'พลังงาน' คาด เปิดขายดีเซล บี10 ผ่านปั๊มต้นเดือนพ.ค.นี้

'พลังงาน' คาด เปิดขายดีเซล บี10 ผ่านปั๊มต้นเดือนพ.ค.นี้

“พลังงาน” คาด เปิดขายดีเซล บี10 ผ่านปั๊มต้นเดือนพ.ค.นี้ ให้ส่วนลดถูกกว่าดีเซลปกติ 1 บาทต่อลิตร หวังเร่งดูดซับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่ม 5 แสนตันต่อปี

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.62 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ กรมธุรกิจพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมออกประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล บี10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10% ในทุกลิตร) เป็นน้ำมันเกรดมาตรฐาน เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้น้ำมันดีเซล คาดว่าการจัดทำรายละเอียดต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ และเริ่มการจำหน่ายดีเซล บี10 ในสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมันได้ในช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้น้ำมันดีเซลในประเทศไทยมี 3 เกรด คือ ดีเซลปกติ (บี7), ดีเซลบี10 และดีเซล 20

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ดีเซล บี10 นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2562 ได้เห็นชอบให้ใช้กลไกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปชดเชยราคาดีเซล บี 10 จำนวน 65 สตางค์ต่อลิตร และยกเว้นการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนฯ ราว 20 สตางค์ต่อลิตร ที่เป็นอัตราจัดเก็บสำหรับดีเซลปกติ (บี7) ลง ส่งผลให้ราคาดีเซล บี10 มีส่วนต่างราคาถูกกว่าดีเซล บี7 ราว 85 สตางค์ และเมื่อรวมกับมาตรการทางภาษีสรรพสามิตร ที่ลดลลงอีก 18 สตางค์ต่อลิตร จะทำให้ราคาดีเซล บี10 จำหน่ายหน้าปั๊มน้ำมัน จะถูกกว่าดีเซล บี7 ราว 1 บาทต่อลิตร โดยในส่วนของมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตร สำหรับดีเซล บี10 ยังต้องรอให้กระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบก่อน

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ประเมินว่า หากมีการใช้ดีเซล บี10 จะส่งผลให้เกิดการใช้ CPO เพิ่มขึ้น 5 แสนตันต่อปี ภายใต้ยอดการใช้ดีเซลราว 50 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบัน ดีเซล บี7 ทำให้เกิดการใช้ CPO อยู่ที่ 1.4 ล้านลิตรต่อปี ภายใต้ยอดการใช้ดีเซลอยู่ที่ 65-68 ล้านลิตรต่อวัน และการส่งเสริมใช้ดีเซล บี20 จะทำให้เกิดการใช้ CPO เพิ่มขึ้น 6 แสนตันต่อปี ภายใต้ยอดการใช้ดีเซล บี20 ให้ได้ 15 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันมียอดการใช้อยู่ที่ราว 2 ล้านลิตรต่อวัน หรือคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าวได้ภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้เกิดการใช้สต็อก CPO มาเป็นเชื้อเพลิงในภาคพลังงานรวม 2.5 ล้านตันต่อปี เพียงพอที่จะรับมือกับสต็อก CPO ที่ปีนี้คาดการณ์จะอยู่ที่ 3 ล้านตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้