“ประยุทธ์”เตรียมดึงทุนนอกเข้าอีอีซี

“ประยุทธ์”เตรียมดึงทุนนอกเข้าอีอีซี

ใช้โอกาสร่วมประชุมเส้นทางสายไหมใหม่จีนครั้งที่ 2 ขยายการค้า-การลงทุน-พัฒนาเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน

ผู้นำจาก 38 ประเทศทั่วโลกจะเดินทางไปร่วมการประชุมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือเส้นทางสายไหมใหม่จีนครั้งที่2 (2nd Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF )ระหว่างวันที่ 26-27 เม.ย.ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนเพื่อตอกย้ำความร่วมมือ และขยายโอกาสการค้าการลงทุน ในการพัฒนาเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน

นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยวานนี้ (22เม.ย.)ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยรัฐมนตรี 4 กระทรวงคือนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเดินทางไปร่วมการประชุมนี้ด้วย

พลเอกประยุทธ์จะเดินทางไปร่วมการประชุมในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งจะมีผู้นำสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศเข้าร่วมและจะแสดงวิสัยทัศน์เน้นการเชื่อมโยง แสวงหาช่องทางใหม่ในการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันในภูมิภาคอาเซียนกับโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ ไทยจะเสนอให้มีการเชื่อมโยงความร่วมมือเส้นทางสายไหมใหม่เข้ากับแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมาไทย และเวียดนามโดยหวังเพิ่มความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และส่งเสริมศักยภาพระหว่างกันไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือรถไฟไทย-จีน หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“นายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้ เชิญชวนประเทศต่างๆเข้ามาใช้อีอีซีเป็นฐานการผลิตและการขนส่งที่เชื่อมโยงระหว่างโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนกับภูมิภาคอาเซียน”อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าว

ในช่วงบ่ายของวันที่ 25 เม.ย.นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงคมนาคม ดร.บุนจัน สินทะวง รมว.โยธา สปป.ลาว และนายหู จูฉ่าย รองประธานคณะกรรมการพัฒนาการและปฏิรูปแห่งชาติ(เอ็นดีอาร์ซี)ของจีนจะร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอซี) เชื่อมโยงเส้นทางรถไฟหนองคายกับเวียงจันทน์ระหว่างไทย-ลาว-จีน

สำหรับการประชุมบีอาร์เอฟครั้งนี้ จะมีผู้แทนจาก 122 ประเทศและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ 29 แห่งเข้าร่วมและในช่วงท้ายของการประชุมบรรดาผู้นำจะให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมผู้นำบีอาร์เอฟครั้งที่2 ซึ่งเป็นเอกสารกำหนดทิศทางความร่วมมือเส้นทางสายไหมใหม่ใน 5 มิติ ได้แก่ 1) การเชื่อมโยงด้านนโยบายกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และโลก อาทิการอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน ภาษีศุลกากร 2)การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานมุ่งเน้นคุณภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นดิจิทัลและการเงิน

3)ความร่วมมือส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นใช้พลังงานสะอาดและต่อต้านการทุจริต 4)การสร้างความเข้มแข็งให้ปฏิบัติได้จริงและส่งเสริมให้แต่ละโครงการมีผลออกมาเป็นรูปธรรม โดยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจต่างๆได้เชิญภาคเอกชนมาร่วมด้วย และ5)แลกเปลี่ยนระดับประชาชนให้เดินทางแลกเปลี่ยนและมีความใกล้ชิด