'เอสวีแอล' ลุยโลจิสติกส์ เชื่อมธุรกิจอีอีซี-เอสอีซี

'เอสวีแอล' ลุยโลจิสติกส์ เชื่อมธุรกิจอีอีซี-เอสอีซี

การพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และในเดือน พ.ค.2561 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

 เพื่อเป็นกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลการพัฒนา จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง ในขณะที่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนพัฒนาพื้นที่ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ภายใต้กรอบการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (เอสอีซี) 116 โครงการ วงเงินปี 2562-2565 รวม 106,790 ล้านบาท

อนุวัต ชัยกิตติวนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสวีแอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า เอสวีแอล เป็นธุรกิจในเครือของสหวิริยา ที่ได้ดำเนินธุรกิจเหล็กมาอย่างยาวนาน ซึ่งในอุตสาหกรรมเหล็กจำเป็นจะต้องอยู่ใกล้กับแม่น้ำ หรือทะเล เพื่อสะดวกในการขนส่งวัตถุดิบและสินค้า ดังนั้นจึงได้ดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งควบคู่ไปด้วย เริ่มจากการตั้งโรงเหล็กที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ จากนั้นเมื่อกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นก็ขยายโรงงานไปที่ จ.ฉะเชิงเทรา และสร้างท่าเรือที่แม่น้ำบางปะกง จากนั้นก็ไปตั้งโรงเหล็กที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และได้สร้างท่าเรือน้ำลึกตามธรรมชาติขนาดใหญ่รองรับเรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่ถึง 1 แสนเดทเวทตัน เป็นท่าเรือน้ำลึกของเอกชนที่มีความลึกที่สุดในประเทศไทย ใหญ่ที่สุดของไทย

\'เอสวีแอล\' ลุยโลจิสติกส์ เชื่อมธุรกิจอีอีซี-เอสอีซี

ช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา สหวิริยา ได้แยกธุรกิจโลจิสติกส์ออกมาดำเนินการอย่างชัดเจน ได้ตั้งบริษัท เอสวีแอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ขึ้น เพื่อบริหารธุรกิจโลจิสติกส์ภายใต้ เอสวีแอล กรุ๊ป โดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่ทั้งท่าเรือน้ำลึก จ.ประขวบคีรีขันธ์ อยู่ใกล้กับ เอสอีซี ท่าเรือลำน้ำที่ แม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และอยู่ในพื้นที่ อีอีซี รวมทั้งยังมีเรือขนส่งล้ำน้ำ บริษัทรถขนส่ง บริษัทชิปปิ้ง ที่ได้จดทะเบียนที่ฮ่องกง และธุรกิจคลังสินค้า บริการโลจิสติกส์ต่างๆ

ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลมีนโยบายอีอีซี และเอสอีซี จะยิ่งเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต โดยบริษัทได้หารือกับบริษัทพันธมิตรท่าเรือในอีอีซี ใช้เรือROPAX ขนส่งรถบรรทุก และคนจากพื้นที่อีอีซี มายังท่าเรือที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะลดระยะเวลาการการขนส่งจากเดิมที่ใช้รถบรรทุกจะใช้เวลา 1 วัน เหลือเพียง 8 ชั่วโมง และมีต้นทุนที่ถูกลงแต่จะมากแค่ไหนอยู่ที่จำนวนสินค้าขาไปและกลับด้วย รวมทั้งยังช่วยลดงบประมาณในการซ่อมแซมถนน ลดปัญหาจราจรและอุบัติเหตุ

บริษัทได้หารือกับพันธมิตรท่าเรือในอีอีซี จัดนำเรือขนส่งรถบรรทุกและผู้โดยสารขนาด 2 หมื่นตันกรอส ขนส่งรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ได้ 90 คันต่อครั้ง จะลดเวลาและต้นทุนขนส่ง และปัญหาจราจรในการขนส่งสินค้าจากอีอีซีมาภาคใต้ หรือ เอสอีซี เพราะรถบรรทุกทุกคันไม่อยากขับผ่านบริเวณกรุงเทพฯ อยู่แล้ว แต่ต้องประสานลูกค้าให้ปรับเปลี่ยนการขนส่งจากเดิมบรรจุสินค้าเต็มรถแล้วขับออกไปได้เลย ไปเป็นการรวบรถบรรทุกสินค้าให้เต็มจำนวนเรือ 1 ลำ แล้วจึงออกเดินทาง ซึ่งอาจจะต้องปรับกระบวนการทำงานร่วมกันเล็กน้อย

สำหรับ สินค้าที่ขนส่งมายังท่าเรือ จ.ประจวบคีรีขันธ์แล้ว ก็เดินทางถนนไปด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประตูการค้าระหว่างไทย-เมียนมา และส่งสินค้าต่อไปยังเมืองมะริด ของเมียนมา ที่เป็นเมืองท่าประมงขนาดใหญ่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเป็นแหล่งวัตถุดิบด้านประมงสำคัญของไทย 

ทั้งนี้ ล่าสุดรัฐบาลเมียนมาเปิดใช้ถนนเส้นใหม่เชื่อมเมืองมะริดกับด่านมู่ด่อง ระยะทาง 185 กม. ลดเวลาเดินทางเหลือเพียง 3.5 ชั่วโมง ซึ่งช่วยลดเวลาจากเดิมสินค้าที่ขนส่งระหว่างเมืองมะริดกับ จ.สมุทรสาคร จะต้องอ้อมผ่าน จ.ระนอง 2-3 วัน และใช้เวลาอีกกว่า 1 วันในการขนส่งทางรถไป จ.สมุทรสาคร แต่หากใช้เส้นทางเดินเรือจาก จ.สมุทรสาคร มาที่ท่าเรือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ วิ่งผ่านด่านสิงขร ไปยังเมืองมะริด จะใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ด่านสิงขร ยังเป็นด่านการค้าชั่วคราว ปิดหลัง 17.00 น. ทำให้ขนส่งสินค้าไม่ทันมิสินค้าตกค้างเป็นจำนวนมาก บากครั้งต้องเสียเวลานานในการรอรถบรรทุกของเมียนมาเข้ามารับสินค้า ดังนั้นบริษัทจึงได้ร่วมกับผู้ประกอบการเมียนมาสร้างคลังสินค้าที่ด่านมู่ด่อง ในเฟส 1 มีพื้นที่กว่า 8,600 ตร.ม. ใช้เงินลงทุน 18 ล้านบาท ซึ่งจะมีบริการด้านโลจิสติกส์ครบทุกด้าน เช่น ชิปปิ้ง คลังสินค้า รถบรรทุก รวมไปถึงบริการด้านการตลาดในประเทศเมียนมาด้วย

ท่าเรือประจวบคีรีขันธ์ ยังอยู่ห่างจากเส้นทางรถไฟที่เชื่อมไปยัง จ.ระนอง บริเวณที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าน้ำลึกเพียง 8 กม. ทำให้สามารถเชื่อมการขนส่งทางรางไปยัง จ.ระนอง เพื่อส่งสินค้าไปสินค้าออกไปประเทศต่างๆ ในฝั่งตะวันตก เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรปได้เร็วยิ่งขึ้น ลดต้นทุนการขนส่งจากเดิมที่ต้องออกจากท่าเรือแหลมฉบังไปอ้อมสิงคโปร์ไปยังทะเลฝั่งตะวันตก

นายอนุวัต กล่าวว่า บริษัทยังได้ปรับปรุงรูปแบบการทำงาน โดยตั้งเป้าภายใน 2 ปี จะก้าวไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพคอร์ปอเรชั่น นำแนวคิดแบบสตาร์ทอัพมาปรับปรุงองค์กรที่ดำเนินธุรกิจมายาวนาน ให้มีคล่องตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และนำศักยภาพที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจุดแข็งของบริษัทจะเป็นเรื่องระบบไอทีที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรง นำนวัตกรรมมาร่วมกับบริษัทพันธมิตร และเข้าไปสู่ธุรกิจที่มีมูลค่าสูง ขยายพื้นที่การให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ

“บริษัทจะเชื่อมโยงธุรกิจด้านโลจิสติกส์ที่มีอยู่ ทั้งท่าเรือน้ำลึก ท่าเรือชายฝั่ง ท่าเรือแม่น้ำ เรือขนส่งชายฝั่ง รถบรรทุก คลังสินค้า และนำแนวคิดสตาร์ทอัพมาใช้ ที่จะไม่เน้นขยายการลงทุน แต่จะไปเชื่อมต่อพันธมิตร เพื่อขยายงานของบริษัทให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งจะเพิ่มการขนส่งในเที่ยวกลับให้มีปริมาณสินค้ามากขึ้น ทำให้ลดต้นทุนขนส่งได้มาก"

ทั้งนี้ รถบรรทุกที่ไปส่งสินค้าที่บริษัทปลายทาง บริษัทที่รับสินค้าสามารถให้รถบรรทุกเหล่านี้ขนส่งสินค้าของตัวเองไปที่หมายอื่นได้ ทำให้ช่วยลดต้นทุนทั้งของบริษัท และของลูกค้าไปด้วย โดยจากแนวทางการปรับปรุงที่ผ่านมา สามารถเพิ่มการขนส่งสินค้าเที่ยวกลับได้มากถึง 25-30% จากเดิมที่มีแต่รถเปล่าวิ่งกลับมา

ทั้งนี้ จากการปรับปรุงการดำเนินงานมาทั้งหมดตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2561 ทำให้รายได้จากกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2560 มีรายได้ 1,084 ล้านบาท แต่เมื่อสิ้นปี 2561 มีรายได้เพิ่มเป็น 1,347 ล้านบาท และคาดว่าปี 2562 รายได้ในกลุ่มโลจิสติกส์จะเพิ่มขึ้น 20%