เกาหลีใต้ยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้ง

เกาหลีใต้ยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้ง

ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีคำพิพากษาครั้งประวัติศาสตร์ ยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้งที่ใช้กันมาหลายสิบปี ศาสนจักรเคืองไม่ปกป้องชีวิตตัวอ่อน

วานนี้ (11 เม.ย.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีมติ 7 ต่อ 2 พิพากษาว่า กฎหมายห้ามทำแท้งปี 2496 ที่ต้องการคุ้มครองชีวิตและค่านิยมดั้งเดิมขัดรัฐธรรมนูญ

แถลงการณ์ศาลระบุว่า การห้ามทำแท้งจำกัดสิทธิไม่ให้ผู้หญิงได้ตัดสินชะตากรรมของตนเอง ละเมิดสิทธิด้านสุขภาพไม่ให้พวกเธอเข้าถึงกระบวนการทางการแพทย์ที่ปลอดภัยและทันเวลา

“ตัวอ่อนจะมีชีวิตรอดและพัฒนาการได้ต้องพึ่งพาร่างกายแม่แต่เพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า พวกเขาดำรงชีวิตอย่างอิสระแยกจากแม่จนเรียกว่ามีสิทธิในชีวิต”

นอกจากนี้  ศาลยังสั่งให้ทบทวนกฎหมายห้ามทำแท้งภายในสิ้นปี 2563 เท่ากับว่ากฎหมายเก่าต้องยกเลิกไปโดยอัตโนมัติในวันที่ 1 ม.ค.2564 หรือเมื่อสภาเห็นชอบกฎหมายใหม่ได้เร็วกว่านั้น

สิ้นคำพิพากษาผู้หญิงนับร้อยๆ คนรวมทั้งวัยรุ่นและหญิงพิการ พากันหลั่งน้ำตาด้วยความปลื้มปิติ โดยนางสาวแบ บ็อก จู นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี กล่าวว่า ผู้หญิงสมควรมีความสุขได้แล้ว หลังจากต้องต่อสู้มานานหลายปี

เกาหลีใต้เป็น 1 ในประเทศอุตสาหกรรมไม่กี่แห่งที่ถือว่า การทำแท้งเป็นความผิดอาญา ยกเว้นกรณีถูกข่มขืน มีเพศสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และเสี่ยงต่อสุขภาพมารดา

ผลการสำรวจความคิดเห็นเมื่อวันพุธ (10 เม.ย.) พบว่า ประชาชน 58% เห็นชอบให้ยกเลิกกฎหมาย

นักรณรงค์กล่าวว่า การทำแท้งเป็นเรื่องธรรมดาในเกาหลีใต้ กฎหมายจึงไม่เป็นธรรมกับหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน วัยรุ่นตั้งครรภ์ถูกบังคับให้ออกจากโรงเรียน หรือไม่ก็ย้ายไปเรียนโรงเรียนในชนบท

นางสาวลิม นักรณรงค์ วัย 50 ปีที่ต้องปิดเงียบเรื่องการทำแท้งของตนเองไว้นานกว่า 25 ปี เผยว่า คำพิพากษาศาลเปิดโอกาสให้ผู้หญิงตัดสินใจอนาคตของตนเองได้โดยไม่ต้องถูกตราหน้า

“การต้องปกปิดเรื่องทำแท้งทำให้ดิฉันรู้สึกผิดบาปไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ตลอดมา จึงอยากให้คนรุ่นใหม่มีอนาคตแตกต่างไปจากที่ดิฉันเคยเจอ”

ความเชื่อทางศาสนามีอิทธิพลอยู่มากในแดนโสมขาวโบสถ์ใหญ่ๆ พยายามปกป้องกฎหมายห้ามทำแท้ง เมื่อมีคำพิพากษาเช่นนี้ที่ประชุมบิช็อปคาทอลิกแห่งเกาหลี แถลงว่า เสียใจอย่างสุดซึ้งที่คำพิพากษาปฏิเสธสิทธิในชีวิตของตัวอ่อน ที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้

อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวอย่างนางสาวคัง มิน จิน กล่าวว่า นับจากนี้ยังมีงานให้ทำอีกมาก อย่างน้อยๆ ก็ต้องมั่นใจว่า ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมถึงการทำแท้งด้วย

“ถ้าไม่ให้สิทธิ สุขภาพของผู้หญิงก็ยังตกอยู่ในอันตรายต่อไป