ขุนคลังจี20เรียกร้องทั่วโลกร่วมฟื้นเศรษฐกิจ

ขุนคลังจี20เรียกร้องทั่วโลกร่วมฟื้นเศรษฐกิจ

พร้อมรับมือภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางสารพัดปัจจัยเสี่ยง

หลังจากเห็นสัญญาณว่า ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงกว่าที่คิด บรรดาชาติอุตสาหกรรมทั้ง20ประเทศ(จี20)ที่ประชุมร่วมกันที่วอชิงตันในช่วงนี้ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการทำสงครามการค้า หรือตอบโต้ทางการค้าด้วยมาตรการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าของบรรดาคู่ค้าต่างๆ อาทิ สหรัฐ-จีน สหรัฐ-สหภาพยุโรป(อียู)และสหรัฐกับญี่ปุ่น พร้อมแนะให้บรรดาประเทศคู่ค้าทั่วโลกเอาชนะความแตกต่างทางการค้าระหว่างกัน ด้วยการเลือกใช้ความร่วมมือระดับพหุภาคีแทนมาตรการกีดกันทางการค้า และดำเนินนโยบายในช่วงเวลาที่เหมาะสม

บรรดาผู้กำหนดนโยบายจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 20 ประเทศ รวมทั้งคณะเจ้าหน้าที่ด้านการคลัง การเงินจากองค์กรชั้นนำทั่วโลก ต่างวิตกกังวลว่า ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาจจะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ หากว่าการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเพิ่มระดับความรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่

นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางของญี่ปุ่น (บีโอเจ) ระบุว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกประเทศต้องดำเนินมาตรการต่างๆที่จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวมากกว่านี้ ด้วยการดำเนินนโยบายให้ถูกต้องและในเวลาที่เหมาะสม

ขณะที่นายโอลาฟ ชูลซ์ รัฐมนตรีคลังของเยอรมนี กล่าวว่า ขณะนี้ความร่วมมือระดับพหุภาคีทั่วโลกกำลังถูกคุมคาม บรรดาผู้นำในประเทศต่างๆต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า

ถ้อยแถลงของที่ประชุมจี20 สอดคล้องกับคำพูดของนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ที่เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบายของรัฐบาลทั่วโลก พยายามหลีกเลี่ยงการดำเนินนโยบายการค้าที่ผิดพลาดและเป็นอันตราย เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงเป็นวงกว้าง ขณะที่แนวโน้มการดีดตัวของเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนที่เบิ้มอย่างสหรัฐไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลเหมือนกับที่บรรดาผู้นำในกลุ่มจี20 สะท้อนออกมา โดยเมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐส่งสารที่ชัดเจนถึงผู้นำในแวดวงเศรษฐกิจการเงินโลกที่มาประชุมร่วมกันที่วอชิงตันในการประชุมของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกว่า สงครามการค้าของสหรัฐยังไม่จบ ซึ่งเศรษฐกิจโลกที่กำลังอ่อนแอทำได้แค่เพียงรับมือกับสิ่งที่จะเกิดตามมาจากสงครามการค้าเท่านั้น

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเตือนด้วยว่า แม้ขณะนี้สหรัฐจะยังคงหารือกับจีนเพื่อยุติกรณีพิพาททางการค้าระหว่างกัน แต่สหรัฐก็ยังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับชาติอื่นๆที่สหรัฐต้องเป็นฝ่ายกำหนดเงื่อนไข และเขียนข้อตกลงทางการค้าขึ้นมาใหม่ได้ทุกเมื่อ

คำกล่าวนี้ของทรัมป์ ถือเป็นการส่งสารที่เป็นข่าวร้ายและบั่นทอนความหวังที่จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง ซึ่งทั้งไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกต่างเห็นตรงกันว่า ความเป็นผู้นำที่เปลี่ยนไปมาของทรัมป์ในประเด็นการค้าโลกส่งผลกระทบในทางลบต่อบรรยากาศการลงทุนและความรู้สึกของภาคธุรกิจทั่วโลก

ในสัปดาห์หน้า คณะผู้แทนเจรจาการค้าของญี่ปุ่นจะเดินทางมากรุงวอชิงตันเพื่อเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีที่ภาคธุรกิจและเกษตรกรอเมริกันอยากให้เกิดขึ้น หลังจากทรัมป์ประกาศถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ทีพีพี)และการที่ญี่ปุ่น ต้องกลับมาเจรจากับสหรัฐอีกครั้งก็เพราะคำขู่ของทรัมป์ที่จะเก็บภาษีรถยนต์นำเข้าจากญี่ปุ่น

ขณะที่แคนาดาและเม็กซิโก กำลังร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้สหรัฐยกเลิกการเก็บภาษีโลหะและอลูมิเนียม เช่นเดียวกับอินเดีย ที่ประกาศในช่วงที่ผ่านมาว่าจะเก็บภาษีแอ๊ปเปิ้ลตลอดจนสินค้าประเภทอื่นๆที่นำเข้าจากสหรัฐ เพื่อตอบโต้รัฐบาลวอชิงตันที่ขู่ว่าจะปลดอินเดียออกจากประเทศที่ได้สิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร