จิตแพทย์ ห่วงครอบครัวป้ายแดง เตือนอย่าใช้ 'ความเงียบ' แก้ปัญหา

จิตแพทย์ ห่วงครอบครัวป้ายแดง เตือนอย่าใช้ 'ความเงียบ' แก้ปัญหา

จิตแพทย์ ห่วงครอบครัวป้ายแดง ย้ำเตือน! อย่าใช้ 'ความเงียบ' แก้ปัญหา ชี้ยิ่งทำให้ความกดดันสะสม พร้อมระเบิด

วันที่ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัว สถิติล่าสุดปี 2560 ไทยมีคู่รักจดทะเบียนสมรสเป็นครอบครัวใหม่เกือบ 3 แสนคู่ เฉลี่ยวันละ 815 คู่ จิตแพทย์แนะใช้ 2 หลักครองเรือน ถนอมรักยั่งยืน ครอบครัวใหม่เข้มแข็ง  ให้ซื่อสัตย์ไว้วางใจกัน ไม่ก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัวกัน เปิดใจรับฟังความเห็นต่าง ย้ำเตือนอย่าใช้ความเงียบแก้ปัญหาครอบครัว ชี้ยิ่งส่งผลร้ายทำให้สะสมความกดดันพร้อมระเบิดได้ทุกเมื่อ และไม่ใช้ถ้อยคำที่ท้าทายกันด้วยอารมณ์หรือทิฐิ ทำให้ความสัมพันธ์เปราะบาง แตกหักง่าย  

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 14 เมษายนทุกปี เป็นวันครอบครัว ซึ่งครอบครัวนั้นเป็นระบบสังคมที่เล็กที่สุดของมนุษย์ เป็นสถาบันแรกที่มีความสำคัญมากในการพัฒนาคุณภาพประชากรไทยในอนาคต เพื่อให้สังคมไทยเจริญก้าวหน้าประชาชนทุกคนมีความสุข ซึ่งขณะนี้แนวโน้มจำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยลดลงเรื่อยๆ ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขรายงานในปี 2560 มีเด็กเกิดใหม่ทั่วประเทศเฉลี่ยนาทีละ 1.2 คน  ลดลงกว่าปี 2556  ที่เกิดเฉลี่ยนาทีละ 1.4 คน และข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานล่าสุดในปี 2560 มีผู้จดทะเบียนสมรสทั่วประเทศ 297,501 คู่ เฉลี่ยวันละ 815 คู่ โดย 3จังหวัดที่มีสถิติการจดทะเบียนสมรสมากที่สุดในประเทศ อันดับ 1 คือกทม. 45,577 คู่ รองลงมาคือชลบุรี 15,795 คู่ และนครราชสีมา 10,741 คู่   

นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้คน 2 คนที่มาจากต่างครอบครัว ต่างการเลี้ยงดูกันมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยืนยาวได้นั้น  ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เรียนรู้ ยอมรับซึ่งกันและกัน และปรับตัวเข้าหากัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตคู่ วิธีการที่จะทำให้ครอบครัวมีความมั่นคงและอบอุ่น ไม่มีความขัดแย้งทางความคิดและอารมณ์ มีคำแนะนำให้คู่สมรสใหม่ยึดหลักการครองเรือน 2 ประการ ประการแรกคือ การใช้กฎหลักครอบครัว ได้แก่ 1. ช่วยกันแบ่งเบาภาระในบ้าน ให้รู้หน้าที่ตนเอง 2. บริหารจัดสรรการเงินแต่ละส่วน  เช่น เงินออม เงินใช้จ่ายรายวัน ใช้ในยามฉุกเฉิน และกำหนดคนรับผิดชอบ 3. ใส่ใจให้เวลากับครอบครัวดูแลซึ่งกันและกัน  4. ช่วยกันแก้ปัญหา และ5. ห้ามทำร้ายร่างกายกันยามโกรธหรือทะเลาะกันโดยเด็ดขาด

ประการที่ 2 คือการส่งเสริมให้ความรักมีความหวานชื่นและมั่นคง มี 8 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ยึดสัญญาใจและทำตามกฎหลักครอบครัว 2. ชื่นชมเมื่อทำดี  ใช้คำขอบคุณและขอโทษให้เป็นนิสัย 3. ทำบ้านให้รื่นรมย์ คือทั้งที่พักใจและให้ความอบอุ่น 4. ซื่อสัตย์และไว้วางใจกัน 5. ให้เกียรติและไม่ก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน 6. ไม่ควรคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะต้องรู้ใจเราเสมอไป 7. คิดว่าครอบครัวของเขาคือครอบครัวของเราด้วย และ 8. เปิดใจรับฟังกัน ยอมรับความเห็นต่าง 

"เมื่อมีปัญหาครอบครัว  วิธีการแก้ที่ไม่ควรนำมาใช้อย่างยิ่ง คือความเงียบ ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่าได้ผลดี แต่ข้อเท็จจริงนั้น วิธีการนี้เปรียบเสมือนเป็นการหนีปัญหา เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการแก้ไขให้คลี่คลาย ยิ่งจะทำให้ปัญหาเกิดการสะสม เสมือนหมกปัญหาไว้  มีความเก็บกดและกดดันในใจมากขึ้น อาจระเบิดได้ตลอดเวลาเมื่อมีสถานการณ์มากระตุ้น วิธีการที่ดีที่สุด ควรหันหน้าเข้าหากัน แม้จะโกรธหรือใช้อารมณ์โต้เถียงกัน แต่ก็นำไปสู่การแก้ปัญหานั้นๆได้ "นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว    

นอกจากนี้เรื่องใกล้ตัวที่สุดที่ทุกครอบครัวควรให้ความใส่ใจก็คือการสื่อสารพูดคุยกัน  การสื่อสารทางบวกถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา ไม่ควรใช้ถ้อยคำในลักษณะท้าทายกันด้วยอารมณ์หรือทิฐิ ที่ได้ยินได้บ่อยในสังคมไทย เช่น  ถ้าแน่จริงก็เก็บของออกไปเลย, พูดแบบนี้ก็เลิกกันไปดีกว่า ,เงียบไปเลย ,ก็เป็นซะแบบนี้ถึงได้ดักดานอยู่แบบนี้,ถ้าฉันแต่งงานกับแฟนเก่า ป่านนี้คงสบายไปแล้ว ,ที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะแกนี่แหละ เป็นต้น รวมทั้งการพูดเชิงดูถูกเหยียดหยามพ่อแม่ญาติพี่น้องอีกฝ่าย คำพูดที่กล่าวมานี้จะเสียดแทงบั่นทอนจิตใจอารมณ์ความรู้สึก จะทำให้ความสัมพันธ์เปราะบางลง แตกหักได้ง่ายขึ้น และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการหย่าร้างกัน นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว