เซิน เอกอัครราชทูตบราซิล ประจำประเทศไทย กล่าวในงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-บราซิล ครบรอบ 60 ปีที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันอังคาร (23 เม.ย.) ว่า ไทยและบราซิลกำลังก้าวสู่ทศวรรษใหม่แห่งความสัมพันธ์

“รัฐบาลทั้งสองจะร่วมมือกันส่งเสริมให้ประชาชนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม มุ่งมั่นกระชับความสัมพันธ์กันให้แน่นแฟ้น และขยายลู่ความร่วมมือด้านใหม่ ๆ อย่างลึกซึ้ง”

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย มีแผนจะจัดงาน “บราซิล ฟิล์ม เฟสติวัล” ที่กรุงเทพฯ เร็ว ๆ นี้ ในวาระพิเศษแห่งการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ของสองประเทศ