2 ไตรมาสแรก บังคับคดีขายทรัพย์ 8.49 หมื่นล้านบาท

2 ไตรมาสแรก บังคับคดีขายทรัพย์ 8.49 หมื่นล้านบาท

2ไตรมาสแรก บังคับคดีเทขายทรัพย์กว่า 8.49 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปี คาดสิ้นปียอดขายทะลุเป้า 1.3 แสนล้านบาท จ่อประมูลขายที่ดินในเขตอีอีซี 249 ไร่ -อาคารสำนักงานทีทีแอนด์ที ย่านรัชดาภิเษก มูลค่าพันล้านบาท

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.62 น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ได้แถลงผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามนโยบายกรมบังคับคดี โดยไตรมาสที่ 2 สามารถผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบได้เป็นเงินจำนวน 38,643,827,835 บาท เมื่อรวมกับไตรมาสแรกที่ผลักดันทรัพย์สินได้ 46,274,145,932 บาท สามารถผลักดันทรัพย์สินได้ 84,917,973,767 บาท คิดเป็นร้อยละ 65.32 ของเป้าหมาย และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 61 สามารถผลักดันทรัพย์สินได้สูงกว่า คิดเป็นร้อยละ 26.20 ซึ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี โดยผลของการผลักดันทรัพย์สินสูงขึ้น เป็นผลจากมาจากการทำงานเชิงรุกโดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาด เพิ่มฐานผู้สนใจเข้าร่วมประมูล จัดมหกรรมขายทอดตลาดนอกสถานที่ การขายทอดตลาดผ่านระบบการส่งคำสั่งซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e –Offering Auction) และการจัดขายทอดตลาดในวันหยุดราชการทั่วประเทศ โดยกรมบังคับคดีตั้งเป้าผลักดันทรัพย์ของปีงบประมาณ 2562 เป็นเงิน 130,000 ล้านบาท โดยเตรียมนำทรัพย์เป็นที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ (อีอีซี ) อ.บ้านค่าย จ.ระยอง จำนวน 14 แปลง เนื้อที่ 249 ไร่ ของบริษัท ไทยคอปเปอร์ อินดัสตรี่ จำกัด ( มหาชน) และอาคารสำนักงาน ย่านรัชดา-ห้วยขวาง ของบริษัททีทีแอนด์ที จำกัด ราคาประเมินรวมหลายพันล้านบาทออกขายทอดตลาดในเดือน มิ.ย.นี้

น.ส.รื่นวดี กล่าวอีกว่า ส่วนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี มีเรื่องเข้าสู่การไกล่เกลี่ยจำนวน 8,705 เรื่อง สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 7,870 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 90.4 ของเรื่องที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ย เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สามารถไกล่เกลี่ยได้สำเร็จสูงกว่าร้อยละ 13.02 นอกจากนี้ กรมบังคับคดียังได้จัดไกล่เกลี่ยเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ชั้นบังคับคดีที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึกในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา กระบี่ และจังหวัดพัทลุง มีลูกหนี้เข้าร่วมไกล่เกลี่ย จำนวน 141 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 65,909,628.23 บาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จ จำนวน 132 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 56,813,817.15 บาท

"กรมบังคับคดียังเตรียมความพร้อมพัฒนาระบบและกระบวนงานเพื่อก้าวสู่ Thailand 4.0 โดยมีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น LED QUEUE จองคิวล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนสามารถค้นหาสำนวนที่ต้องการติดต่อและสามารถเลือกบริการที่ต้องการติดต่อ รวมถึงกำหนดวันนัดขอใช้บริการล่วงหน้าได้ด้วยตนเอง เพื่อความสะดวก ง่าย รวดเร็วประหยัด ลดระยะเวลา ซึ่งได้เปิดใช้งานแอพพริเคชั่นดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 700 ครั้ง" อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าว

อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้จะเร่งเปิดสถาบันพัฒนาการบังคับคดี (Legal Execution Professional Academy - LEPA) ในระดับประเทศ เพื่อฝึกอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายและความรู้ด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างหลักสูตร โดยนายธงทอง จันทรางศุ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเป็นผู้ร่าง พร้อมทั้งเป็นกรรมการหลักสูตร ซึ่งสถาบันดังกล่าวจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 เม.ย. ภายในงานการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับคดีแพ่งในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างฉบับพลัน และจะเปิดรับบุคคลภายนอกร่วมอบรมเต็มรูปแบบในปี 2563