'อีอีซี' หนุนธุรกิจรับช่วงผลิต

'อีอีซี' หนุนธุรกิจรับช่วงผลิต

สมาคมส่งเสริมรับช่วงการผลิตไทย ปรับตัวผลิตชิ้นส่วนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย นำร่อง 6 อุตสาหกรรม มั่นใจ “อีอีซี” ดันธุรกิจโต 20-30% สร้างมูลค่าเพิ่ม 9 หมื่นล้านบ. “บีโอไอ” หนุนจับคู่ธุรกิจ 8,000 คู่ งานซับคอนไทยแลนด์ 2019 สร้างมูลค่าธุรกิจ 1.4 หมื่นลบ.

นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมรับช่วงการผลิตไทย เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2019 ว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทำให้สมาคมฯ ปรับตัวเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว จากเดิมที่แบ่งกลุ่มสมาชิกไว้ 4 ประเภท ได้แก่ 1.กลุ่มโลหะ 2.ยางและพลาสติก 3.อิเล็กทรอนิกส์ 4.โลจิสติกส์และอื่นๆ โดยได้เพิ่มอีก 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์แห่งอนาคต 2.อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ 3.อุตสาหกรรมระบบราง 4.อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 5.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

'อีอีซี' หนุนธุรกิจรับช่วงผลิต

หนุนอุตฯราง-ป้องกันประเทศ

ทั้งนี้ สมาชิกสมาคมฯ ได้ปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ เครื่องมือแพทย์และระบบรางได้เร็วที่สุด โดยปัจจุบันมีสมาชิก 400 ราย และจะมีสมาชิก 200 ราย ที่ปรับเปลี่ยนไปผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมชั้นสูงได้ ล่าสุดมีผู้ประกอบการบางรายผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เตียงผู้ป่วย อุปกรณ์พลาสติกและยางที่ใช้แล้วทิ้งส่งออกไปต่างประเทศได้แล้ว ส่วนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งอนาคตก็ปรับเปลี่ยนไม่ยาก เพราะไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำอยู่แล้ว

ส่วนอุตสาหกรรมระบบราง เช่น ชิ้นส่วนตู้รถไฟ ก็ผลิตได้แต่ไม่มีตลาดรองรับ เพราะผู้ผลิตขายตรงให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ได้ จะต้องขายผ่านผู้รับประมูลงานจาก รฟท.ซึ่งหากเปิดเสรีก็จะทำให้ผู้ผลิตไทยเข้าสู่ตลาดนี้ง่ายขึ้น 

ดันลงทุนผลิตชิ้นส่วน

สำหรับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ขณะนี้รอกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีผลบังคับใช้ จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนหันมาผลิตสินค้าป้อนให้กับกองทัพ และผู้ผลิตรถหุ้มเกราะอุปกรณ์มากขึ้น และอุตสาหกรรมการบิน ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยผลิตอุปกรณ์รองรับในระบบไฮโดรลิกในสะพานเชื่อมเครื่องบิน และอุปกรณ์ในสนามบินได้ทันที

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี จะยกระดับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนของไทยมากขึ้น โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมกลุ่มนี้มีมูลค่า 3 แสนล้านบาท หากโครงสร้างพื้นฐานหลักทั้ง 5 โครงการของอีอีซีแล้วเสร็จ จะทำให้อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนโตขึ้นได้ 20-30% หรือมีมูลค่าเพิ่มกว่า 6-9 หมื่นล้านบาท

“หลังจากอีอีซีดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ จะมีบริษัทต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงทุนในอีอีซีจำนวนมาก ทำให้อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนของไทยเติบโตและยกระดับเทคโนโลยีตามไปด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากสนใจเข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทย เพื่อผลิตสินค้าป้อนให้กับโรงงานขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาตั้งในอีอีซี”

บีโอไอหนุนธุรกิจรับช่วงผลิต

นางสาวบงกช อนุโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตไทยมีอัตราการเติบโตทุกปีและมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี นับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และบีโอไอมีแผนที่จะสนับสนุนการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตอย่างต่อเนื่องผ่าน โดยเฉพาะการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2019 เป็นปีที่ 13 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดธุรกิจจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่

ทั้งนี้ งานซับคอนไทยแลนด์ 2019 ปีนี้มุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมของภูมิภาคอาเซียน โดยมีกิจกรรมสนับสนุน เช่น งานแสดงนิทรรศการของอุตสาหกรรมสนับสนุนของไทย รวมทั้งการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ 400 บริษัท จาก 30 ประเทศ 

โดยสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนที่ประจำในต่างประเทศของบีโอไอ นำนักธุรกิจต่างชาติมาร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ รวมทั้งมีการจัดกิจกรรม Buyers’ Village ที่จะนำผู้ซื้อชิ้นส่วนจากกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่มาร่วมงาน 15 ราย เช่น สหรัฐ เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ออสเตรีย สวีเดน เกาหลี เนเธอร์แลนด์ จีน และอินเดีย

จับคู่ธุรกิจ1.4หมื่นล้าน

“งานซับคอนไทยแลนด์ในปี 2019 ได้มีการตั้งเป้าที่จะจับคู่ธุรกิจ 8,000 คู่ และคาดว่าจะเกิดธุรกรรมทางธุรกิจมูลค่า ไม่น้อยกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่จับคู่ทางธุรกิจได้ 7,211 คู่ ก่อให้เกิดธุรกรรมกว่า 12,706 ล้านบาท ซึ่งยอดการจับคู่นั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้คาดว่าจะยอดผู้ซื้อจากอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้าร่วมเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการบินชั้นนำกว่า 40 ราย อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ซึ่งมาจากการเชิญของสำนักงานปีไอ ในและต่างประเทศทั้ง 14 แห่ง”

นอกจากนี้ มีการจัดโซนพิเศษขึ้น คือ โซน Innovation to Business ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดง ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เป็นการเชื่อมโยงหน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมการผลิต การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต อุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน ระบบราง และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เข้าร่วมแสดง

ดึงเอกชนโชว์เทคโนโลยี

รวมทั้งสมาคมเครื่องจักรกลระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย จะนำเสนอ TARA Showcase นำเสนอการทำงานในไลน์การผลิตของระบบ Automation and Robotic รวมทั้งอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องแพทย์และสุขภาพ ที่พร้อมนำเสนอนวัตกรรมด้านอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ซึ่งสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสร้างประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

นอกจากนี้ ภายในงานจัดให้มี กิจกรรมสัมมนาส่งเสริมองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับธุรกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิตทุกภาคส่วน 100 หัวข้อ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมบำรุง การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และรถยนต์ไฟฟ้า