ไขรหัส ‘วิกฤติข้อมูล’ งาน ‘ไม่ง่าย’ ท้าทายโลกธุรกิจ

ไขรหัส ‘วิกฤติข้อมูล’  งาน ‘ไม่ง่าย’ ท้าทายโลกธุรกิจ

ปัจจุบัน 90% ของข้อมูลที่อยู่บนโลกถูกสร้างขึ้นเมื่อช่วงสองปีที่ผ่านมา การเติบโตอย่างมหาศาลที่เกิดขึ้นนี้กำลังกลายเป็นความท้าทายที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องเร่งรับมือ

ดัชนี “การปกป้องข้อมูลระดับโลก” ซึ่งทำการสำรวจผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีจำนวน 2,200 คน ใน 18 ประเทศ 11 อุตสาหกรรม ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นโดย “เดลล์ อีเอ็มซี” ร่วมกับ “แวนสัน บอร์น” รายงานว่า ธุรกิจองค์กรกำลังจัดการข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า ของจำนวนข้อมูลที่เคยจัดการในปี 2559

อโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร ตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชีย และธุรกิจคอนซูเมอร์ ภูมิภาคเอเชียใต้ เผยว่า ปริมาณข้อมูลที่ถูกจัดการในปี 2559 มีจำนวน 1.68 เพตะไบต์(PB) และเพิ่มไปถึง 8.13 เพตะไบต์ ในปี 2561 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตอย่างมหาศาลที่ 384%

อย่างไรก็ดี แม้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคงเผชิญความท้าทายในการหามาตรการด้านการปกป้องข้อมูลที่เหมาะสม เพื่อจัดการกับการเติบโตอย่างรวดเร็วและการใช้งานเทคโนโลยีเกิดใหม่ (emerging technologies) เดลล์พบว่ามีเพียง 13% ของธุรกิจที่จัดอยู่ในกลุ่ม “ผู้นำ” ด้านการปกป้องข้อมูล 35% สามารถสร้างรายได้จากข้อมูลที่มีอยู่

สูญรายได้-เสียโอกาสธุรกิจ

เขากล่าวว่า เหตุการณ์การหยุดชะงักและสูญหายของข้อมูลในภูมิภาคนี้มีความถี่ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก แม้การหยุดทำงาน (downtime) ของระบบจะสามารถพบได้บ่อยครั้งกว่า แต่การสูญเสียข้อมูลมีผลกระทบที่สูงยิ่งกว่านั้นอย่างมาก 

โดยเฉลี่ยแล้วการเกิดดาวน์ไทม์ 20 ชั่วโมงในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับองค์กรที่เสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจมีมูลค่าโดยรวม 494,869 ดอลลาร์ ขณะที่บริษัทที่สูญเสียข้อมูลโดยเฉลี่ยที่ 2.04 เทราไบต์ จะเสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจมีมูลค่าโดยรวมสูงถึง 939,703 ดอลลาร์ 

นอกจากนี้ เป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาด (time-to-market) สูญเสียฐานลูกค้า ยิ่งกว่านั้นความเป็นไปได้ของการหยุดชะงักของระบบจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

สำหรับสถานะการปกป้องข้อมูลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค แง่ของความพร้อมอย่างเต็มที่(maturity) ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ธุรกิจมากกว่า 6 ใน 10 หรือ 64% ยังไม่ได้สร้างรายได้จากสินทรัพย์ที่เป็นข้อมูล องค์กรส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ล้าหลัง” (laggards) “กำลังประเมิน” (evaluators) หรือ “เริ่มต้นแล้ว” (adopters)

ท้าทายยุค‘ข้อมูลทวีคูณ’

อโณทัยบอกว่า องค์กรกำลังเผชิญกับความท้าทายในการเลือกโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการที่เหมาะสมในการเผชิญกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของข้อมูล รวมถึงการนำเทคโนโลยีเกิดใหม่เข้ามาใช้งาน ผู้ตอบแบบสอบถาม 94% ต่างพบกับอุปสรรคอย่างน้อยหนึ่ง โดยความท้าทาย 3 อันดับแรกประกอบด้วย การปกป้องข้อมูลจากการพัฒนาระบบ DevOps และการพัฒนาระบบคลาวด์ ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว 46% ความซับซ้อนของการกำหนดค่าและฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ปฏิบัติการ 45.6% และการขาดโซลูชั่นการปกป้องข้อมูลสำหรับเทคโนโลยีเกิดใหม่ 43.4%

ผู้ที่ประสบปัญหาด้านโซลูชั่นป้องกันข้อมูล 54% ระบุว่าไม่สามารถหาโซลูชั่นที่เหมาะสมสำหรับปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) และแมชีนเลิร์นนิง ตามมาด้วยแอพพลิเคชั่นสำหรับคลาวด์ 49% อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) 40% ขณะนี้มีองค์กรเพียง 18% ที่เชื่อว่าโซลูชั่นการป้องกันข้อมูลในปัจจุบันสามารถตอบสนองความท้าทายทางธุรกิจในอนาคตได้ทั้งหมด

"กลยุทธ์ด้านข้อมูลจะยิ่งทวีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับตามความต้องการด้านการจัดการ การกำกับดูแล การรักษาความปลอดภัย และความสามารถในการเข้าถึงอย่างครอบคลุมทั่วทั้งโครงสร้างพื้นฐานแบบมัลติคลาวด์ หากทำได้ดีโอกาสในการสร้างรายได้จากข้อมูลจะเกิดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด"

’คลาวด์’เปลี่ยนโฉมการปกป้อง

ผู้บริหารเดลล์อีเอ็มซีประเมินว่า เทคโนโลยีคลาวด์กำลังกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของแนวการปกป้องข้อมูลในภูมิภาค จากปี 2559 ที่การใช้งานพับลิคคลาวด์มีอยู่ 27% ของสภาพแวดล้อมทางด้านไอทีทั้งหมดในองค์กรธุรกิจ ปี 2561 เพิ่มขึ้นมาเป็น 41% ส่วนกรณีการใช้งานอันดับต้นๆ สำหรับการปกป้องข้อมูลภายในพับลิคคลาวด์ ยังรวมไปถึงการบริการสำรองข้อมูล การทำสแนปช็อตเพื่อปกป้องเวิร์คโหลดและซอฟต์แวร์ป้องกันข้อมูลที่เปิดใช้งานบนคลาวด์

“การปกป้องปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในระบบคลาวด์คือประเด็นสำคัญสำหรับผู้นำทางธุรกิจ มากกว่า 6 ใน 10 ถือว่าตัวเลือกที่สามารถปรับขยายขนาดได้ของโซลูชั่นการปกป้องข้อมูลมีความสำคัญในการคาดการณ์ปริมาณงานคลาวด์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

โดยสรุป แรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจองค์กรให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลมาจาก การผลักดันกฎหมายปกป้องคุ้มครองข้อมูล ภัยคุกคามไซเบอร์ และการปรับตัวเพื่อใช้คลาวด์

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามกฎระเบียบการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ จีดีพีอาร์ของสหภาพยุโรปยังไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญสำหรับองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค พบว่าการปฏิบัติตามกฎระเบียบถูกจัดไว้ในอันดับที่หกในรายการด้านความท้าทายสูงสุดสำหรับการปกป้องข้อมูล จำนวนเพียง 36% ของผู้ตอบแบบสอบถาม