กรุงศรีฯ อวดกำไรไตรมาสแรกพุ่ง 104%

กรุงศรีฯ อวดกำไรไตรมาสแรกพุ่ง 104%

กรุงศรีฯ กวาดกำไรไตรมากกว่า 1.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.9% รับรู้กำไรจากรายการพิเศษขายหุ้นเงินติดล้อ 50%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในไตรมาส 1/2562 ด้วยกำไรสุทธิรายไตรมาสสูงสุดจำนวน 1.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 104.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยซึ่งเพิ่มขึ้น 95.6% จากการบันทึกกำไรจากการขายหุ้น 50% ในบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นแสดงถึงศักยภาพที่แข็งแกร่งของกรุงศรีและการบริหารพอร์ตสินเชื่อที่สมดุล รวมทั้งการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมกำไรจากการขายเงินติดล้อและค่าใช้จ่ายการชดเชยเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ กำไรสุทธิอยู่ที่ 6.9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรสุทธิรายไตรมาสที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้น 11.5% จากไตรมาส 1/2561 และเพิ่มขึ้น 13.4% จากไตรมาส 4/2561

เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 2.3% คิดเป็นจำนวน 3.77 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 โดยมีการเติบโตจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
เงินรับฝากเพิ่มขึ้น 2.7% หรือจำนวน 3.9 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM)อยู่ที่ 3.79% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.67% ในไตรมาส 1/2561 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)อยู่ที่ระดับ 1.99% ปรับตัวดีขึ้นจาก 2.08% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561

ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 95.6% จากไตรมาส 1/2561 ปัจจัยหลักมาจากการบันทึกกำไรจำนวน 8.6 พันล้านบาทจากการขายหุ้น 50% ในบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ให้กับพันธมิตรเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ของกรุงศรี
นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจในปี 2562 จากการที่เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่การชะลอตัวตามวัฏจักร ธนาคารยังคงระมัดระวังปัจจัยต่างประเทศและผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย แม้ว่าการใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัวลงและอุปสงค์ต่างประเทศลดลง ธนาคารยังมีมุมมองเชิงบวกอย่างระมัดระวังโดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 3.8%

สำหรับแนวโน้มต่อไป ธนาคารคาดว่าการใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวขึ้นจากปัจจัยด้านรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้นและมาตรการด้านงบประมาณที่แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งการเร่งเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น ธนาคารยังคงเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่ 6-8% สำหรับปีนี้ โดยยังคงมุ่งเน้นด้านการเสริมความแข็งแกร่งของดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน”