สงครามสตรีมมิงเดือด‘ดิสนีย์’ ท้าชิง ‘เน็ตฟลิกซ์’

สงครามสตรีมมิงเดือด‘ดิสนีย์’ ท้าชิง ‘เน็ตฟลิกซ์’

ราคาหุ้นของบริษัทวอลท์ ดิสนีย์ พุ่งขึ้น 10% แตะระดับ 128.26 ดอลลาร์ในวันศุกร์ (12เม.ย.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

การแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมวีดิโอสตรีมมิงกำลังร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อ “ดิสนีย์” กระโจนเข้าร่วม หลังประกาศแผนเปิดบริการสตรีมมิงแบบสมัครสมาชิกรายเดือน“ดิสนีย์พลัส” ซึ่งจะใช้งานได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์พีซี สมาร์ทโฟน และเกมคอนโซล ในวันที่ 12 พ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า ยักษ์ใหญ่ความบันเทิงรายนี้มีข้อได้เปรียบสำคัญ 1 ข้อเหนือคู่แข่งที่เป็นเจ้าตลาดในขณะนี้อย่าง “เน็ตฟลิกซ์”

“ข้อได้เปรียบนี้เรียกว่าคลังคอนเทนท์ย้อนหลัง” มาร์ค มาฮานีย์ หัวหน้านักวิเคราะห์เทคโนโลยีจากบริษัทอาร์บีซี แคปิตัล มาร์เก็ตส์ กล่าวถึงคอนเทนท์ในอดีตที่ดิสนีย์อาจเคยผลิตก่อนหน้านั้น ระหว่างให้สัมภาษณ์ในรายการสตรีท ไซน์สของซีเอ็นบีซีเมื่อวันศุกร์ (12 เม.ย.)

เพื่อทำให้เห็นภาพ มาฮานีย์ได้เอ่ยถึงแผนรายจ่ายของดิสนีย์ที่จะทุ่มเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างคอนเทนท์ของตัวเอง (ออริจินัล คอนเทนท์) ในแต่ละปี เทียบกับเน็ตฟลิกซ์ที่ประกาศจะทุ่มเงินมากกว่านั้น 7-8 เท่า“นั่นเป็นเพราะเน็ตฟลิกซ์ขาดคอนเทนท์ในมือ ทำให้บริษัทอยู่ในสถานะที่จำเป็นต้องเช่าคอนเทนท์ที่อาจหลุดมือไปได้ หากพันธมิตรของตนตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ”

ตัวอย่างของกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 เมื่อดิสนีย์ประกาศว่าจะลบภาพยนตร์ของตนออกจากแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์ เพื่อหันไปพัฒนาบริการสตรีมมิงของตัวเองแทน

เว็บไซต์วาไรตี รายงานเมื่อเดือนธ.ค. ปีที่แล้วโดยอ้างข้อมูลจาก “7พาร์ค ดาต้า” บริษัทติดตามการบริโภควีดิโอตามสั่งบนยักษ์สตรีมมิงต่าง ๆ เช่น เน็ตฟลิกซ์ ฮูลู และอเมซอนว่า ในความเป็นจริงแล้ว คอนเทนท์ลิขสิทธิ์บนเน็ตฟลิกซ์ได้รับการตอบรับดีกว่า เทียบจากยอดเข้าชมคอนเทนท์ของบริษัทแต่ละรายการ

“เน็ตฟลิกซ์จะต้องเผชิญแรงกดดันในอุตสาหกรรมนี้ ในการสร้างความแตกต่างให้กับบริการของตนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายในการสร้างออรินัล คอนเทนท์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” มาฮานีย์ระบุ และว่า “นั่นเป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่ดิสนีย์มี พวกเขามีคลังคอนเทนท์ย้อนหลังอยู่ในมือ”

ในแง่ของการแข่งขัน ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีรายนี้กล่าวว่า อาจยังมีช่องว่างสำหรับทั้งเน็ตฟลิกซ์และดิสนีย์ในตลาดสตรีมมิงนี้“ผมคิดว่ายังมีช่องว่างในตลาดสำหรับดิสนีย์ที่จะประสบความสำเร็จได้”

แม้ว่าดิสนีย์ตั้งเป้าที่จะดึงดูดสมาชิก 60-90 ล้านรายภายใน 5 ปี แต่เน็ตฟลิกซ์มีแนวโน้มที่จะมีสมาชิกมากกว่า 300 ล้านรายทั่วโลกภายในช่วงเวลาเดียวกัน มาฮานีย์เสริมว่า บริการของทั้ง 2บริษัทมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้

“เราเคยทำผลสำรวจในอุตสาหกรรมนี้ เราคิดว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเต็มใจสมัครสมาชิกมากกว่า 1 บริการ” มาฮานีย์เผย ทั้งนี้ผลสำรวจของอาร์บีซี ชี้ว่า กว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขาเต็มใจที่จะสมัครสมาชิก 2 แพลตฟอร์มขึ้นไป

 ด้านบ็อบ ไอเกอร์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของดิสนีย์ ประกาศในวันเปิดตัวบริการใหม่ว่า ดิสนีย์จะนำเสนอแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่ไม่มีคอนเทนท์ไหนหรือบริษัทเทคโนโลยีรายใดสามารถทัดเทียมได้

ซีอีโอรายนี้ตั้งเป้าว่าบริษัทดิสนีย์จะต้านทานอิทธิพลของเน็ตฟลิกซ์และกลุ่มเทคโนโลยีรายอื่น ๆ ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับวงการฮอลลีวู้ด ไอเกอร์ วัย 68 ปี ยอมเลื่อนการเกษียณอายุของตัวเองเพื่อนำพาดิสนีย์ฟันฝ่ายการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่

ภายในปี 2563 ดิสนีย์พลัสจะนำเสนอภาพยนตร์กว่า 500 เรื่อง และละครโทรทัศน์ 75,000 เรื่อง ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์สตาร์วอร์สทั้ง 6 ภาค ภาพยนตร์ค่ายพิกซาร์ 18 เรื่อง และการ์ตูนแนวตลกเรื่องเดอะซิมป์สันส์ครบทุกตอน

ด้านเควิน เมเยอร์ ประธานฝ่ายการขายตรงถึงผู้บริโภคและกิจการต่างประเทศของดิสนีย์ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจะสืบทอดตำแหน่งต่อจากไอเกอร์ กล่าวว่า นอกจากดิสนีย์พลัสจะตั้งเป้าเจาะกลุ่มครอบครัวแล้ว บริษัทจะนำเสนอ “อีเอสพีเอ็นพลัส” บริการสตรีมมิงคอนเทนท์กีฬา และแยกฮูลูเป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง

การกระโจนเข้าสู่บริการสตรีมมิงของดิสนีย์มีขึ้นในช่วงที่ธุรกิจโทรทัศน์แบบดั้งเดิมกำลังชะงักงัน กระตุ้นให้บริษัทสื่อต่าง ๆ ต้องประเมินกลยุทธ์ของตน

ขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทวอลท์ ดิสนีย์ พุ่งขึ้น 10% แตะระดับ 128.26 ดอลลาร์ในวันศุกร์ (12เม.ย.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากนักวิเคราะห์ระบุว่า การกำหนดโครงสร้างราคาของการให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง จะช่วยให้ดิสนีย์สามารถแข่งขันกับบริษัทเน็ตฟลิกซ์ได้