เอ็กซเรย์ 'หุ้นเด่น' ลงทุนก่อนหมดQ2

เอ็กซเรย์ 'หุ้นเด่น' ลงทุนก่อนหมดQ2

สถานการณ์การเมืองยังไร้ความชัดเจน !! สะท้อนผ่านความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง 'เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม' กูรู แห่ง บล. เอเซีย พลัส แนะธีมลงทุนรอบ 3 เดือนหน้า เลือกหุ้นที่มีรายได้-กำไรจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก

ความไม่ชัดเจนทางการเมืองเป็น 'แรงกดดัน' ดัชนี SET INDEX บ่งชี้ผ่าน 'เงินทุนต่างชาติ' (Fund Flow) ยังคงตัวเลข 'ขายสุทธิ' 3 เดือนแรก ปี 2562 (ม.ค.-มี.ค.) อยู่ที่ 407 ล้านดอลลาร์ และเป็นไปตามทิศทางเดียวกับสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติ 'ต่ำสุด' เป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 22.8 % (ไม่รวม NVDR) จากที่เคยถือครอง 29.26% ในปี 2547

ขณะที่ ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียแทบทุกตลาด Fund Flow ไหลเข้าหมดแล้ว !! 'โดดเด่นสุด' คงต้องยกให้ 'ตลาดอินเดีย' ที่มีตัวเลขต่างชาติซื้อสุทธิกว่า 7,063 ล้านดอลลาร์ ส่วนตลาดหุ้นอาเซียน 'ตลาดอินโดนีเซีย' 844 ล้านดอลลาร์ และตลาดฟิลิปปินส์ 623 ล้านดอลลาร์ มีเพียงตลาดหุ้นไทยเท่านั้น ที่ตัวเลขต่างชาติเป็นขายสุทธิ 407 ล้านดอลลาร์ ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกปี 2562 ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค

เหตุผลหลักๆ คงหนีไม่พ้น 'ปัจจัยลบ' ทางการเมือง !! ภายหลังเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้ง รวมทั้งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างชาติไม่มั่นใจต่อการลงทุน เพราะว่าต้องการรอดูหน้าตารัฐบาลใหม่ก่อน โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่จะเข้ามาแก้ปัญหา

สอดคล้องกับ 'ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน' ในเดือนเม.ย. 2562 ซึ่งสำรวจโดย 'สภาธุรกิจตลาดทุนไทย' พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เม.ย.-มิ.ย.) ปรับลดลง 17.72% มาอยู่ที่ 107.53 หรืออยู่ในเกณฑ์ 'ทรงตัว' (Neutral) โดยนักลงทุนทุกกลุ่มมีความเชื่อมั่น 'ลดลง' จาก 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) เนื่องจากความกังวลปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังไม่ชัดเจน เพราะยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และพรรคไหนจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลระหว่าง 2 พรรคใหญ่

'เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม' ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส หรือ ASPS เล่าให้ฟังว่า ตลาดหุ้นไทยตอนนี้ยังถูก 'แรงกดดัน' ด้วยปัจจัยลบทางด้านการเมือง แต่มองว่าเป็นผลกระทบระยะสั้น หากการเมืองมีความชัดเจนหลังวันที่ 9 พ.ค.นี้ เชื่อว่าเม็ดเงินต่างชาติจะเข้าซื้อหุ้นไทย คาดว่าราวเดือนมิ.ย.นี้ !! เขาย้ำ

'อยากบอกว่านักลงทุนไม่ควรที่จะกังวลสถานการณ์ทางการเมืองมากจนเกินไป เพราะขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลที่ทำรัฐประหารไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว'

'กูรูตลาดหุ้น' แนะนำ 'หุ้นเด่น' ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เม.ย.-มิ.ย.) นักลงทุนควรให้น้ำหนักในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตตามเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากโครงการเมกะโปรเจคของรัฐ และการอุปโภคบริโภคในบ้าน หรือบริษัทที่มีฐานการทำ 'กำไรสุทธิ' อยู่ในเมืองไทยอย่าง 'กลุ่มรับเหมา-คอมมูนิตี้-อสังหาริมทรัพย์' 

อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยคือ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ซึ่งความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 ถือว่าออกมาน่าผิดหวัง โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะสามารถทำกำไรได้ 'ระดับ 2 แสนล้านบาท' แต่สามารถทำได้เพียง '1.56 แสนล้านบาท' จึงทำให้ค่า P/E สูงขึ้น เพราะความสามารถทำกำไรต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

สำหรับผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิรวม 2.5-2.6 แสนล้านบาท ลดลง 10.34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานกำไรของหุ้นกลุ่มพลังงาน และหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 1/2561 อยู่สูง

อย่างไรก็ตาม บล. เอซีย พลัส ปรับลดกำไรสุทธิต่อหุ้น (Earning per Share หรือ EPS) ของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ปี 2562 อยู่ที่ 106.6 บาทต่อหุ้น จากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 112.19 บาทต่อหุ้น เพราะผลกระทบการตั้งสำรอง จาก พ.ร.บ.แรงงานใหม่ที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพนักงานที่ครบกำหนดเกษียณอายุ จากเดิม 200 วัน เป็น 400 วัน

โดยที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้ จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท จากที่ปีก่อนตั้งสำรองไปแล้วจำนวน 4.9 พันล้านบาท และค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลกระทบบริษัทที่มีรายได้จากการส่งออกทำให้มีกำไรลดลง แต่กำไรปีนี้ถือว่ามีการเติบโตจากปีก่อนที่มีกำไรต่อหุ้น 97.8 บาทต่อหุ้น
ดังนั้น คาดว่าบริษัทจดทะเบียนจะต้องมีการตั้งวงเงินสำรองจ่ายดังกล่าวในไตรมาส 2 ปี 2562 ประมาณ 2,400 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้กำไรลดลง

ทั้งนี้ มองว่าหากจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่า 300 เสียงจะส่งผลให้ค่า P/E ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 16-17เท่า และดัชนีจะวิ่งในกรอบ 1,705-1,812 จุด ขณะเดียวกันมองว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้เพียง 250-260 เสียง จะทำให้ดัชนีแตะที่ระดับ 1,600-1,705 จุด โดยซื้อขายที่ P/E เฉลี่ย 15 –16เท่า อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือนพ.ค. 2562 จะทำให้ตลาดหุ้นไทย ลดลงที่ระดับ 1,492-1,600จุด โดยมีค่า P/E ที่ 14-15 เท่า

'คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,705 จุด โดยมีค่า P/E ที่ 16 เท่า โดยประเมินว่ารัฐบาลใหม่จะมีเสียง 250-270 เสียง ก็ถือเป็นระดับที่มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูง' 

เขา บอกต่อว่า ปัจจุบันปัจจัยที่นักลงทุนมีความกังวลทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงทั้งเศรษฐกิจของจีนและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การชะลอการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหภาพยุโรป (EU) การคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) การพิจารณาข้อตกลงกรณีอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิก EU (Brexit) ที่อังกฤษยื่นขอเลื่อนกำหนดเส้นตายออกไปอีก

รวมทั้ง ราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้นจากการยกเลิกการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ทำให้มาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC จะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. เป็นอย่างน้อย เป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม

อย่างไรก็ตามจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ 'อัตราดอกเบี้ย' ของหลายประเทศมีทิศทางปรับตัวลดลง ทำให้มีเงินไหลกลับเข้ามาตลาดหุ้นจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าลงทุนในพันธบัตร ซึ่งตลาดหุ้นไทยได้รับผลดี และปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) 10 ปี ของสหรัฐ ต่ำกว่า บอนด์ยิลด์ 10 ปี ของไทย ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจยิ่งขึ้นอีก

ท้ายสุด 'เทิดศักดิ์' ทิ้งท้ายไว้ว่า ในช่วงเดือน มี.ค. 2562 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Index) เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1,617-1,646 จุด ปรับตัวผันผวนระหว่างเดือนตามปัจจัยทางการเมืองและข่าวการเลือกตั้งเช่นเดียวกับเดือน ก.พ.62 ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยในประเทศมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนเป็นปัจจัยหลัก

'การเมือง' ปัจจัยบวก-ลบ SET INDEX

'ทอม-ไพบูลย์ นลินทรางกูร' ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เล่าให้ฟังว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนเม.ย. 2562 นับเป็นครั้งแรกที่ 'ปัจจัยบวก-ลบ' เป็นปัจจัยเดียวกัน นั่นคือ 'การเมือง' !! ที่เป็นปัจจัยบวก เพราะไทยมีการเลือกตั้ง แต่ที่เป็นลบเพราะเลือกตั้งแล้วยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ใครจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หน้าตารัฐบาลจะเป็นอย่างไร

สะท้อนผ่านทุกกลุ่มนักลงทุนมีความเชื่อมั่นลดลง โดยเฉพาะนักลงทุนรายบุคคลที่ปรับตัวลดลงเหลือ 93.79 อันเนื่องจากมีการติดตามข่าวการเมืองใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม มีมุมมองต่อปัจจัยการเมืองว่าเป็นปัจจัยลบชั่วคราวเท่านั้น เชื่อว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา และดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าลงทุนอีกด้วย

'เม็ดเงินต่างชาติก็น่าจะไหลเข้ามามากจากปัจจุบันขายสุทธิ ภายใต้สมมุติฐานได้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีความน่าเชื่อถือโดยเฉพาะมีทีมเศรษฐกิจที่ดี' 

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ที่ Zone 'ร้อนแรง' (Bullish) เช่นเดิม , ดัชนีนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมาอยู่ใน Zone 'ทรงตัว' (Neutral) , ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงมาอยู่ใน Zone 'ทรงตัว' (Neutral) และดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ อยู่ใน Zone 'ทรงตัว' (Neutral) เช่นเดิม

สำหรับหมวดธุรกิจที่ 'น่าสนใจมากที่สุด' คือ หมวดพาณิชย์ (COMM) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA)
ขณะที่ ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง และ ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง

'ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนพลิกกลับมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นเดือนแรก โดยทุกกลุ่มบัญชีนักลงทุนปรับตัวลดลง กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงจากเกณฑ์ร้อนแรงมาอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัว กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มสถาบันในประเทศปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดียวกับเดือนก่อน'