‘ริชาร์ด ลี’ เพิ่มดีกรีดิจิทัล ปลุกลงทุน ‘สมาร์ทซิตี้’

‘ริชาร์ด ลี’ เพิ่มดีกรีดิจิทัล  ปลุกลงทุน ‘สมาร์ทซิตี้’

การวางรากฐานสำหรับพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทซิตี้” และต่อยอดไปในมิติที่เข้ากันได้กับบริบททางสังคมและการใช้ชีวิตของผู้คนในแต่ละชุมชน ยังคงเป็นประเด็นท้าทายสำหรับทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

ริชาร์ด ลี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต(เซี่ยงไฮ้) จำกัด เปิดมุมมองว่า ไทยนับเป็นประเทศที่มีความพร้อม ศักยภาพเติบโตสูง เป็นตลาดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเห็นสัญญาณว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการที่ภาครัฐให้ความสำคัญ มีแผนสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาได้เห็นด้วยว่ามีการลงทุนอย่างมากในเรื่องนี้

“ปัจจัยบวกมาจากทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ทั้งมีโครงการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนที่น่าสนใจเช่น วันแบงคอก(One Bangkok)”

อย่างไรก็ดี คงตอบได้ยากว่าอะไรที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด การหาคำตอบเรื่องนี้มีทางออกคือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความสำเร็จ จริงจังกับการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยเทคโนโลยีที่จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานหนีไม่พ้น 5จี ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) และการใช้ประโยชน์จากดาต้า

จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานด้านสมาร์ทซิตี้มาหลายประเทศ การเริ่มต้นขั้นแรกๆ ต้องมีการจัดสรรงบประมาณการลงทุน ศึกษาถึงกฎระเบียบ ข้อบังคับภายในประเทศ หน่วยงานภาครัฐต้องร่วมสนับสนุน มีการปรับเปลี่ยน ปรับแก้กฎหมายการกำกับดูแลให้เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ สำคัญให้ความรู้กับทั้งชุมชน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน เพื่อทำให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตอันใกล้ และที่ขาดไม่ได้ไดเร็คชั่นต้องชัดเจน

“แน่นอนว่าเรื่องนี้คงไม่ง่าย ทุกๆ ประเทศมักมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณการลงทุน ดังนั้นจำต้องมีการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน และพยายามทำงานให้ต่อเนื่องให้ได้มากที่สุด”

ดิจิทัลขับเคลื่อนวิถีชีวิต-เศรษฐกิจ 

สำหรับประเทศไทยขอแนะว่า ให้เริ่มต้นด้วยการตั้งโจทย์ที่ชัดเจนว่าต้องการอะไร จะแก้ปัญหาด้านใดบ้าง จากนั้นหาที่ปรึกษาเพื่อร่วมวางแผน เริ่มดำเนินงาน พร้อมเฟ้นหาผู้ให้บริการที่จะมาช่วยพัฒนาเครื่องมือและโซลูชั่นสำหรับใช้งาน

"เป็นธรรมดาที่แต่ละประเทศ แต่ละตลาดจะมีความต้องการเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป โดยพื้นฐานจึงต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจปัญหา หาให้พบว่าอะไรคือสิ่งจำเป็น อะไรต้องทำเป็นอันดับแรกๆ จากนั้นมองหาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์มากที่สุด"

ลีบอกว่า การปฏิวัติทางดิจิทัลเข้ามาพลิกโฉมการพัฒนาเมืองในมิติที่หลากหลาย โอกาสทางการตลาดไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่การพัฒนาเมือง ยังมีการพัฒนาที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม พลังงาน ครอบคลุมไปถึงการยกระดับบริการภาครัฐ ขีดความสามารถของบุคลากร รวมถึงคุณภาพชีวิตและความปลอดภัย

ปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันให้ตลาดสมาร์ทซิตี้ทั่วโลกเติบโต ทุกประเทศต่างต้องการที่จะ “สมาร์ท” พยายามนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

บริษัทวิจัยตลาด MarketsandMarkets คาดการณ์ไว้ว่า ภาพรวมตลาดสมาร์ทซิตี้ทั่วโลกจะเติบโตจาก 3.08 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2562 ไปเป็น 7.17 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 18.4% ในช่วง 4 ปี ปัจจัยสำคัญที่ผลักดัน คือ ความต้องการด้านความปลอดภัยในที่สาธารณะ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่เข้ามาใช้ชีวิตในเมือง และโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ

โดยระบบการคมนาคมขนส่งอัจฉริยะจะเป็นสัดส่วนตลาดที่ใหญ่ที่สุด เนื่องมาจากความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อรองรับจำนวนประชากรในเมืองที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความจำเป็นในการบริหารจัดการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน

พลิกโฉมอีเวนท์หนุนดีมานด์ใหม่

เขากล่าวว่า บทบาทของเมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต หวังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันการเติบโตของตลาด ล่าสุดมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดงานใหม่ จากเดิมที่เป็นเพียงเทรดแฟร์ โชว์สินค้า ขายสินค้า เปลี่ยนโฉมใหม่ไปเป็นการจัดแสดงด้านเทคโนโลยี สนับสนุนการสร้างอีโคซิสเต็มส์ เครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ผู้ค้า และผู้ที่มีส่วนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง พร้อมมีการจัดทำโฟกัสกรุ๊ปเพื่อเปิดเวทีพูดคุยถึงเทรนด์ตลาด โอกาสทางธุรกิจ และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาเมืองระหว่างกันทั้งในไทยและระดับภูมิภาค

บริษัทร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) จัดงาน “สมาร์ทซิตี้ โซลูชั่น วีค 2019 (Smart City Solution Week 2019)” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเป็นการนำงานแสดงสินค้า 3 แบรนด์ ได้แก่ ซีเคียวเทค ไทยแลนด์, ไทยแลนด์ ไลท์ติ้ง แฟร์ และ ไทยแลนด์ บิลดิ้ง แฟร์ มาจัดพร้อมกับงาน ดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2019

ทั้งนี้ มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 28 – 31 ต.ค. 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ตั้งเป้าว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสมาร์ทซิตี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเปิดมิติใหม่ให้กับงานแสดงเทคโนโลยีและโซลูชั่นเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแบบครบวงจร ตั้งแต่โซลูชั่นด้านความปลอดภัยอัจฉริยะ อาคารอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ สมาร์ทเวิร์คเพลส สมาร์ทเทคโนโลยี การปรับใช้เอไอ ไอโอที คลาวด์ บิ๊กดาต้าอนาไลติกส์ ดิจิทัลแอพพลิเคชั่น การพัฒนาดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ และนวัตกรรมดิจิทัลต่างๆ ฯลฯ

“งานดังกล่าวจะเป็นการรวมตัวของทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้มีอิทธิพลต่อตลาด เป้าหมายหลักต้องการเชื่อมโยงดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ ดิจิทัลโซลูชั่น ผลักดันให้มีการสร้างเครือข่าย ดึงผู้ค้ามาพบปะกับผู้ที่มีส่วนต่อการวางนโยบาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สถาปนิก วิศวกร คาดว่าจะมีคนในแวดวงสนใจเข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นคน ส่วนว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินได้เท่าใดนั้นคงตอบยาก เนื่องจากมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่ต้องไปพูดคุยกันต่อหลังบ้านไม่ได้จบแค่หน้างาน”

ในภาพรวมแนวทางการทำงานของบริษัท จะมีการศึกษาตลาดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐถึงความต้องการที่แท้จริง สนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกับผู้พัฒนา สอบถามความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ พร้อมจะดึงเครือข่ายที่มีทั่วโลกเข้าสนับสนุน สำหรับอาเซียนบริษัทได้เลือกประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับการทำตลาดระดับภูมิภาค

“จากประสบการณ์ในหลายๆ ประเทศพบว่า แต่ละท้องถิ่นมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากคือพิจารณาถึงปัญหาที่มี นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับพัฒนาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการ”