'กฤษฏา' ดันกฏกระทรวง 5 ฉบับมาตรการจำกัดใช้ 3 สารเคมี

'กฤษฏา' ดันกฏกระทรวง 5 ฉบับมาตรการจำกัดใช้ 3 สารเคมี

"กฤษฏา" ดันกฏกระทรวง 5 ฉบับมาตรการจำกัดใช้ 3 สารเคมี เข้มผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย เกษตรกร คนรับจ้างพ่นสาร ทุกกลุ่มเป้าหมายเข้าคอร์สติวเข้มภายในเดือนมิ.ย.นี้

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีวัถตุอันตราย กำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช 3 สาร คือพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส  

โดยบอกว่ามาตรการจำกัดการใช้มี 6 มาตรการ ซึ่งผ่านเห็นชอบจาก คณะกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งมาตรการทางกฏหมายเป็นประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับ การอบรม การสร้างการรับรู้ การศึกษาผลกระทบ การวิจัยหาสารเคมีชนิดอื่น และการสร้างระบบฐานข้อมูล ขณะนี้อยู่ที่เลขาธิการครม.แล้ว ซี่งกฏกระทรวงดังกล่าวออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน

 

สำหรับผู้รับจ้างพ่นสารเคมี จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการพ่นสารทั้ง 3 ชนิด ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ ต้องมีใบอนุญาตรับจ้างพ่นสารเคมี และผู้รับจ้างพ่นสารเคมี ไม่สามารถจะซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ ได้หากไม่ได้เป็นเกษตรกรผู้ปลูกพืชที่กำหนดให้ใช้กับสารเคมี 3 ชนิดดังกล่าว

 

สำหรับผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตจะต้องแจ้งปริมาณสต๊อกสินค้า สารเคมีทั้ง 3 ชนิดทุก 15 วัน โดยต้องระบุปริมาณที่ได้รับ แหล่งที่มา และแหล่งที่ส่งสารเคมีทั้ง 3 ชนิดออกไป

 

ในส่วนของพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมการใช้ 3 สาร จะมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้สารเคมี 3 ชนิดดังกล่าว ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

 

นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดชนิดพืชที่อนุญาตให้ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดได้ ดังนี้ ให้ใช้พาราควอต และไกลโฟเซต เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล ให้ใช้คลอร์ไพริฟอส เฉพาะเพื่อกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผลพื้นที่ห้ามใช้สารทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พื้นที่ปลูกผัก สมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะต้องมีการกำหนดข้อความในฉลากที่จะติดบนภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนั้น ด้วยข้อความ 3 ข้อความคือ วัตถุอันตรายจำกัดการใช้ ,ห้ามใช้วัตถุอันตรายในพื้นที่ปลูกพืชผัก หรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ และ ผู้ใช้วัตถุอันตรายต้องป้องกันไม่ให้วัตถุอันตรายแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น


ซึ่งเกษตรกรจะต้องเข้ารับการอบรมและผ่านการทดสอบว่าเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมี 3ชนิด เพื่อนำเป็นหลักฐานในการซื้อสารเคมี มาใช้ได้ สำหรับวิธีการฝึกอบรมผู้รับจ้างพ่น ต้องเข้ารับการอบรม และต้องผ่านการทดสอบทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ จึงจะได้รับการรับรองว่าผ่านการทดสอบ นำไปเป็นหลักฐานในการรับจ้างพ่นสารเคมี 3 ชนิดนี้ต่อไปได้

 

กรมวิชาการเกษตรจะสร้างวิทยากร คือ วิทยากรครู ก ไปทำการอบรม ผู้รับจ้างพ่นสารเคมี พนักงานเจ้าหน้าที่ และ เจ้าหน้าที่อีกกลุ่ม คือ เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สมาคมที่เกี่ยวข้อง เป็น วิทยากรครู  โดยจะต้องสร้างวิทยากรและอบรมทุกกลุ่มเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2562 นี้ที่ระบุถึงการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ได้อย่างปลอดภัย ในพืชแต่ละชนิด เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ยางพารา และไม้ผล