คสช.รื้อ 'ค่าตั๋ว' รถไฟฟ้า 'บีทีเอส' ลุ้นเจรจาลงตัว

คสช.รื้อ 'ค่าตั๋ว' รถไฟฟ้า 'บีทีเอส' ลุ้นเจรจาลงตัว

"ประยุทธ์" งัด ม.44 แก้ปัญหาค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ สั่งมท.ตั้งคณะกรรมการเจรจาเกณฑ์แบ่งผลประโยชน์รัฐ-บีทีเอส ขีดเส้นแก้สัมปทานใน 30 วัน "อาณัติ" ลุ้นผลเจรจาค่าโดยสารใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามคำสั่งหัวหน้า คสช.ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยอาศัยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชนเพื่อติดตั้งระบบรถไฟฟ้าจัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าโครงการส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

นายอาณัติ อาภาภิรม กรรมการที่ปรึกษา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบีทีเอสเจรจาเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมกับกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาได้ และขอให้รอดูรายละเอียดสัญญาจากทางภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีการชี้แจงเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันบีทีเอสเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น 2 สาย คือ 1.สายสุขุมวิท (หมอชิต-อ่อนนุช) 2.สายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน) ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2542

ในขณะที่ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ อยู่ในช่วงทดลองการเดินรถและยกเว้นค่าโดยสารถึงวันที่ 16 เม.ย.2562

รวมทั้งภาครัฐเป็นผู้ลงทุนส่วนต่อขยายสายสีลมช่วง สะพานตากสิน-บางหว้า ซึ่งส่วนต่อขยายทั้งหมดให้บีทีเอสเป็นผู้เดินรถ โดยมีค่าเดินทางตลอดสาย 59 บาท และที่ผ่านมามีการเจรจาการเดินรถส่วนต่อขยายทั้งช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งกรุงเทพมหานครกำหนดกรอบค่าโดยสารใหม่ตลอดสายไว้ไม่เกิน 65 บาท

ตั้งกรรมการเจรจาค่าโดยสาร

นอกจากนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช.ระบุเหตุผลการออกคำสั่งเพื่อแก้ปัญหาการจราจรและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยให้คำนึงถึงการให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าโดยเร็ว สะดวก และประหยัดค่าโดยสาร รวมทั้งเชื่อมต่อการเดินรถกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน รวมไปถึงส่วนต่อขยายช่วงสถานีสะพานตากสิน–บางหว้า และช่วงอ่อนนุช–แบริ่ง ซึ่งการจ้างดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

นอกจากนี้ เพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และส่วนต่อขยาย สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นไปอย่างเหมาะสม ให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน

ส่วนกรรมการ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและด้านระบบรถไฟฟ้า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งด้านละ 1 คน เป็นกรรมการ รวมทั้งกำหนดให้ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ

ขีดเส้นแก้สัมปทานใน30วัน

สำหรับ คณะกรรมการฯ มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่น เพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงสถานีสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงสถานีอ่อนนุช-สถานีแบริ่ง และโครงการส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และดำเนินการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือ บีทีเอส ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ

และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการเจรจากับเอกชนแล้วเสร็จ ให้ดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับผู้รับสัมปทานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยการดำเนินการนี้ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนหรือผู้ใช้บริการ ความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้บริการ การประหยัดค่าโดยสาร และการแบ่งปันผลประโยชน์ต่อภาครัฐอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้ว ให้ กทม.เสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างสัญญาดังกล่าว และเมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทบ นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป