ประมูล2ท่าเรือ 'อีอีซี' ดีเลย์

ประมูล2ท่าเรือ 'อีอีซี' ดีเลย์

กทท.รับประมูลแหลมฉบังเฟส 3 ล่าช้า เผยข้อมูลมาก พร้อมข้อมูลเพิ่ม เร่งตรวจคุณสมบัติเอกชน 2 ราย นัดสรุปซอง 2 วันที่ 23 เม.ย.นี้ มั่นใจเคาะผู้ชนะ พ.ค.นี้ กนอ.เผยคุณสมบัติ กัลฟ์-พีทีที ผ่านฉลุย เร่งเจรจาผลตอบแทนของรัฐ คาดลงนาม มิ.ย.นี้

การประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 (ท่าเรือ F) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และการประมูลท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 (ช่วงที่ 1) ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ล่าช้าไปกว่าแผน หลังจากการประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ครั้งที่ 1 เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ต้องล่มเพราะมีผู้ยื่นซองเพียง 1 ราย และไม่ผ่านคุณสมบัติ ทำให้ต้องประมูลใหม่เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา

ในขณะที่การประมูลท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ต้องประกาศเลื่อนการประมูลจากวันที่ 6 ก.พ.2562 เป็นวันที่ 15 ก.พ.2562 โดยมีผู้ยื่นซอง 1 ราย และการเจรจาผลตอบแทนรัฐยังไม่ได้ข้อสรุปหลังจากใช้เวลาเกือบ 2 เดือน และต้องเลื่อนลงนามจากเดิมกำหนดไว้เดือน พ.ค.นี้ ออกไปเป็นเดือน มิ.ย.นี้

ตรวจซอง 2 แหลมฉบังล่าช้า

ร.ท.กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท.เปิดเผยว่า การประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงินร่วมลงทุน 84,000 ล้านบาท อยู่ขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 (คุณสมบัติทั่วไป คุณสมบัติทางการเงินและประสบการณ์ผู้ยื่นซอง) เพราะข้อเสนอมีรายละเอียดจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องเลื่อนเป้าหมายที่จะประกาศผลการประมูลออกไปก่อน จากเดิมมีกำหนดประกาศผลวานนี้ (11 เม.ย.)

“เอกสารที่ตรวจสอบมีค่อนข้างมาก และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาเอกสาร อีกทั้งมีบางส่วนที่ต้องขอให้เอกชนเข้ามาชี้แจงเพิ่ม ดังนั้นต้องขอเวลาเพิ่มเติมอีก ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่ามีผู้ไม่ผ่านข้อเสนอซองที่ 2 หรือไม่ เพราะยังพิจารณาไม่เสร็จ รวมทั้งติดวันหยุดสงกรานต์จึงขอเลื่อนการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ออกไป แต่จะพยายามสรุปผลให้ได้ภายในเดือน เม.ย.นี้”

ประมูล2ท่าเรือ \'อีอีซี\' ดีเลย์

ร.ท.กมลศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาซองที่ 2 แล้ว คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ จะพิจารณาข้อเสนออีก 3 ซองต่อเนื่อง ได้แก่ ข้อเสนอซองที่ 3 ด้านด้านเทคนิคและแผนการลงทุนในโครงการ ข้อเสนอซองที่ 4 ด้านผลประโยชน์ตอบแทน และข้อเสนอซองที่ 5 ข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ ซึ่งเบื้องต้นคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตั้งเป้าหมายว่าจะประกาศผลผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือน พ.ค.นี้

กทท.ขอเอกสารเอกชนเพิ่ม

รายงานข่าวจาก กทท.ระบุว่า วานนี้ (11 เม.ย.) คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้ประชุมพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 โดยที่ประชุมลงความเห็นให้ผู้เข้าประมูลทั้ง 2 กลุ่ม ชี้แจงข้อมูลรายละเอียดข้อเสนอเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณารายละเอียดข้อเสนอทั้งหมดในวันที่ 23 เม.ย.2562 และจะพิจารณาข้อเสนออีก 3 ซองในลำดับต่อไป

สำหรับเอกชนที่ยื่นข้อเสนอโครงการมีจำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วยบริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ China Harbour Engineering Commpany Limited (จีน)

2.กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ประกอบด้วย บริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด, บริษัท นทลิน จำกัด, บริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน), บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limited (จีน)

กนอ.คาดลงนามผู้ชนะ มิ.ย.นี้

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า การพิจารณาข้อเสนอการประมูลท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ของบริษัทกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แทงค์ ซึ่งประกอบด้วย 2 บริษัท คือ 1.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) ซึ่งยื่นประมูลรายเดียวและมีคุณสมบัติเป็นไปตามทีโออาร์

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ อยู่ระหว่างการเจรจาเจรจาข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและผลตอบแทน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ภาครัฐจะได้รับจากการเปิดให้ภาคเอกชนเข้าบริหารจัดการท่าเรือในระยะ 30 ปี โดยคาดว่าจะสรุปเพื่อประกาศรายชื่อผู้ชนะเพื่อรับรองผลอย่างเป็นทางการภายใน เม.ย.นี้ จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ จะส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อตรวจร่างเงื่อนไขสัญญาของโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเข้าพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานได้เดือน มิ.ย.2562

ร่วมลงทุนมาบตาพุด5.5หมื่นล้าน

สำหรับแผนการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดแบ่งออกเป็น 2 ช่วง รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยผู้ชนะประมูลจะเข้าพัฒนาได้ภายหลังจากที่ทำการลงนามในสัญญาร่วมลงทุน

การร่วมลงทุนในครั้งนี้ภาคเอกชนจะได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และ ภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องนํ้าและแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดบริการปี 2568

ช่วงที่ 2 ลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ โดย กนอ.จะออกทีโออาร์ประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนา โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลวรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุน 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันการใช้งานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพรองรับแล้ว จึงจำเป็นต้องขยายเป็นระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งคาดว่าจะรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า