DTAC - ซื้อ

DTAC - ซื้อ

ความเป็นไปได้ 60% ที่จะเข้าประมูลใบอนุญาตคลื่น 700 เมกะเฮิร์ซ

ถึงแม้ว่า DTAC มีแนวโน้มเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์น้อยที่สุดจากการยืดจ่ายใบอนุญาต 900 เมกะเฮิร์ซและการเข้าประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิร์ซจะนำไปสู่มูลค่าส่วนผู้ถือหุ้นที่ลดลง แต่มูลค่ารวมกันสุทธิที่เราประเมินจากทั้งสองปัจจัยกลับออกมาเป็นบวกสุทธิเล็กน้อย เราจึงเชื่อว่าการเข้าประมูลใบอนุญาต 700 เมกะเฮิร์ซและการได้รับการยืดการจ่ายใบอนุญาต 900 เมกะเฮิร์ซอาจจะเป็นดีลที่ดีสำหรับDTAC เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น DTAC เนื่องจากการคาดการณ์ส่วนแบ่งรายได้บริการที่จะกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 และกำไรหลักปี 2562 ที่มีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด

DTAC—ได้รับผลประโยชน์น้อยที่สุดจากการยืดจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิร์ซ

ถ้าอ้างอิงจากมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่คำนวณผลประโยชน์จากการยืดจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิร์ซจาก 4 งวดที่จ่ายไม่เท่ากันไปเป็น 10 งวดที่จ่ายเท่ากัน เราเชื่อว่า DTAC มีแนวโน้มเป็นผู้ประกอบการที่จะได้รับผลบวกน้อยที่สุดในสามผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือคิดเป็นต้นทุนที่คิดส่วนลดกลับมาซึ่งลดลง 2.12 พันล้านบาท (หรือคิดเป็นมูลค่า 0.90 บาทต่อหุ้น) DTAC มีแนวโน้มได้รับผลบวกน้อยที่สุดถ้าเปรียบเทียบกับ ADVANC และ TRUE เนื่องจากจะต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ (ซึ่งจะรวมยอดคงค้างที่ยังไม่ได้ชำระในปีก่อนหน้าด้วย) จำนวน 7.4 พันล้านบาทล่วงหน้าก่อนกำหนดในปี 2563 ภายใต้แผนของการจ่ายค่าคลื่น 900 เมกะเฮิร์ซอันใหม่ (ถ้าเปรียบเทียบกับตารางการจ่ายค่าคลื่น 900 เมกะเฮิร์ซอันเดิมของ DTAC ซึ่งต้องจ่ายจำนวน 2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-64 และ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2565)

มูลค่า NPV ที่รวมกันออกมาเป็นบวกเล็กน้อยสำหรับ DTAC

เรามองว่ามันเป็นการไม่ถูกต้องถ้าจะประเมินมูลค่า NPV สำหรับใบอนุญาตคลื่น 700 เมกะเฮิร์ซเพียงแค่อย่างเดียว เราคิดว่านักลงทุนควรที่จะมองมูลค่า NPV ที่รวมกันของทั้งใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ซและการยืดการจ่ายค่าคลื่น 900 เมกะเฮิร์ซ เนื่องจากเป็นแพ็กเก็จดีลของกสทช.ที่มาคู่กัน สำหรับการวิเคราะห์ของเรา ใบอนุญาตคลื่น 700 เมกะเฮิร์ซเพียงอย่างเดียวที่ 2.5 หมื่นล้านบาทจะส่งผลให้มูลค่าส่วนผู้ถือหุ้นลดลง 1.75 พันล้านบาทสำหรับ DTAC แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากพิจารณามูลค่า NPV รวมจากการเข้าประมูลใบอนุญาตคลื่น 700 เมกะเฮิร์ซและการยืดจ่ายคลื่น 900 เมกะเฮิร์ซ เราประเมินว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มสุทธิได้เท่ากับ 377 ล้านบาทสำหรับ DTAC ดังนั้นถึงแม้ว่าราคาค่าใบอนุญาตจะอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท เราเชื่อว่าการได้ใบอนุญาต 700 เมกะเฮิร์ซอาจจะยังถือว่าเป็นดีลที่ดีใช้ได้

ดังนั้นเราให้น้ำหนักความเป็นไปได้ที่ 60% ที่ DTAC จะเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ซ เพื่อได้รับสิทธิ์ในการยืดจ่ายค่าคลื่น 900 เมกะเฮิร์ซ เรามองว่า DTAC อาจจะสนใจเช่นกันสำหรับการเพิ่มคลื่นความถี่ย่านแบนด์ต่ำเช่น คลื่น 700 เมกะเฮิร์ซในพอร์ตคลื่นความถี่ในมือทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าราคาประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิร์ซไม่ได้แพงมากเกินไปอย่างเช่นราคาประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ซในช่วงที่ผ่านมา

ส่องกล้องไตรมาส 1/62—กำไรหลักเติบโตแบบก้าวกระโดด YoY

สำหรับไตรมาส 1/62 เราคาดกำไรสุทธิที่ 1.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% YoY แต่พลิกกลับจากขาดทุนสุทธิ 4.94 พันล้านบาทในไตรมาส 4/61 และกำไรหลักที่ 1.35 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% YoY แต่ลดลง 34%QoQ กำไรหลักที่เติบโตก้าวกระโดด YoY เป็นผลมาจากการไม่มีค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์สัมปทานหลังจากสัมปทานสิ้นสุดลง และต้นทุนด้านกฎระเบียบที่ลดลงหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยา ซึ่งกลบผลกระทบของรายได้บริการที่ยังคงลดลง และต้นทุนจากการดำเนินงานอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้รายได้บริการ (ที่ไม่รวม
ไอซี) ในไตรมาสนี้มีแนวโน้มลดลง 6% YoY และ 1.3% QoQ เนื่องจากผลกระทบที่รวมกันของการเริ่มจำกัดความเร็วของ ‘โปรโมชั่นการใช้งานดาต้าแบบไม่จำกัดที่ความเร็วคงที่’ รวมถึงผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนมาใช้โครงข่ายคลื่น 2.3 กิกะเฮิร์ซมากขึ้น และผลกระทบทางลบเล็กน้อยจากการเริ่มนำเอามาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS15 มาใช้ตั้งแต่ไตรมาส 1/62